EdTech 2025

Future of Learning 2025… วิสัยทัศน์เพื่อการปฏิรูปการศึกษา #ReDucation

ผมได้เอกสารชื่อ EdTech Vision 2025: Interim Report from the EdTech Advisory Forum ซึ่งนักการศึกษาระดับนำทั่วอังกฤษ ได้ช่วยกันสกัดวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาครั้งใหม่ โดยมีวิกฤตโควิดถูกพิจารณารวมอยู่ในบริบทการตัดสินใจด้วย แม้ในเนื้อหาจะไม่มีน้ำหนักอย่างมีนัยยะสำคัญอะไร แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเร่งให้เกิด Vision 2025 อย่างชัดเจน

ข้อความ หรือ สารใน Executive Summary ปลุกเร้าและเสริมแรงถึงผู้อ่านและนักการศึกษาด้วยมุมมองการถูก COVID 19 บีบคั้นให้เปลี่ยนแปลงไปสู่การทำระบบการศึกษาทางไกล หรือ  Forced Transition To Remote Learning ในอังกฤษ… ซึ่งทำให้พวกเขาค้นพบทรัพยากรทางการศึกษา ที่พร้อมสนับสนุน Remote Learning ที่มีอยู่มากมายแต่เดิม และ ยังไม่เคยถูกใช้เต็มศักยภาพมาก่อน… ซึ่งที่มาของเอกสารราว 40 หน้าชุดนี้ ดูเหมือนจะเตรียมขึ้นตั้งแต่กลางปี 2020 ที่ผ่านมา… ท่านที่สนใจโปรดคลิกที่นี่เพื่อศึกษาจากฉบับเต็มด้วยตัวท่านเองเลยครับ ซึ่งผมต้องขอข้ามที่จะพูดถึงเนื้อหาด้านใน เพราะสกัดหรือสรุปยังไงก็คงได้เป็นสิบๆ หน้าอยู่ดี… อ่านต้นฉบับไปเลยเข้าใจง่ายกว่า

นอกจากนั้นยังมีเอกสารที่พูดถึง “วิสัยทัศน์ทางการศึกษา” ที่มนุษยชาติได้เดินมาถึงช่วงเวลาสำคัญ เพื่อเปลี่ยนผ่านจากยุค “สถานศึกษา” เข้าสูยุค “แพลตฟอร์มทางการศึกษา” ท่ามกลางบริบทของสังคมการเรียนรู้แบบผสมผสาน หรือ Blended ที่กำลังให้น้ำหนักกับ “ความรู้และทักษะ” มากกว่ากลไกการพัฒนาความรู้ หรือ แม้แต่การทดสอบเพื่อวัดความรู้มิติเดียว ซึ่งก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาให้ต้องแก้ไขอยู่เดิม

เอกสารที่น่าสนใจอีกชุดหนึ่งเป็นงานวิจัยในหัวข้อ The Future of Learning 2025: Developing A Vision For Changeโดย Christine Redecker และ Yves Punie จากคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ European Commission ซึ่งเป็นงานสืบค้นรวบรวมทรัพยากรทางการศึกษาทั้งหมด ที่จะเอื้อต่อการจัดการศึกษาให้พลเมืองยุโรป ระหว่างปี 2020-2030 โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะจัดการศึกษาแบบ… Personalisation หรือ เฉพาะบุคคล… Collaboration หรือ ร่วมแรงแบ่งปัน… และ  Informalisation หรือ Informal Learning หรือ จัดการศึกษานอกแบบแผนให้หลากหลายขึ้น… ซึ่งคณะทำงานด้านนโยบายทางการศึกษาในคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ศึกษาและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2010… โดยมีหลักสำคัญคือ การทำ Personalized Learning และ Individualized Instruction หรือ ระบบการศึกษาเฉพาะบุคคล… ซึ่งแต่เดิมไม่เคยมีเครื่องมือและทรัพยากรทางดิจิทัลเพื่อการศึกษามาก่อน ทำให้ติดขัดกับปัญหาเรื่องทรัพยากรการศึกษาขาดแคลน และ ต้นทุนการจัดการที่สูงเกินจะยอมรับได้ จนต้องจัดการศึกษาแบบ “One Size Fit All” เหมือนๆ กันทั่วโลกมานาน… แต่เมื่อองค์ความรู้สามารถ “แชร์ หรือ ส่งต่อได้ด้วยต้นทุนต่ำใกล้ศูนย์” อย่างในปัจจุบัน… การขนผู้เรียนมาอยู่ด้วยกัน สอนไปพร้อมกัน ด้วยหลักสูตรและรายละเอียดเดียวกัน แม้จะมีนักเรียนบางคนมีภาวะสมาธิสั้น ลืมกินยาก่อนมาโรงเรียนวิ่งอยู่รอบห้องรบกวนทุกคนอยู่… ก็จะหมดความจำเป็นที่จะต้องเรียนและสอนในรูปแบบนั้นอีก

ส่วนความเคลื่อนไหวและการผลักดันของอังกฤษ ตามเอกสาร EdTech Vision 2025 ซึ่งข้อมูลในมือผมชี้ว่า… อุตสาหกรรมการศึกษาของอังกฤษได้ตอบสนอง EdTech Vision 2025 ถึงขั้นกำหนดแผนค่อนข้างชัดเจนครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่คณะทำงานเสนอไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้…

  • เพิ่มการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอุปกรณ์แก่โรงเรียนและสถาบันการศึกษา
  • จัดตั้งศูนย์กลางยุทธศาสตร์เทคโนโลยีทางการศึกษาแห่งชาติชื่อ Office for EdTech & Digital Skills
  • จัดตั้งแพลตฟอร์มทางการศึกษาระดับชาติ หรือ National Platform for England คล้ายกับแพลตฟอร์ม Hwb และ Glow ซึ่งดำเนินงานโดยหน่วยการศึกษาระดับแคว้น และมีบทบาทอย่างมากในวิกฤตโควิด 2020
  • เพิ่มการลงทุน และ สนับสนุน Digital Technology เพื่อผู้พิการ หรือ  Digital Assistive Technology เพื่อสนับสนุนการศึกษาครอบคลุมกลุ่ม SEND หรือ Special Educational Needs and Disability
  • บรรจุแผนพัฒนาทักษะดิจิทัล และ เทคโนโลยีการศึกษา หรือ EdTech Digital ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นวาระเร่งด่วน
  • ปฏิรูปหลักสูตร หรือ Curriculum บนฐานเทคโนโลยีเครือข่ายและคอมพิวเตอร์
  • รวบรวมจัดเก็บและใช้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเพื่อใช้ “ข้อมูล” นำการขับเคลื่อน

คร่าวๆ ประมาณนี้ก่อนครับ สำหรับข้อมูลและแนวทางปฏิรูปการศึกษาหลังวิกฤตโควิดที่น่าสนใจ ความจริงผมมีข้อมูลตัวเลขและสถิติต่างๆ ทั้งที่เป็น Insight และ Foresight อยู่หลายชุด… แต่น่าเสียดายที่เป็นของฝรั่งหมด ซึ่งก็คงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอามาใส่ในบทความให้รกเปล่าๆ

ความจริงก็อยากเห็น Big Data สนับสนุนการศึกษาของไทยบ้าง… แต่ก็กลัวข้อมูล Insight จะเปิดอะไรที่มันไม่น่าดูมาให้ดูอยู่เหมือนกัน… แต่ถ้ามีให้ดูก็อยากดูน๊ะ

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts