ในงานนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัล หรือ Digital Forensics ซึ่งเป็นงานสืบค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์จากข้อมูล และ อุปกรณ์ที่ผลิต ส่งต่อ และ ดัดแปลงไฟล์ดิจิทัลนั้น ไฟล์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับงานนิติวิทยาศาสตร์ที่ต้องสืบแสวงหาข้อเท็จจริงประกอบคดีความมากที่สุดนอกเหนือจากไฟล์ในกลุ่ม Logfile แบบต่างๆ แล้ว… รองลงมาก็คือไฟล์ในกลุ่มมัลติมีเดียจำพวกภาพถ่ายดิจิทัล คลิปวิดีโอ และ คลิปเสียง… ซึ่งหลายกรณีพบว่ารูปถ่ายดิจิทัลได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญ และ มีส่วนช่วยในการสืบคดี เพราะรูปภาพที่ถ่ายโดยกล้องดิจิตอลทุกรูปแบบจะมีการฝังค่า EXIF หรือ Exchangeable Image Files Format ลงไปในไฟล์รูปแต่ละไฟล์ ซึ่งค่า EXIF นี้ก็จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการถ่ายภาพนั้นทุกอย่าง เช่น ถ่ายเวลาใด ถ่ายด้วยกล้องอะไร เลนส์ชนิดไหน มีความเร็วของชัดเตอร์เท่าไหร่ เปิดรูรับแสงย่านไหน… ซึ่งถ้าเป็นกล้องจากสมาร์ทโฟน รวมทั้งอุปกรณ์อื่นที่ถ่ายภาพได้ และ มี GPS ติดตั้งใช้งานคู่กันอยู่ด้วย ก็มักจะมีการฝังข้อมูลพิกัด GPS ในขณะที่ถ่ายภาพ หรือ ถ่ายคลิปนั้นๆ อีกด้วย… โดยข้อมูลเกี่ยวกับไฟล์ภาพ และ ไฟล์ดิจิทัลมัลติมีเดียที่เก็บค่า EXIF ทั้งหมดนั้น จะถูกกำหนดให้เป็นข้อมูลระดับ Metadata ซึ่งเป็นข้อมูลบ่งชี้ข้อมูลต้นกำเนิดของไฟล์ๆ นั้นนั่นเอง
โดยส่วนตัวผมรู้จักหลายคนที่ไม่ปลื้มกับการถูกถ่ายรูปลงอินเตอร์เน็ต และ โซเชี่ยลมีเดียแบบดิบๆ โดยไม่สนใจจะ “ลบ หรือ พราง Metadata” ก่อนจะโพสต์โดยไม่คิดอะไร… ซึ่งคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่ารูปถ่าย หรือ คลิปที่ปล่อยออกไปจะมี Metadata ติดไปด้วย… และ ใครที่อยากรู้ว่าก็สามารถหาซอฟท์แวร์อ่านข้อมูล EXIF หรือ Exchangeable Image Files Format ก็สามารถจะทราบได้แล้วว่าภาพ หรือ คลิปถ่ายจากกล้อง หรือ มือถือยี่ห้อไหน รุ่นอะไร แถมรู้ได้ด้วยว่าถ่ายที่ไหน เวลาไหน… ซึ่งพวกจัดฉาก หรือ ตัดต่อภาพที่ทำความเสียหายให้คนอื่นจึงไม่ค่อยรอดถ้าเรื่องขึ้นโรงพัก หรือ ขึ้นโรงขึ้นศาล

ตัวอย่างกรณีการทำคลิปแอบถ่ายการซื้อเสียงที่เป็นข่าวไปเมื่อไม่นานมานี้… ซึ่งถ้ามีการสอบสวนในทางนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัล และ นำเครื่องมือนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัลมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยเริ่มจาก Metadata ของคลิปหลักฐาน… ซึ่งใช้ได้ทั้งเพื่อจับผิดผู้สมัครที่ทำผิดกฏหมายอย่างโจ่งแจ้ง และ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้สมัครที่ถูกกลั่นแกล้งใส่ร้าย… โดยฝ่ายที่กำกับดูแลกติกาการเลือกตั้งต้องชัดเจนพอที่จะใช้องค์ความรู้ทางนิติวิทยาศาตร์ดิจิทัลมาเป็นเกณฑ์หนึ่งในการรวบรวมข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์… โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับหลักฐานดิจิทัลที่มีข้อมูล EXIF ที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ชัดแจ้งว่าเป็นไฟล์ต้นฉบับ… ถึงแม้ข้อมูล EXIF และ ข้อมูลระดับ Metedata เหล่านี้สามารถแก้ไข หรือ ลบได้โดยผู้เชี่ยวชาญก็ตาม… แต่ข้อมูลจากหลักฐานชิ้นหนึ่ง ก็ยังจะชี้ไปหาหลักฐานชิ้นอื่นให้สืบหาความจริงต่อได้อีก ซึ่งข้อมูล EXIF ที่แก้ไขก็จะชี้ไปหาหลักฐานแวดล้อมที่เป็นเท็จอีกหลายชิ้นเสมอ ใครที่ใช้หลักฐานเป็นไฟล์ดิจิทัลที่ตัดต่อดัดแปลงเพื่อหวังผลบางอย่าง สุดท้ายจึงพรางข้อเท็จจริงได้ไม่ง่ายหรอกครับ
References…