Red Leader

Facilitating Learning… ผู้นำการปลดปล่อยพลังและสร้างสรรค์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษาในผู้ใหญ่ ซึ่งงานหลักคือมุ่งมั่นส่งเสริมการเรียนรู้ในผู้ใหญ่ และนำแนวคิด การจัดการศึกษาในผู้ใหญ่ หรือ Adult Learning หรือ Andragogy ไปปรับใช้เพื่อส่งเสริมสังคมการเรียนรู้ยุคใหม่ ที่ข้อมูลความรู้และทักษะประสบการณ์ มีพลวัตรด้วยอัตราเร่งทุกมิติ เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจนองค์ความรู้และทักษะประสบการณ์…ล้าสมัยอย่างรวดเร็ว จนหลายกรณีใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย นอกจากใช้ของเก่าต่อยอดเรียนรู้ของใหม่ไปอีกขั้นเท่านั้นเอง

ท่านกำลังอ่านบทความชุด… ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นเผยแพร่เป็นชุดความรู้แบบหลายตอน อ้างอิงหนังสือชื่อ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ของ Malcolm S. Knowles และคณะ… และตอนนี้เป็นประเด็น แนวทางการนำใช้ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ ในแนวทางที่ 2… Facilitating Learning  และตอนนี้เป็นตอนต่อจาก Facilitating Learning… เปลี่ยนผู้สอน ให้ไปดูแลขั้นตอนที่เรียนรู้ง่าย ครับ

ตอนที่แล้วได้พูดถึง ความสำคัญของการเปลี่ยนจาก Teacher หรือ Instructor ไปสู่ Facilitator ซึ่งในทางเทคนิคก็คือการเปลี่ยนบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้จาก “สั่งสอน ไปเป็น ช่วยเหลือ” ที่หมายถึง การเปลี่ยนจากสภาวะการเรียนรู้สอนสั่งที่ใช้การควบคุมดูแลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์… ไปเป็นการจัดการและการบริการทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้แทน

แน่นอนว่า… ประเด็นเรื่อง การควบคุม หรือ Control ที่ครูหรือผู้สอนเคยเป็นเจ้าของอำนาจการควบคุมเกือบจะเบ็ดเสร็จแบบเดิมนั้น… เมื่อเปลี่ยนมาทำหน้าที่ Facilitator ซึ่งหน้าที่คือ การออกแบบองค์ประกอบการเรียนรู้และจัดเตรียมทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกัน ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ “รังสรรค์การพัฒนาตนเองด้วย Self-concept ที่ผู้เรียนโน้มน้าวตัวเองเข้าหาองค์ความรู้ด้วยตนเอง” ทำให้ “การควบคุม” หลุดพ้นจากอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะผู้สอน และยอมรับแนวทาง “การควบคุมโดยไม่ควบคุม” ดั่งคำกล่าวที่ว่า… One Way Of Gaining Control Is By Giving Up Control หรือ อีกหนทางของการควบคุมคือ ถอนการควบคุมไปเลย!

ด้วยหลัก ควบคุมด้วยปลดปล่อย… Malcolm Knowles ระบุไว้ชัดเจนว่า การท้าทายนี้… สติปัญญาของผู้เรียนจะต้องผจญกับการค้นหาผลตอบแทนบางอย่างเพื่อให้ตนเอง “ไม่เสียเปล่า” จนผลักเอา “ภาวะผู้นำในตัว” ออกมาสร้างกลยุทธ์ส่วนตนโดยธรรมชาติ… ซึ่งผู้เรียนจะถูกกระตุ้นให้ชน หรือ ผจญกับความท้าทายเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางสังคมที่เจ้าตัวเกี่ยวข้องรับผิดชอบ และ เป็นสมาชิกอยู่… ตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัท ตั้งใจเรียนและฝึกฝนทักษะใหม่ ทั้งเพื่อปกป้องอาชีพรายได้ ครอบครัวและบริษัท เป็นต้น

ความรู้สึกรับผิดชอบที่เกิดขึ้น นอกจากจะกระตุก Self-concept ให้เดินหน้าชนเป้าประสงค์ตรงหน้าสุดใจแล้ว… ความรู้สึกรับผิดชอบ ยังเป็นหลักคิดสำคัญ ที่แยก “ผู้นำ” ออกจากคนธรรมดาทั่วไป

