หัวใจสำคัญของการทำคอร์สออนไลน์ในปัจจุบันก็คือนักเรียนหรือผู้เรียน ที่หมายถึงผู้เรียนสำคัญถึงขั้นที่ การไม่มีคนเรียนจะหมายถึงคอร์สนั้นๆ ไม่มีคุณค่าอะไรเลย แม้ว่าคอร์สดังกล่าวจะสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์และทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่และสำคัญแค่ไหน… การเผยแพร่แจกจ่ายคอร์สออนไลน์ให้ถึงผู้เรียนจึงสำคัญเท่าๆ กับการผลิตคอร์สออนไลน์ ให้ผู้เรียนตามเป้าหมายได้เรียนและผู้สอนสามารถแจกจ่ายคอร์สออนไลน์ที่ผลิตขึ้นอย่างคุ้มค่า
ประเด็นเรื่องผู้เรียนและ Platform ที่ผู้เรียนมีและเข้าถึงคอร์สที่ผลิตขึ้น เป็นเรื่องใหญ่มาตั้งแต่ยุคที่ผลิตคอร์สการเรียนการสอนแบบ Offline ในสมัยที่ CAI ยังเป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนที่แบ่งปันแจกจ่ายถึงผู้เรียนทั้งบน Floppy Disk หรือ CD-ROM ที่ต้องระบุว่าต้องเปิดใช้งานยังไงกับคอมพิวเตอร์รุ่นไหน ถึงขั้นต้องระบุเสปคขั้นต่ำของเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการสำหรับใช้เปิดคอร์สนั้นๆ อีกต่างหาก หลายคอร์สต้องติดตั้งโน่นนี่ ทั้ง Runtime และ Plugin วุ่นวายซับซ้อนก่อนถึงจะใช้ได้… เล่าย้อนกลับไปไกลหน่อยครับ เพราะบังเอิญมีประสบการณ์ตรงจากยุคสมัย
ปี 1988 จึงเกิดมีแนวคิดเรื่อง LMS หรือ Learning Management System ขึ้นจริงจังและมาพร้อมมาตรฐาน AICC หรือ Aviation Industry Computer-Based Training Committee ซึ่งเป็นมาตรฐานการสร้างคอร์สฝึกอบรมในแวดวงการบิน ที่มีการพัฒนาชุดการฝึกบินจำลองของผู้ผลิตเครื่องบินหลายค่าย และแต่ละค่ายก็มีเครื่องหลายรุ่น ที่อุตสาหกรรมการบินทั้งการบินพลเรือนและการบินทางยุทธวิธีต้องฝึกอบรมเข้มข้น… กระทั่งปี 1997 จึงมีการพัฒนามาตรฐาน eLearning ใหม่ขึ้นโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐ โดยตั้งหน่วยงานในกำกับชื่อ Advanced Distributed Learning หรือ ADL ขึ้นรับผิดชอบมาตรฐาน eLearning ใหม่เรียกว่า SCORM หรือ Sharable Content Object Reference Model ซึ่งถือเป็นยุคสมัยของ Online eLearning และ Web Based Training อย่างจริงจังและมีพัฒนาการที่ชัดเจนให้ Digital Contents มากมายสามารถใช้เป็น Resource หรือทรัพยากรในการผลิตคอร์สออนไลน์ได้เกือบทั้งหมด เพียงแค่จัดการผ่าน Package และ Data Exchange Format ตามมาตรฐาน SCORM
สิปปีผ่านไปกับ SCORM ที่ใช้โครงสร้างข้อมูลแบบ Structure ก็เกิดปัญหากับยุคสมัยที่ข้อมูลแบบ Unstructure เกิดและเติบโตกลายเป็นกระแสหลักของข้อมูลดิจิตอล… นั่นทำให้ SCORM เกิดล้าสมัยอย่างรวดเร็วจน ADL ต้องหาแนวทางใหม่ในการสร้างมาตรฐานข้อมูลสำหรับ eLearning… จึงได้ทำโครงการวิจัยชื่อ Project Tin Can เพื่อศึกษารูปแบบใหม่ของ SCORM ในแบบ Application Programming Interface หรือ API ที่ยืดยุ่นกว่า… ปี 2013 จึงได้ประกาศใช้มาตรฐาน eLearning ใหม่ชื่อว่า xAPI หรือ Experience API
ตัว xAPI ที่ประกาศใช้ใหม่นี้ จะว่าไปแล้วก็เป็นเหมือนมาตรฐานการบันทึกกิจกรรมของผู้เรียน ที่มีปฏิสัมพันธ์กับคอร์สและทรัพยากรหรือสื่อแบบต่างๆ ในคอร์ส ซึ่งการบันทึก จะเป็นชุดข้อความที่สร้างไว้ตามมาตรฐานเอกสาร JavaScript Object Notation หรือ JSON ที่เป็นมาตรฐานกลางของข้อมูลแบบ Unstructure แบบหนึ่งที่คอมพิวเตอร์และมนุษย์ต่างก็อ่านได้ความหมายเดียวกัน
