ในขั้นการนิยามและความหมายของคำว่า Facilitating Learning นั้น โดยส่วนตัวคิดว่า ภาษาไทยไม่มีคำสละสลวยพอจะบอกนิยาม และโดยข้อเท็จจริง… Facilitating Learning หรือ การจัดการเรียนการสอนโดย Facilitator หรือผู้อำนวยความสะดวก ก็ไม่ใช่ของใหม่ ซึ่ง Facilitating Learning ในที่นี้จึงให้นิยามในลักษณะที่หมายถึง การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้
ท่านกำลังอ่านบทความชุด ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ หรือ Adult Learning Theory หรือ Andragogy Theory ที่ผมถอดสาระอ้างอิงหนังสือชื่อ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ของ Malcolm S. Knowles และคณะ… และตอนนี้เป็นประเด็น แนวทางการนำใช้ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ ในแนวทางที่ 2 หรือโมเดลการนำใช้ลำดับ 2 ต่อจาก Whole-Part-Whole Learning Model ที่หนังสือ The Adult Learner แนะนำไว้
สิ่งสำคัญที่สุดใน Facilitating Learning Model ที่จะพูดถึงต่อไปนี้ก็คือ… การเปลี่ยนบทบาทจาก “ครูผู้สอน หรือ Teacher มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือ Facilitator” ให้ผู้เรียนเข้าถึงเนื้อหาสาระและบทเรียนได้ง่ายนั่นเอง
โดยจะโฟกัสหลักการและจิตวิทยาการเรียนรู้แบบ Andragogy หรือ การศึกษาผู้ใหญ่… ซึ่งผมสรุปไว้ในบทความตอนที่ชื่อ Neuroscience and Andragogy Principles… เพื่ออ้างอิงแกนหลักข้อ 2… The Learner’s Self-concept หรือ แนวคิดการเรียนรู้ส่วนตน… ข้อ 3 The Role of Experience หรือ ต้นแบบจากประสบการณ์… และข้อ 4 Readiness to Learn หรือ ความพร้อมเรียนรู้… ซึ่งในโมเดลนี้จะนำทั้ง 3 หลักการนี้มาประยุกต์นำใช้เป็นแนวทางหลักให้ผู้สอน ใช้ในการ “เปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอน ไปเป็นผู้อำนวยความสะดวก”
การเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน หรือ ในทางเทคนิคจะหมายถึงการเป็น ผู้ส่งมอบเนื้อหาบทเรียน หรือ Content Transmitter ไปเป็น Facilitator ซึ่งในทางเทคนิคจะหมายถึง การเป็นผู้จัดการลำดับขั้นตอน หรือ Process Manager…
ตัวผู้สอนเองต้องเข้าใจ “บทบาทใหม่” นี้อย่างชัดเจนก่อนเป็นเบื้องต้น โดยทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างของ “การเป็นผู้สอน กับ การเป็นผู้ดูแลขั้นตอนการเรียนรู้” โดยปล่อยให้กลไกการเรียนรู้ของสมองผู้เรียน เป็นไปตามขั้นตอนที่หลักคิดการเรียนรู้ส่วนตน หรือ Self-concept ของผู้เรียน โน้มน้าวตัวเองเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ที่จัดวางลำดับขั้นตอนเอาไว้พร้อมแล้วโดย Facilitator
