ปัญหาขยะอาหาร และ ขยะจากอาหารถือเป็นประเด็นใหญ่ของปัญหาขยะที่จัดการยากมากที่สุดในโลกปัญหาหนึ่ง ในขณะที่ประชากรโลกส่วนหนึ่งยังขาดแคลนอาหาร และ ยังขาดสารอาหารกันอยู่… ซึ่งขยะอาหาร หรือ Food Waste ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ เศรษฐกิจอย่างชัดเจนในหลายมิติ ตั้งแต่ต้นทุนและราคาอาหาร ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อขยะอาหาร รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่ขยะอาหารสร้างผลกระทบถึงชั้นบรรยากาศ จากก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการเน่าเสียของขยะอาหาร และ อาหารเหลือทิ้ง หรือ อาหารส่วนเกินในปริมาณมหาศาลทุกวันทั่วโลก
ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่า… ทั่วโลกมีขยะอาหาร หรือ Food Waste ถูกทิ้งประมาณ 1 ใน 3 หรือ กว่าร้อยละ 30 จากจำนวนทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นบริโภคในแต่ละวัน หรือ รวมกันประมาณ 1,300 ล้านตันต่อปี จำนวนอาหารที่ถูกทิ้งที่ว่านี้ นับเป็นปริมาณที่มากพอสำหรับประชากรในทวีปแอฟริกาบริโภคได้ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว ขณะเดียวกัน กระบวนการในการผลิตอาหารทุกชนิดนั้น ใช้ทรัพยากร น้ำ พืชที่ใช้เลี้ยงสัตว์ แรงงาน พลังงาน เป็นต้นทุน เช่น การผลิตเนื้อหมู 1 กิโลกรัม ใช้น้ำทั้งหมด 6,000 ลิตร หรือ เทียบได้กับการอาบน้ำฝักบัว 188 ครั้ง
นอกจากทรัพยากรในขั้นตอนการผลิตแล้ว ยังมีประเด็น การกำจัดอาหารเหล่านั้น ซึ่งมีกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ถึงร้อยละ 8 ของสัดส่วนการปล่อยทั้งหมดในแต่ละปี หรือสามารถสร้างภาระก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับที่รถยนต์ 37 ล้านคันผลิต และ ปล่อยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ
ประเด็นก็คือ… ขยะอาหารสะท้อนประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเด็นของการผลิตที่เปล่าประโยชน์ ไม่สอดคล้องกับภาวการณ์การบริโภคจริงในแต่ละวัน ขณะที่ทั่วโลกหรือแทบทุกประเทศ ยังมีผู้ขาดแคลนอาหารเป็นจำนวนมาก
ปัญหาขยะอาหารทั้งหมดกำลังกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่มีเพียงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ให้ลดการเหลือทิ้งก่อขยะให้น้อยที่สุด… โดยซื้ออาหารเท่าที่พอกิน หมั่นตรวจสอบวันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ และ บริจาคอาหารที่ไม่ต้องการแต่ยังกินได้ให้ผู้อื่น… รวมทั้งสนับสนุนร้านค้าท้องถิ่น หรือ อาหารพื้นถิ่น เพื่อลดการใช้พลังงานในการขนส่ง
ส่วนธุรกิจร้านค้า หรือ ร้านอาหาร ควรจัดจำหน่ายอาหารที่ขายไม่ทันในราคาพิเศษ ซึ่งมาตรการนี้ ก็จะเข้าถึงกลุ่มคนอีกมากมายที่ยังขาดแคลนอาหาร… รวมทั้งการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลดความสูญเสียของอาหารได้อีกทางหนึ่ง
กรณีของประเทศฝรั่งเศสออกกฎหมาย โดยกำหนดให้ร้านค้าปลีกที่มีเนื้อที่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องบริจาคอาหารที่เหลือ ไม่ให้นำไปทิ้ง และ ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีธุรกิจได้ด้วย แต่ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามจะมีค่าปรับสูงถึง 3,750 ยูโร
ส่วนเส้นแบ่งระหว่างขยะอาหาร หรือ Food Waste ที่ต้องทิ้งแล้วอย่างชัดเจน กับ อาหารส่วนเกิน หรือ Excess Food ที่ยังกินได้คือ
กรณีอาหารส่วนเกินในครัวเรือน… ซึ่งเป็นอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง และ เครื่องปรุงที่เลยวัน “ควรบริโภคก่อน หรือ Best Before หรือ BB/BBE” ซึ่งยังไม่หมดอายุ แต่รสชาติ คุณภาพลดลง… ส่วนขยะอาหารจากครัวเรือน จะเป็นอาหารสดที่กินไม่ทัน… เศษอาหาร… เปลือกอาหาร รวมทั้งอาหารแห้ง อาหารกระป๋องที่หมดอายุ หรือ เลยพ้น Expired Date หรือ EXP/EXD ที่ระบุไปแล้ว จากการซื้อเกินความจำเป็น
กรณีอาหารส่วนเกินจากร้านค้าปลีก… จะเป็นอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย ทั้งที่เป็นอาหารสดเหลือขายจากสาเหตุต่างๆ รวมทั้งอาหารแห้ง อาหารกระป๋องที่เลยวัน “ควรบริโภคก่อน หรือ Best Before หรือ BB/BBE” ซึ่งยังไม่หมดอายุ แต่รสชาติ คุณภาพลดลง… ส่วนขยะอาหารจากร้านค้าปลีก จะเป็นเศษอาหาร… เปลือกอาหาร รวมทั้งอาหารแห้ง อาหารกระป๋องที่หมดอายุ หรือ เลยพ้น Expired Date หรือ EXP/EXD ที่ระบุไปแล้วเช่นกัน