นั่นหมายความว่า… เมื่อผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับคอร์สออนไลน์ที่สร้างไว้ คอร์สจะต้องเขียน xAPI Statement ขึ้นพร้อมๆ กับให้ความรู้กับผู้เรียนไปด้วยในคราวเดียวกัน โดยข้อมูลที่เขียนเป็น xAPI Statement ดังกล่าว จะถูกส่งไปบันทึกลง LRS หรือ Learning Record Systems อีกที… ซึ่งการใช้มาตรฐาน xAPI จึงจำเป็นต้องมี LRS Server สำหรับบันทึก Statements ของผู้เรียนเสมอ
ปัจจุบัน… ข้อมูลจาก xAPI Statements ที่เก็บไว้เรื่อยๆ ถือเป็นข้อมูล Big Data ที่มีค่ามากมายมหาศาล จนมีบริการ LRS มากมายเสนอให้บริการฟรีบนอินเตอร์เน็ต เพื่อแลกกับข้อมูลที่เจ้าของคอร์สออนไลน์จะแชร์ข้อมูลของผู้เรียน ที่หมายถึง Insight หรือข้อมูลเชิงลึกที่มีค่ามากเมื่อนำมาวิเคราะห์ต่อยอด
ในฐานะผมเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีอยู่กับ eLearning มานานและยังคงบอกทุกคนได้เต็มปากว่าผมเก่ง eLearning ที่อยากแนะนำให้ระมัดระวัง… ประเด็นแรกคือเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฏหมาย ที่คนทำคอร์สออนไลน์จะต้องระมัดระวังเพราะเครื่องมือทำคอร์ส eLearning และระบบจัดการทั้ง LMS และ LRS ทั้งหลายในปัจจุบัน ล้วนรองรับ xAPI และการบันทึกข้อมูลผู้เรียนที่ต้องระมัดระวังในการบันทึกข้อมูลที่ไม่สุ่มเสี่ยงกับการละเมิด รวมทั้งการเอาข้อมูลไปทำ Learning Analytics ด้วย… และอีกประเด็นหนึ่งก็คือ xAPI ยังไม่ใช่ปลายทางของ eLearning Standard และยังไม่ใช่ปลายทางของโมเดลการเรียนการสอนออนไลน์ที่ยังมีความพยายามที่จะ “รวมข้อดีลดข้อเสีย” ของทั้ง LMS และ LRS ด้วยการผลักดันมาตรฐาน CMI5 ออกมาอีกหนึ่งมาตรฐาน ก่อนจะยกระดับ eLearning ไปใช้มาตรฐาน Blockchain ในอนาคตที่ไม่น่าจะเกิน 10 ปีนับจากนี้
ที่จะบอกก็คือ… LMS หรือ Learning Management Systems ยังสำคัญ และ LRS หรือ Learning Record Systems ก็สำคัญ… รวมทั้ง CMI5 ก็กำลังจะจำเป็นและสำคัญ แม้เพิ่งเกิดในปี 2016 มานี่เอง…
เนื้อหาในบทความชุดนี้ค่อนข้างจะเฉพาะทางที่ผมพยายามเขียนถึงพอสังเขป ไม่ให้กลายเป็นเนื้อหาเชิงพัฒนาระบบแบบโปรแกรมเมอร์จนเกินไป… ถ้าท่านอ่านแล้วงงๆ ก็ไม่เป็นไรครับ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้เรียนหรือผู้สอน ขอให้ท่านทราบแต่เพียงว่า… eLearning มีมาตรฐานเป็นโครงสร้างอยู่เบื้องหลัง และมีพัฒนาการไม่ได้นิ่ง หรือไม่มีอะไรอย่างที่ผมได้ยินหลายๆ ท่านพูดถึงกันในทำนองว่า eLearning ก็ไม่เห็นจะมีอะไร… ซึ่งการรู้ไว้ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเมื่ออยู่ในระบบนิเวศน์ eLearning อาจจะมีประโยชน์ในอนาคต… อย่างน้อยก็ไม่ตั้งคำถามให้คนอื่นอมยิ้มให้เสียเส้นเอาได้… ส่วนในทางเทคนิค งานส่วนใหญ่เป็นของโปรแกรมเมอร์และผู้ดูแลระบบครับ
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Learning_Record_Store
https://en.wikipedia.org/wiki/Experience_API