ประเด็นก็คือ… บทบาทการสอนเดิมที่งานทางเทคนิคคือ ผู้ควบคุมดูแลการเรียนรู้ของผู้เรียน และมีฐานะเป็นผู้ส่งมอบเนื้อหาบทเรียน… ต้องเปลี่ยนไปเป็น… ผู้ออกแบบขั้นตอนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และส่งมอบทั้งหมดให้กับผู้เรียนได้มีโอกาสร่วมสร้างสรรค์ขั้นตอนการเรียนรู้แบบตน… ซึ่งก็คือการมอบความรับผิดชอบควบคุมการเรียนรู้คืนให้ผู้เรียนไปรับผิดชอบเองทั้งหมด… รวมทั้งอิสระในการเรียนรู้

อุปสรรคหรือเรื่องยากๆ ที่จะเกิดขึ้นในการรับรู้บทบาทใหม่ในฐานะ Facilitator ก็คือ การให้อิสระกับผู้เรียนไปควบคุมตนเองนี่แหละ… ซึ่งบทบาทการควบคุมจะไม่เหลือความภาคภูมิแบบเป็นผู้สอน ที่เคยสำคัญระดับ “สอนสั่ง” อีกเลย… แถมยังต้องยึดหลักคิดแบบผู้บริหาร และให้บริการขั้นตอนและทรัพยากรการเรียนรู้… ซึ่งความภาคภูมิใจใหม่ ในฐานะผู้สร้างสรรค์และอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการเรียนรู้ของผู้เรียนนี้ จะอยู่ในระบบนิเวศน์การเรียนรู้ ในฐานะ “ผู้กำกับทรัพยากรการเรียนรู้” มากกว่าจะเป็น “ครูในนิยามเก่าแก่ บนความเชื่อดั้งเดิม“
อุปสรรคที่ชัดเจนที่สุดในขั้นนี้ก็คือ ทัศนของครูหรือผู้สอน ที่รู้สึกเหมือน “เสียการควบคุม” เปลี่ยนเป็น “บริการช่วยเหลือผู้เรียน” ซึ่งครูอาชีพเกือบทั้งหมด แทบจะไม่หยุดคิดที่จะโต้แย้งว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่จะปล่อยนักเรียนโดยไม่สั่งสอนกันให้เข้าใจ… แต่ก็ให้การบ้านนักเรียนแบกกลับมารับผิดชอบต่อทีหลัง…
การเปลี่ยนบทบาทจาก Teacher ไปเป็น Facilitator จึงเป็นความท้าทายในการออกจาก Comfort Zone ครั้งใหญ่ของผู้สอนที่ต้องปลงความเชื่อดั้งเดิมให้พ้นหลักคิดส่วนตนทั้งหมดก่อนเช่นกัน และมองหาความพึงใจในฐานะผู้มีส่วนสำคัญในการส่งมอบทักษะประสบการณ์ให้ผู้เรียน ผ่านการ “ตระเตรียมขั้นตอนที่สมบูรณ์แบบ และให้บริการความรู้ ดูแลการพัฒนาทักษะ และส่งเสริมผู้เรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์” มากกว่าจะภาคภูมิจากการหาเทคนิคกลยุทธ์ถ่ายทอดผลักดันเนื้อหาบทเรียน


บทบาทใหม่ในฐานะ Facilitator หรือ บทบาท Process Manager… จึงต้องเปลี่ยนวิธีทำงานที่เคยเป็นงานเตรียมสอน… ไปเป็น ผู้นำการสร้างสรรค์ หรือ Creative Leader ให้ผู้เรียน ได้ปลดปล่อยพลังการเรียนรู้ด้วยตนเอง
การเตรียมสอนแบบเดิมจะเปรียบเหมือนการเตรียมนิทานไปเล่าเท่านั้นเองครับ… ในขณะที่การ “ตระเตรียมในฐานะผู้นำการสร้างสรรค์” จะเปรียบเหมือนการดัดแปลงนิทานไปเป็นบทละคร เพื่อให้ผู้เรียนได้สวมบทบาท และมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเรื่องราวในนิทานได้อย่างสร้างสรรค์… หรือแม้แต่ให้ผู้เรียนได้เป็นผู้ชมละครที่ตระเตรียมขึ้นอย่างสร้างสรรค์… ย่อมได้อรรถรสและเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจกว่าการเล่านิทานด้วยปากเปล่าอย่างแน่นอน
ในหนังสือ The Adult Learner ได้ระบุคุณลักษณะของ Creative Leaders ของสุดยอด Facilitator ไว้ 8 ประการครับ… ตอนหน้ามาคลี่เรียนรู้ไปด้วยกัน