กรณีอาหารส่วนเกินจากร้านอาหาร ภัตตาคาร และ โรงแรม ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารเหลือขายเพราะทำไว้มากเกินไป… ส่วนขยะอาหารจากร้านอาหาร ภัตตาคาร และ โรงแรม จะมี รวมทั้งเศษอาหาร เปลือกอาหาร รวมทั้ง การใช้อาหารเพื่อการตกแต่งจาน หรือ โต๊ะโดยไม่คำนึงถึงความสูญเสีย
นอกจากนั้น… ยังมีอาหารส่วนเกินจากแหล่งผลิต และ แปรรูปอาหาร รวมทั้งสินค้าทางการเกษตร ซึ่งมีอาหารส่วนเกินจากสินค้าด้อยคุณภาพ ช้ำ รวมทั้งการบรรจุหีบห่อ และ การขนส่งไม่ได้คุณภาพ… โดยมีขยะอาหารจากเปลือกอาหาร และ การเน่าเสียเพราะจัดการไม่ดี
แนวปฏิบัติเพื่อลดปริมาณการเกิดขยะจากอาคาร ภายใต้คำแนะนำจากองค์การสหประชาชาติ หรือ United Nation โดยผลักดันผ่านเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่า… ภายในปี 2030 ทุกประเทศควรลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งของขยะที่เกิดจากห่วงโซ่อาหาร ได้แก่…
ขยะอาหารที่เกิดจากภาคการเกษตร การผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย และ การบริโภค ทั้งนี้ได้ให้คำแนะนำในด้านการจัดการและป้องกันการเกิดขยะอาหาร แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
- Prevention หรือ การป้องกัน… ซึ่งการป้องกันการก่อให้เกิดขยะอาหารโดยภาครัฐควรมีมาตรการป้องกันการเกิดขยะอาหารในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่ เช่น การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถผลิตอาหารโดยใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างสูงสุด การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งที่ดี เพื่อป้องกันการสูญเสีย และ ก่อให้เกิดขยะอาหารจากการขนส่ง และ การห้ามไม่ให้มีการกำหนดมาตรฐานรูปลักษณ์ของอาหารในการจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการสูญเสียอาหาร
- Optimization หรือ การเพิ่มคุณประโยชน์… ได้แก่ การป้องกันการทิ้งอาหารส่วนที่เกินความต้องการโดยไม่จำเป็นด้วยการส่งต่ออาหารไปยังแหล่งต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ประกอบด้วย การบริจาคอาหารส่วนเกินจากการจำหน่ายที่ยังไม่หมดอายุ แต่ยังสามารถบริโภคได้ให้กับผู้มีความต้องการอาหาร และการนำอาหารส่วนเกินมาส่งต่อเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์
- Recycle หรือ การนำมาผลิตเพื่อใช้ใหม่… โดยการนำขยะอาหารไปเข้ากระบวนการผลิต เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ประกอบด้วย การผลิตก๊าซชีวภาพ หรือ Biogas โดยผ่านกระบวนการหมักย่อยแบบไร้อาหาร และ การผลิตปุ๋ยเพื่อการเกษตร
- Recovery หรือ การกำจัดเพื่อนำพลังงานมาใช้ใหม่… จะเป็นการนำขยะอาหารที่มีความชื้นต่ำมาเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อน… แต่ขยะอาหารที่มีความชื้นสูง ต้องใช้พลังงานในการเผาสูง และทำให้เกิดมลพิษมากกว่าขยะอาหารที่มีความชื้นต่ำ ขยะอาหารที่มีความชื้นสูงจึงไม่คุ้มค่าต่อการนำมาเผา เพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อนควรนำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ หรือปุ๋ยเพื่อการเกษตร
- Disposal หรือ การกำจัด… จะเป็นการนำขยะอาหารที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้วไปกำจัดอย่างถูกวิธีประกอบด้วย การเผาโดยไม่นำมาผลิตเป็นพลังงาน การฝังกลบ และ การทิ้งรวมกับน้ำเสียเพื่อการบำบัด
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร… โดยส่วนตัวคิดว่าควรเริ่มต้นที่พฤติกรรมการบริโภค หรือ การกินของตัวเองไม่ให้เป็นคนกินทิ้งกินขว้าง กินเหลือ หรือ วุ่นวายเยอะแยะกับการเตรียมอาหาร และ การปรุงอาหารทั้งไฟน้ำขยะ กับ เวลาอีกวันละหลายชั่วโมง… ซึ่งมีน้ำทิ้งหลายสิบลิตร กับขยะถุงใหญ่แลกกับอาหารเพียงจานเดียวเล็กๆ
เห็นแล้วก็ปวดใจ!
References…
- https://www.deqp.go.th/new/food-waste-ขยะอาหาร-เหลือทิ้งส/
- https://www.thai-german-cooperation.info/th/researchers-support-shaping-thailands-policy-on-food-loss-and-waste/
- https://www.thai-german-cooperation.info/th/researchers-support-shaping-thailands-policy-on-food-loss-and-waste/
- http://certify.dld.go.th/certify/images/article/2564/640312/2FoodWaste_U.pdf
- https://www.prachachat.net/csr-hr/news-375242