การเกิดภาวะผู้นำ หรือ Leadership ในทุกบริบท… ในทางเทคนิคจะเป็นเพียงส่วนเดียวของ “องค์ประกอบ” เพื่อการขับเคลื่อนแผนการบางอย่างให้บรรลุเป้าหมายหนึ่งๆ ที่เป็นไปได้เท่านั้น เพราะภาวะผู้นำ และ สภาพการนำที่แท้จริงจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้เกิดมีผู้ตาม หรือ Followers… โดยภาวะผู้นำที่สามารถบรรลุเป้าหมายได้จริง จะต้องการภาวะผู้ตาม หรือ Followership ที่ประกอบขึ้นด้วยคุณลักษณ์แห่งภาวะผู้ตามที่มีคุณลักษณ์สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายด้วย
มหาปราชญ์จากยุคก่อนคริสตกาลอย่าง Aristotle ก็ได้ให้ความสำคัญกับผู้ตามโดยมีคำกล่าวที่รู้จักกันดีในวงกว้างที่บอกไว้ว่า… He Who Cannot Be A Good Follower Cannot Be A Leader หรือ ผู้ที่ไม่อาจเป็นผู้ตามที่ดีได้ ก็ไม่อาจเป็นผู้นำได้”
ส่วนข้อมูลจากตำราผู้นำเก่าแก่จากศตวรรษที่ 14 อย่าง The Book of the Courtier ของ Baldassare Castiglione ก็ได้ยกย่องภาวะผู้ตามเป็นกรณีศึกษาเอาไว้หลายตอน ซึ่งข้อมูลบางตอนในตำราผู้นำจากนักปราชญ์ชาวอิตาลีท่านนี้ได้ยกตัวอย่างภาวะผู้ตามของซามูไรญี่ปุ่นจากสมัยเอโดะ ซึ่งมีภาวะผู้ตามสมกับคำว่าซามูไรที่แปลว่าผู้รับใช้… ซึ่งบุคลิกภาพและจิตวิญญาณของซามูไรนั่นเองที่มีภาวะผู้ตามขั้นสมบูรณ์แบบตามยุคสมัย
อย่างไรก็ตาม… ภาวะผู้ตาม หรือ Followership ในตำราการจัดการสมัยใหม่มักจะถูกอ้างอิงจากผลงานของ Ed Hollander และ Lynn Offermann เรื่อง The Balance of Leadership and Followership และ หนังสือ Inclusive Leadership: The Essential Leader-Follower Relationship ของ Ed Hollander โดยผลงานชุดนี้ได้พัฒนาขึ้นจากโครงการ Kellogg Leadership Studies Project หรือ KLSP ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นการปัดฝุ่นให้กับภาวะผู้ตาม หรือ Followership ให้โดดเด่นเคียงคู่ภาวะผู้นำ หรือ Leadership
ที่น่าสนใจก็คือ… ศาสตร์ด้านภาวะผู้ตามนั้นลึกซึ้ง และ ถูกประยุกต์ใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมมากมายโดยไม่ถูกเอ่ยถึงอย่างตรงไปตรงมาเท่าไหร่… ทั้งๆ ที่นักวิชาการด้านการจัดการทั่วโลกล้วนถกเถียงถึงบทบาทการนำ และ บทบาทการตาม ที่ถูกมองเป็นชิ้นส่วนของกันและกัน ที่ต้องมีและใช้คู่กันเสมอ… โดยศาสตร์ด้านภาวะผู้ตาม และ ปรัชญาภาวะผู้ตาม ได้ถูกใช้ในการพัฒนากิจการด้านการทหาร… กิจการด้านการพยาบาล… กิจการด้านการศึกษา รวมทั้งใช้พัฒนาโมเดลแฟรนไซส์สำหรับใช้ในการขยาย “ธุรกิจรูปแบบเดียวหลายเจ้าของ” นั่นเอง
ประเด็นก็คือ… ภาวะผู้ตาม หรือ Followership เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการจัดการ “บทบาทรอง” ในโครงสร้างการจัดการทุกรูปแบบ โดยเฉพาะพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของผู้ตามที่ยอมรับภาวะการนำในแต่ละเป้าหมาย และ ยอมรับลำดับการนำบนโครงสร้างการจัดการเพื่อการบรรลุเป้าหมายผ่านมุมมองของความเป็นทีมและองค์กร… ซึ่งลำพังแต่ตัวผู้นำมักจะไม่สามารถผลิตผลลัพธ์ได้ดีอย่างที่ต้องการโดยลำพัง
นอกจากนั้น… ตำราด้านจิตวิทยาภาวะผู้นำจากหลายๆ แหล่งได้แนะนำ “ภาวะผู้ตาม หรือ Followership” ให้แก่ผู้นำที่มีภาวะผู้นำสูงพอที่จะยอมรับ “บทบาทรอง” เพื่อให้เป้าหมายของทีมและองค์กร สามารถถูกนำโดยผู้ตามที่มีภาวะผู้ตามสูงพอที่จะรับผิดชอบเป้าหมายด้วยภาวะผู้นำที่เด่นชัดในบางบริบท… นั่นแปลว่า! ภาวะผู้นำเกิดโดยขาดภาวะผู้ตามไม่ได้ และ ภาวะการตามที่ดีพอต่อความสำเร็จตามเป้าหมายก็ต้องการภาวะผู้นำในตัวผู้ตาม หรือ ผู้มีบทบาทรองอย่างมากด้วยเสมอ
References…