จังหวะชีวิตและธุรกิจการงานที่มีสมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเป็นส่วนสำคัญของคนส่วนใหญ่อย่างในตอนนี้ สิ่งที่เราค้นจาก Google หรือ Facebook รวมทั้งเวบไซต์ที่เราเข้า โฆษณาที่เราคลิก เพจสินค้าที่เราไถจอเลื่อนดูภาพและข้อมูล รวมทั้งคลิปวิดีโอที่เรากดชอบหรือกดติดตาม… ซึ่งพฤติกรรมในขณะออนไลน์ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นการให้ข้อมูลกับแพลตฟอร์มที่เราเข้าใช้ เพื่อยืนยันความสนใจและความชอบที่เรามี ซึ่งแพลตฟอร์มส่วนใหญ่ต่างก็ออกแบบไว้เพื่อตอบสนองความสนใจเหล่านี้ และ เอาใจผู้ใช้ด้วยการ “กรองเอา” แต่สิ่งที่เราสนใจส่งมาให้เราอีกเรื่อยๆ จนได้เห็นแต่สิ่งที่เราสนใจ
ปรากฏการณ์ข้อมูลแปลกๆ และแตกต่างหลากหลายนอกเหนือจากที่สนใจ จึงหาได้ค่อนข้างยากในอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
Eli Pariser ผู้เขียนหนังสือ The Filter Bubble: What The Internet Is Hiding From You ได้อธิบายถึงอัลกอริธึมที่ใช้สร้างระบบนเวศทางข้อมูลเฉพาะบุคคลจากตัวแปรที่เป็น “ประวัติการท่องเว็บ และ การค้นหาในอดีตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต” ซึ่งจะทำให้การค้นหา หรือ Search บนอินเตอร์เน็ตด้วยคำค้นคำเดียวกันจากอุปกรณ์คนละชิ้น จะได้ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างมาก เช่น ถ้าจะค้นคำว่า “BP” จากมือถือของคนที่เข้าเวบไซต์ Yahoo Finance มากที่สุดก็จะได้ข้อมูลและราคาหุ้นของ BP ในขณะที่คำค้น “BP” จากมือถือของคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล อาจจะได้ข้อมูลการรั่วไหลของบ่อน้ำมัน Deepwater Horizon ในอ่าวเม็กซิโกไป
ประเด็นก็คือ… ปรากฏการณ์ Filter Bubble ที่มุ่งกรองข้อมูลเอาใจเราอย่างสุดติ่งโดยอัลกอริธึมจากทุกที่ในอินเตอร์เน็ตนี่เอง ที่เป็นดาบสองคมเหมือมีลูกน้องสอพลอให้ข้อมูลด้านเดียวจนมีผลต่อการตัดสินใจ ความเชื่อ ความคิด รวมทั้งความต้องการในการเลือกซื้อ เลือกใช้ หรือ เลือกชังสินค้าและบริการ ไปจนถึงเลือกชอบหรือเลือกชังบุคคลและองค์กร จนนำความวุ่นวายมาสู่สังคมจริงทั้งในโซเชี่ยลมีเดีย และ นอกอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราได้เห็นเป็นความแตกแยกทางความคิด จากข้อมูลส่วนเดียวเท่าที่เห็นเกิดขึ้นมากมาย
การใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างมีเหตุมีผล และ เข้าใจการมีอยู่ของข้อมูลอีกมากที่เรายังไม่พบ “อย่างมีสติ และ รู้เท่าทัน” แบบที่เรียกว่า “Digital Literacy หรือ ทักษะความเข้าใจในโลกดิจิทัลในขั้นที่ดีถึงระดับที่ไม่ “เผลอให้ข้อมูลเท่าที่เห็นมาบังตา และ บังใจจนทำอะไรลงไปประหลาดๆ อย่างเบาเขลา” ให้เกิดพฤติกรรมจากผลกระทบของข้อมูลข่าวสารบกพร่อง
เพราะ Filter Bubble Effect คือ ดาบสองคมที่ไม่ได้มีแต่ด้านดีแบบที่ชอบ และ ที่ใช่อย่างเดียว ซึ่ง Filter Bubble ได้กรองสิ่งที่อัลกอริธึมมองว่าไม่ควรจะเห็นเพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยสนใจ อาจหมายถึงเรื่องแปลกใหม่ที่อาจจะต้องรู้ หรือ อาจจะเป็นข้อเท็จจริงกว่า ไม่ต่างจากโลกกว้างนอกกะลาที่ครอบกบตัวน้อยมาแสนนาน
หลายคนที่อยู่ในโซเชี่ยลแล้วเชื่อว่า… คนทั้งโลกคิดเหมือนเรา เพราะเคยเห็นแต่ข้อมูลแบบที่เราคิดจึงมีโอกาสเจอข่าวปลอม และ กลลวงออนไลน์ได้ง่าย… แถมยังใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อให้ตัวเองคับแคบตีบตันไม่ต่างจากกบติดและโตในกะลา
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… Filter Bubble Effect ในปัจจุบันถือเป็นเครื่องมือและกลยุทธ์ออนไลน์ ทั้งเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาดธรรมดา ไปจนถึงการใช้ในทางชั้นเชิงเล่ห์เหลี่ยมเชิงยุทธศาสตร์ที่แหลมคมยิ่งกว่าโฆษณาชวนเชื่อ หรือ Propaganda ยุคใบปลิวและวิทยุชุมชนมาก
References…