Young student doing homework at home

Family Engagement in Education… การมีส่วนร่วมของครอบครัวในการศึกษา #ReDucation

ความวุ่นวายในกระบวนท่าของการแก้ปัญหา “เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน” ทั้งของฝั่งผู้สอนหรือครูอาจารย์ และ ฝั่งผู้เรียน ซึ่งก็คือเด็กๆ และผู้ปกครอง… ไม่ผิดหรอกครับ ผมหมายถึงผู้ปกครองหรือคนที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ ระหว่างที่โควิดระบาดจนเสี่ยงไปโรงเรียนไม่ได้จริงๆ และเห็นเป็นความวุ่นวายโกลาหลไม่ต่างกันทั่วโลก

ความจริงบทบาทของผู้ปกครองในระบบนิเวศทางการศึกษา มีความสำคัญมากมายมาแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่แนวคิดจัดการศึกษาแบบ One Size Fit All จำเป็นต้องจัดระบบนิเวศให้มีกลไกชดเชยเผื่อ “ผู้ปกครองที่ไม่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางการศึกษาของบุตรหลาน” บทบาทของผู้ปกครองในกลไกทางการศึกษาหลัก จึงไม่ค่อยมีช่องว่างให้สำหรับผู้ปกครองมากนัก… ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงหลายประเด็นเกี่ยวกับ “ผลการเรียน” จากทุกเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ล้วนมีบทบาทของผู้ปกครองอุ้มชูอนาคตของบุตรหลานตนเองอย่างมีนัยยะสำคัญอยู่เบื้องหลังเป็นหลักเสมอ

แนวคิดการเปิดทางให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม และ หาทางให้ผู้ปกครองได้มีบทบาทร่วมในกลไกทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นไป จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่เห็นความเคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจ

เวบไซต์ MOOC eLearning ของ Harvard University ได้เปิดหลักสูตร Introduction to Family Engagement in Education ให้ผู้ที่สนใจทั่วโลกเรียนฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม EdX… ทางด้านเวบไซต์ Waterford.org ของ Waterford Institute ซึ่งก่อตั้งโดย Dr. Dustin Heuston ผู้ศัทธาในแนวทาง Lifelong Learning และพัฒนารูปแบบการศึกษามุ่งการมีส่วนร่วมของเด็ก ครอบครัว และ นักการศึกษา เพื่อมอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างแท้จริงและยั่งยืน ก็ได้ขับเคลื่อนแนวทางความร่วมมือครูนักเรียนและผู้ปกครองผ่านโครงการ Waterford UPSTART มาตั้งแต่ปี 2009 ในรัฐยูทาห์ โดยมี Dr. Claudia Miner เป็นหัวหน้าโครงการ และขยายไปสู่โรงเรียนเครือข่ายแล้วนับสิบแห่งทั่วสหรัฐ ครอบคลุมนักเรียนตั้งแต่วัยอนุบาลถึงระดับ K-12 ไม่น้อยกว่า 1,000 คน

สิ่งที่ Waterford Institute มุ่งมั่นในประเด็นนี้ก็คือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองให้มีบทบาทร่วมในระดับสภาพแวดล้อม เพื่อมุ่งสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เชิงบวกสำหรับนักเรียนทุกคน… ซึ่งแตกต่างจากการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมเพื่อลดความขัดแย้งกับสถานศึกษาหรือสถาบันอย่างที่เคยเป็นมา… ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นชุมชนการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและครูในโรงเรียนเพื่อเด็กๆ ซึ่งให้ผลลัพธ์แตกต่างหลายประการ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… นักวิจัยทางการศึกษาจาก Waterford Institute พบความเชื่อมโยงระหว่างการมีส่วนร่วมของครอบครัวและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากกรณีศึกษาที่แตกต่างกันราว 50 บริบทเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง… ซึ่งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง พบสมรรถนะของนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ และ ความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองในระหว่างที่บุตรหลานเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา กลายเป็นรากฐานสำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียน และ โอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในอนาคต

ประเด็นก็คือ… ในยุคการศึกษาที่ครูนักเรียนและผู้ปกครอง ใช้เครื่องมือสื่อสารทางดิจิทัลเป็นช่องทางสื่อสารหลักระหว่างกัน ซึ่งหลายกรณีพบว่าทุกฝ่ายเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่ต่างกัน แต่ครอบครัวหรือผู้ปกครองส่วนใหญ่… กลับรับบทบาทการมีส่วนร่วมได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งเห็นความบกพร่องทั้งบทบาทการเป็นผู้สนับสนุน และ บกพร่องเรื่องเวลา หรือ ตารางกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ของบุตรหลานอย่างที่ควรจะเป็น

ปัญหาจึงกลายเป็นว่า… ในจังหวะที่แบบแผนทางการศึกษากำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคการเรียนรู้ตามอัทธยาศัย โดยมี EdTech หรือ Education Technology เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อทดแทนความจำเป็นต้องมาโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอนั้น… ดูเหมือนบทบาทของผู้ปกครองยังถูกมองข้าม และ มีน้อยที่เข้าใจความสำคัญในการพัฒนาการรับรู้และขีดความสามารถของผู้ปกครอง ซึ่งบุตรหลานต้องพึ่งพิงในวันที่ครูอาจารย์ไม่สามารถทำหน้าที่ดูแลบุตรหลานของตนเองให้ได้ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 40-50 ชั่วโมงอย่างแต่ก่อน… โดยเห็นได้ชัดจากฟังก์ชั่นของแพลตฟอร์มทางการศึกษา ที่ยังขาดส่วนที่ผู้ปกครองจะเข้าไปมีบทบาทอย่างแท้จริงบนแพลตฟอร์ม และ ส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ปกครองเลย

สำหรับประเทศไทย… ในวาระที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการศึกษาใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติมหลายฉบับ โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งเปิดทางให้โรงเรียน หรือ สถาบันการศึกษาได้พัฒนานวัตกรรมการศึกษาได้เองอย่างยืดยุ่น แบบไม่ต้องมากล่าวโทษกรมวิชาการว่า… ตัดเสื้อโหลไซส์เดียวให้เด็กทั้งประเทศใส่เหมือนกันอีก… ก็ได้โปรดใช้ประโยชน์ของข้อกฏหมายที่สร้างสรรค์แบบนี้ ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยเถอะครับ… แทนที่ครูอาจารย์จะมานัดชุมนุมต่อต้าน “ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….. ” ที่กำลังจะเข้าสภาในเร็วๆ นี้ที่กฏหมายบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง… ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้หรอกครับว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะสร้างผลกระทบอะไรบ้าง… แต่การไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อเป็นแบบที่เป็นมานั้น พวกเราล้วนรู้เห็นและเข้าใจดีว่าให้ผลลัพธ์เป็นอย่างไรกันดีอยู่แล้ว… แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า “บางด้าน” น่าจะดีขึ้นกว่าเดิมเมื่อการเปลี่ยนแปลงใหญ่มาถึงอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งโดยส่วนตัวค่อนข้างเชื่อมั่นว่า… ยังไงๆ ก็จะต้องเป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็นไปอยู่แล้ว!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts