ปัญหาใหญ่ที่สุดในการวางแผนเพื่อให้สามารถบรรลุ “เป้าหมายที่ซับซ้อน และ เป็นไปได้ยาก” ที่นักกลยุทธ์มักจะพบเจอเสมอก็คือ… ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ก่อนจะมีการกำหนดเป้าหมาย ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบแผนการที่แก้ไขแตะต้องได้ไม่มาก โดยเกือบทุกกรณีจะกลายเป็น “ข้อจำกัด” อย่างชัดเจน… หรือแย่กว่านั้นก็กลายเป็น “อุปสรรค” สำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จ ล้มเหลว และ ล้มเลิกได้เลยทีเดียว
คำถามคือ… ข้อจำกัดทั้งหมดทั้งสิ้นที่ปรากฏให้เห็นเหล่านั้นมาจากไหน?
ข้อจำกัดก็คือ ข้อเท็จจริงที่ขัดขวาง และ เป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมาย… ซึ่งทั้งหมดต้องการแผน หรือ แนวทางในการจัดการข้อจำกัดที่ปรากฏให้เห็น และ ถ้าข้อจำกัดเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงไปตรงมา และ ครอบคลุมอุปสรรคที่ขัดขวางความสำเร็จต่อเป้าหมายอย่างครบถ้วน… โอกาสที่จะข้าม หรือ กำจัดข้อจำกัดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายก็มักจะเป็นไปได้มากทีเดียว
แต่… สำหรับเป้าหมายที่ซับซ้อน และ เป็นไปได้ยากส่วนใหญ่มักจะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา หรือแม้แต่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการตัดสินใจใดๆ เพื่อให้ใครเอาไปวางแผนได้โดยสะดวก และ ส่วนใหญ่ยังทำให้ “ข้อจำกัด” กลายเป็นเงื่อนไขแรกที่ต้องใส่ใจก่อนตัวแปรอื่นๆ ทั้งหมดอีกด้วย
เรื่องเล่าจาก Jim Cantrell ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง SpaceX ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ที่ Elon Musk ถูกวิศวกรมหาเศรษฐีชาวรัสเซียถ่มน้ำลายอย่างเหยียดหยามใส่ในวันที่คณะของ Elon Musk เดินทางไปรัสเซียเพื่อขอซื้อจรวดสำหรับโครงการอวกาศที่ถูกริเริ่มขึ้นโดย Elon Musk… ซึ่งเกิดขึ้นราวปี 2001 โดยมี Jim Cantrell เป็นทั้งหุ้นส่วนและที่ปรึกษาสำคัญในฐานะที่เป็นผู้กว้างขวางคนหนึ่งในธุรกิจอวกาศ… ซึ่งการเดินทางไปรัสเซียเพื่อเจรจาขอซื้อจรวด และ ยานขนส่งจากฝั่งรัสเซียที่ถือว่ามีเทคโนโลยีโดดเด่นที่สุดในขณะนั้น ถือเป็น “ข้อจำกัด” หนึ่งของกิจการอวกาศในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ราวปี 2000-2005 ที่เส้นทางการบินขึ้นชั้นบรรยากาศทุกสายต้องใช้หลายอย่างที่หาได้แต่จากรัสเซีย และหรือ Roscosmos เท่านั้น… แต่น้ำลายและสายตาเหยียดหยามที่ Elon Musk เจอในวันนั้นก็ได้กลายเป็นสาเหตุให้เกิด “การทำลายข้อจำกัด” ซึ่ง Jim Cantrell เรียกว่าเป็นการถ่มถุยเพื่อเรียกจรวดขึ้นฟ้ามาเป็นคู่แข่งของ Roscosmos จนโครงสร้างของเศรษฐกิจอวกาศได้ก้าวข้าม “ความเป็นไปได้ยาก” นานาประการได้อย่างยิ่งใหญ่
กลยุทธ์ที่ Elon Musk ใช้ผลักดัน SpaceX ออกจากอิทธิพลของเครือข่ายอุตสาหกรรมจรวดยุคเก่า โดยทำลายข้อจำกัดอย่างสิ้นเชิงมีชื่อว่า… First Principle หรือ หลักการปฐมภูมิ อันเป็นวิธีคิดโดยไม่สนใจข้อจำกัด และ ตัวแปรใดๆ ที่ไม่ใช้ตัวแปรแรกอย่างแท้จริง… ในกรณีของการเจรจาซื้อจรวดของ Elon Musk ที่ล้มเหลวพร้อมกิริยาเหยียดหยามหยาบคาย ได้ถูกตั้งคำถามแบบ Socratic Questioning หรือ Socratic Method ซึ่งได้พา Elon Musk กลับไปเจอคำถามที่ตอบได้ง่ายกว่ามากอย่างเช่น จรวดขึ้นอวกาศทำขึ้นจากอะไรบ้าง และ ของแต่ละอย่างก่อนจะมารวมกันเป็นจรวดมีราคาเท่าไหร่… Elon Musk และ SpaceX จึงกลายเป็นเจ้าของเทคโนโลยีจรวดที่มีศักยภาพ และ ประสิทธิภาพเหนือกว่า ในราคาต้นทุนที่ถูกกว่าจนกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในเศรษฐกิจอวกาศอย่างยิ่งใหญ่จนถึงปัจจุบัน
ในทางเทคนิค… First Principle หรือ หลักการปฐมภูมิ หรือ หลักการแรกจะเป็นกระบวนการแบบ “Reverse Engineering หรือ วิศวกรรมย้อนกลับ” เพื่อย้อนไปหาวิธีแก้ปัญหา ณ จุดเริ่มต้นที่ตัวแปรทุกอย่างบริสุทธิ์ และ ไม่มีที่มาอื่นอีก… เหมือนที่ Elon Musk ใช้ First Principles กับชิ้นส่วนจรวดโดยย้อนกลับไปที่ท่อเหล็ก–แผ่นอลูมิเนียม และ วัสดุโพลิเมอร์เกรดอวกาศ ซึ่งหาซื้อได้มากมายจากทุกที่บนโลก แถมบางอย่างยังหาได้จากร้านเครื่องเขียน และ ร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไปก็มี… โดยไม่ต้องซื้ออะไรสักชิ้นจากรัสเซียเลยก็ได้
ส่วนท่านที่ยังไม่รู้จักเทคนิคคำถามแบบ Socratic Questioning ซึ่งถูกยืนยันว่าเป็นเทคนิคที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์แบบ Reverse Engineering เพื่อให้คำถามพากลับไปที่ First Principle… ซึ่ง Socratic Questioning ในทางปฏิบัติจะเป็นวิธี “ถามตอบ หรือ ปุจฉาวิสัชนา” แบบท้าทายหาที่มาที่ไป กับ มุมมองอันหลากหลาย และ หลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อตอบสมมุติฐานแบบคนเจ้าปัญหา… แต่ก็มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นถูกแนะนำเอาไว้ในวิธีถามคำถามแบบ 5 Whys หรือ Chain Whys” ซึ่งเป็นวิธีถาม “ทำไม” จากปัญหาแรก หรือ ข้อจำกัดแรก และ เอาคำตอบแรกไปถามทำไมซ้ำอีกครั้งเพื่อเอาคำตอบที่สอง และ วนไปจนครับ 5 รอบจนสามารถขจัดข้อจำกัดแรกออกไปจากคำตอบได้อย่างสิ้นเชิง…
ต้องฝึกครับ! มันจะดูบ้าๆ ตลกๆ หน่อยสำหรับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน!
References…