การเป็น Facilitator จึงเป็นเพียงคนถือองค์ความรู้เอาไว้คอยถ่ายทอดส่งมอบ เหมือนครูอาจารย์ไม่ได้อีกต่อไป… เพราะผู้เรียนที่มีภาวะผู้นำเต็มสติปัญญา จะยอมรับก็แต่ “แบบอย่างและทรัพยากรที่ส่งเสริมเป้าหมาย ซึ่ง Self-concept โน้มเหนี่ยวผลักดันอยู่เท่านั้น” 

บทบาทของ Facilitator จึงต้องไปให้ถึง “การเป็นผู้นำการสร้างสรรค์ หรือ Creative Learders หรือ CL” จนดึงดูดผู้เรียนให้ “สนใจจะลอกเลียนและนำใช้ ความรู้ หลักการ วิธีการและประสบการณ์” ซึ่งท้ายที่สุด การนำใช้จะเกิดการหลอมรวม “ความรู้ใหม่กับประสบการณ์เดิม” เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นทักษะส่วนตนในท้ายที่สุด

ถึงตรงนี้… หนังสือ  The Adult Learner พูดถึง Behavioral Characteristics of Creative Leaders หรือคุณลักษณะพฤติกรรม หรือ ลักษณะอันพึงประสงค์ของ Creative Leaders ไว้ 8 ประการครับ…

1. Creative Leaders มีและใช้สมมุติฐานเชิงบวก หรือ เป็นคนคิดบวก ในขณะที่คนส่วนใหญ่ใช้สมมุติฐานเชิงลบ

2. Creative Leaders ยอมรับการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตย รู้ส่วน รู้เสียงและรู้สิทธิ์ของตนที่ผูกพันธ์ประเด็นตัดสินใจร่วมหรือเกี่ยวข้องกับผู้อื่น

3. Creative Leaders เชื่อในพลังของการควาดหวังทวนเชื่อส่วนตน หรือ Self-fulfilling Prophecy หรือ รู้ว่าศรัทธาความเชื่อมีผลต่อหลักคิดและพฤติกรรม

4. Creative Leaders ให้คุณค่าความเป็นปัจเจก ยอมรับความแตกต่าง จุดแข็ง จุดอ่อน และพรสวรรค์ที่ไม่เหมือนกัน และมองความหลากหลายแตกต่าง คือความสวยงามที่สูงค่า 

5. Creative Leaders รู้วิธีกระตุ้นและให้ผลตอบแทน คนและความคิดสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบสร้างสรรค์ คือหนทางของนวัตกรรม… และการเปลี่ยนแปลงแบบสร้างสรรค์ที่สำคัญที่สุดคือ การหาทางเปลี่ยนล้มเหลวเป็นสำเร็จนั่นเอง

6. Creative Leaders มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทักษะการจัดการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องแบบสร้างสรรค์ด้วย

7. Creative Leaders เน้นแรงจูงใจจากภายใน หรือ Internal Motivators… มากกว่าแรงจูงใจจากภายนอก หรือ External Motivators

8. Creative Leaders ส่งเสริมให้ผู้อื่นได้ใช้ทักษะการติดสินใจและจัดการตัวเอง หรือ ส่งเสริมให้ผู้อื่นได้ใช้ Self-directed เต็มที่

ประเด็น ลักษณะอันพึงประสงค์ของ Creative Leaders หรือ Creative Leadership หรือ CL ที่กล่าวถึงในบทความนี้… ผมสรุปย่อโดยตัดเอกสารอ้างอิง และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องหนุนหลัง ออกไปทั้ง 8 ประเด็น เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวและข้อมูลอ้างอิงแน่นเหมือนต้นฉบับ… ก็หวังว่าครูอาจารย์สาย Knowles และ Andragogy จะเข้าใจ

ส่วนกรณีรายละเอียดว่าด้วย CL หรือ Creative Leaders หรือ Creative Leadership ที่ปรับใช้กล่าวถึง และเรียนรู้ในประเทศไทยที่ปรากฏอยู่มากมายแตกต่างจากนี้… ผมทราบดีว่ามีข้อมูลทั้งที่คล้ายและแตกต่างจากที่ผมเรียบเรียงขึ้น ซึ่งผมอ้างอิงหนังสือ The Adult Learner และ Andragogy Theory เป็นหลักครับ… และเคารพทุกมิติข้อมูลที่หลากหลายนั้นทุกแนวทาง

ขอบคุณที่ติดตามครับ!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts