“เด็กติดเกมส์คือปัญหา เด็กเกลียดการศึกษาเพราะไม่รักดี” คำพูดและทัศนะคติทำนองนี้มีอยู่ในกลุ่มผู้ปกครอง ครูอาจารย์และนักการศึกษาบางกลุ่ม ที่ให้คุณค่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา จากศักยภาพของผู้เรียนหรือเด็กมากกว่า จนหลายกรณีทำให้ละเลยที่จะพิจารณาข้อบกพร่องของหลักสูตร สื่อและครูอาจารย์เองจนเกิดภาวะ “พัฒนาเด็ก ไม่ต้องพัฒนาครู” ให้เห็นในหลายๆ ที่และหลายๆ กรณี
ผมเปิดประเด็นแบบนี้ไม่ได้ต้องการจะต่อว่ากล่าวหาใครหรืออะไร… เพราะส่วนตัวแล้วก็เข้าใจระบบการศึกษา ที่ทุกๆ รูปแบบมีความสำคัญในบริบทของการออกแบบระบบมาทั้งสิ้น หลายท่านที่ตามอ่านงานเขียนเกี่ยวกับการศึกษาของผมมาตลอดจะเห็นว่า…
ประเด็นเดียวที่ผมอยากให้เกิดและมีในระบบการศึกษาของประเทศไทยและโลกใบนี้ก็คือ… ความหลากหลายของตัวเลือกด้านการศึกษา และการเพิ่มตัวเลือกให้ได้มากที่สุดที่หมายถึง… ของเก่าไม่ทำลาย ของใหม่สร้างเพิ่มมากๆ
GBL หรือ Games Based Learning หรือการเรียนรู้ด้วยเกมส์ คือตัวเลือกหนึ่งของการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนแบบ Technology Based Education ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ในวันที่พาเด็กๆ ออกจากบ้านมารวมกันสอนเหมือนในอดีตได้ยากขึ้น ซึ่งทุกคนรู้ดีว่า… Technology Based Education หรือ eLearning สำหรับเด็กส่วนใหญ่ ต้องมีกลยุทธ์มากพอที่จะตรึงพวกเขาให้อยู่กับเนื้อหาให้ได้จริงจังเท่านั้น จึงจะเห็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม
ในทางเทคนิค GBL ถือเป็น Learning Materials ของ eLearning ที่ต้องแปลงเนื้อหาการเรียนให้เป็นเกมส์คอมพิวเตอร์ ที่มีลักษณะเด่นอย่างยิ่งในเรื่องของการโต้ตอบ หรือ Interactive กับผู้เรียนและเด็กๆ ตลอดเวลาของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนด้วยกัน หรือแม้แต่กับครูผู้สอนได้ด้วย
งานวิจัยเรื่อง The Educational Benefits of Video Games ของ Dr.Mark Griffiths ศาตราจารย์ด้านเกมส์เพื่อการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Nottingham Trent ในอังกฤษสรุปว่า วิดีโอเกมส์เพื่อการศึกษามีศักยภาพเชิงบวกมากยิ่งกว่าการสร้างความบันเทิงให้เด็กๆ เหมือนวิดีโอเกมส์ทั่วไป และหากวิดีโอเกมส์ได้รับการออกแบบใหม่ เพื่อสอนทักษะบางอย่าง หรือแก้ปัญหาเฉพาะอย่างให้เด็ก วิดีโอเกมส์จะกลายเป็นเครื่องมือชั้นยอดในการดึงดูด หรือ Engage เด็กๆ อย่างมาก
ซึ่งผลลัพธ์เชิงบวกจากการใช้วิดีโอเกมส์ช่วยในกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ถึง 4 กระบวนวิธีในคราวเดียวได้แก่
1. Cognitive Function หรือกระบวนการรับรู้ เรียนรู้และเข้าใจ… เกมส์ที่ออกแบบมาอย่างดีจะช่วยดึงสมาธิเด็กและผู้เรียนให้จดจ่อ และมีปฏิสัมพันธ์ หรือ Interactive กับเกมส์อย่างต่อเนื่อง
2. Motivational Function หรือกระบวนการสร้างแรงจูงใจ… เนื้อหา บทสนทนา คำถามและเรื่องราวในเกมส์สามารถกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ หรือ Achievement Motive ได้
3. Emotional Function หรือ กระบวนการทางอารมณ์… โดยเกมส์คอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาอย่างดีมักจะมี Challenging Hook Point ที่ท้าทาย โน้มน้าว ซึ่งหลายครั้งผู้เล่นจะมีอารมณ์ร่วมหลากหลาย จนต้องควบคุมและบริหารจัดการอารมณ์ของตนเอง
4. Social Cognition หรือ กระบวนการทางสังคม… ซึ่งเกมส์คอมพิวเตอร์แบบ Multiplayer สามารถสร้างเครือข่ายการสื่อสารเรียลไทม์ได้อย่างดี นั่นหมายความว่า… หากเกมส์คอมพิวเตอร์ ถูกออกแบบให้ผู้สอนและนักเรียน สามารถเข้ามาช่วยกันทำภารกิจ หรือ Tasks ในเกมส์การศึกษาร่วมกันได้ กระบวนการทางสังคมออนไลน์จะได้รับการพัฒนาเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เช่นกัน
ที่จริงผมมีหนังสือสองเล่มเกี่ยวกับ GBL โดยตรง ซึ่งเก็บไว้นานแล้ว… ชื่อหนังสือ Learning, Education and Games : Bringing Games into Educational Contexts เล่มหนึ่งและเล่มสองครบชุด… หาเจอแล้ว แต่ต้องหาเวลาอ่านอีกที… หนังสือรวบรวมบทความจากสมาชิกของ International Game Developers Association หรือ IGDA ที่มีอยู่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยก็หลายท่านอยู่ โดยมี Karen Schrier เป็นบรรณาธิการ… ถ้ามีโอกาสคงได้แกะบทความบางชิ้นที่น่าสนใจมาเล่าต่ออีกทีครับ
อ้างอิง