Gaslighting… ปั่นหัวให้หัวปั่น #SelfInsight 

Gaslighting หรือ Gaslight Relationship เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ฝ่ายหนึ่ง “ปั่นหัว” ให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความสงสัย หรือ หวาดระแวงในตรรกะของเหตุการณ์ โดย “ฝ่ายที่ใช้จิตวิทยาปั่นหัว” จะจงใจบิดเบือนเหตุและผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว “ด้วยมุมมองใหม่” ที่ตนได้ประโยชน์ที่สุดอยู่ฝ่ายเดียว… ซึ่งถ้าเป็นเหตุการณ์ หรือ สถานการณ์ที่ปรากฏเป็นความเสียหายผิดพลาดต่อชีวิตทรัพย์สิน “ฝ่ายที่ถูกปั่นหัว” ก็มักจะถูกทำให้ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดเสียหายจากตนโดยปริยาย หรือ เถียงไม่ออกเป็นส่วนใหญ่… หรืออาจจะหนักหนากว่านั้นถึงขั้นทำให้ “ฝ่ายที่ถูกปั่นหัวกลายเป็นเหยื่อคำลวง” จนชีวิตจิตใจยับเยินไปหมดสิ้นก็ได้

ตัวอย่างจากเหตุการณ์ในหนังเรื่อง Gaslight ปี 1944 ซึ่งเล่าเรื่องของ Paula Alquist ผู้ถูกสามี Gregory Anton ปั่นหัวให้เธอเข้าใจว่าตัวเองขี้หลงขี้ลืมถึงขั้นทำอะไรเองแต่ก็ลืมเองบ่อยๆ เช่น แอบย้ายเข็มกลัดมรดกตกทอดจากที่ๆ เคยหาเจอไปซ่อนในที่ๆ เธอจะเก็บและหาเจอเป็นที่สุดท้าย… รวมทั้งทำให้ Paula รู้สึกว่าตัวเองหูแว่วเพียงแค่ยืนยันว่าเขาไม่ได้ยินเสียงเหมือนที่เธอได้ยิน และ ยังจัดฉากให้ Paula เกิดความสงสัยหวาดกลัวเรื่องราวในอดีตของคุณป้าเจ้าของบ้านที่เลี้ยงดูเธอมา แต่ถูกฆาตกรรมในบ้านหลังนี้ตอนเธออายุเพียง 14 ปี… กว่าเธอจะรู้ว่าฆาตกรที่ชื่อ Sergis Bauer ผู้ฆ่าป้าของเธอก็คือคนๆ เดียวกับสามีของเธอ Gregory Anton ก็เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดจากคนที่หวังสมบัติของป้า ซึ่งทำให้เธอต้องกลายเป็นเหยื่อการปั่นหัวจนหลงเชื่อว่าตัวเองเป็นโรคประสาทอยู่พักใหญ่

Gaslighting ในชีวิตจริงของหลายๆ คนก็ไม่ต่างจากหนัง หรือ นิยายมากนัก… เพราะโลกใบนี้มีคนที่ชอบปั่นหัวคนอื่นทั้งโดยเจตนา และ โดยสันดานอยู่จริง… ตั้งแต่พฤติกรรมแบบ “เอาดีเข้าตัวจนเหลือแต่ชั่วให้คนอื่น” ซึ่งใครจะรับไป หรือ จะไม่มีใครรับก็ไม่เดือดร้อนอะไรด้วยแล้ว และ หลายครั้งจะเป็นพฤติกรรม “การละเมิดทางอารมณ์ หรือ Emotional Abusive” โดยจัดฉาก ชักใย และ ปั่นหัวจนเหยื่อ หรือ คู่ความสัมพันธ์ติดอยู่ในกับดักการบิดเบือนจนถูกกล่าวโทษ และ งุนงงสงสัย รวมทั้งสถานการณ์และความรู้สึกด้านลบตลอดเวลา เช่น ถูกกลั่นแกล้งหมิ่นแคลนเมื่อสบโอกาส… จงใจทำให้อับอายในที่สาธารณะ หรือ ต่อหน้าคนอื่น… ป้ายความผิด และหรือทำให้รู้สึกว่าบกพร่อง ต่ำต้อย อ่อนแอ หรือ เป็นบ้า… ถูกติติง และ จิกด่าให้หดหู่เจ็บช้ำโดยไม่มีเหตุผล… รวมทั้งพฤติกรรมแก้ตัวแบบยกแม่น้ำทั้งห้ามาอ้างแบบข้างๆ คูๆ หรือ สรุปว่า “เหมือนที่คุณทำ หรือ เหมือนที่ใครๆ ก็ทำ” เป็นต้น

ข้อมูลจากนักจิตวิทยาความสัมพันธ์มากมายชี้ว่า… Gaslighting มักจะเกิดขึ้นกับคู่ความสัมพันธ์ที่รู้จักกันดีไม่น้อยระดับหนึ่ง รวมทั้งการเกิดในความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และ ที่ทำงาน… โดย “ฝ่ายที่เป็นคนปั่นหัวผู้อื่น หรือ Gaslighter” มักจะละเมิด หรือ คุกคามคุณค่าในตัวเอง หรือ Self Worth ต่อเหยื่อ… โดยมักจะสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อ หรือ คู่ความสัมพันธ์เกิดสงสัยในตัวเอง หรือ Self Doubt เพื่อเป้าหมายบางอย่าง

ประเด็นก็คือ… คนที่ตกเป็นเหยื่อการละเมิดทางอารมณ์แบบ Gaslighting จนถึงขั้นกลายเป็นคนสงสัยความเชื่อและการตัดสินใจของตัวเอง… วาดระแวงผู้คนและความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ยกเว้นคนที่ให้ข้อมูลชักใยปลุกปั่นอยู่ข้างตัวที่ยังรู้ไม่เท่าทัน… ในเบื้องต้น…

  • ควรสังเกตุว่าตัวเองรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และ หวั่นกลัวหลายๆ อย่างในชีวิตหรือไม่?
  • เราเชื่อใครได้บ้าง หรือ ใครที่มีอิทธิพลกับความคิดจิตใจ และ การตัดสินใจของเราบ้าง?
  • ความเชื่อและสายสัมพันธ์ที่มีอยู่เป็นความสัมพันธ์ที่มีความสุขหรือไม่?… 

ถ้าทุกคำตอบมันทำให้เรางุนงงสงสัย และ ไม่มีอะไรชัดเจน หรือ ไม่ได้ทำให้สุขกายสบายใจอะไรนัก… คำแนะนำเบื้องตนคงต้องขอให้คนที่เจอปัญหา “ถูกปั่นหัว หรือ Gaslighted” ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ได้มากที่สุด… โดยเฉพาะพฤติกรรมประจำ หรือ Routine Behavior ที่จำเป็นต้องทำให้ตัวเองเป็นคนแจ่มใสปลอดโปร่ง และ ไม่ขี้ลืมให้ได้มากที่สุด… ซึ่งหลักๆ ก็แค่ลดของมึนเมา ออกกำลังกาย และ ทำบันทึกช่วยจำส่วนตัวอย่างต่อเนื่อง และ หัดเชื่อตัวเองให้มาก… เท่านั้นเอง

ส่วน Gaslighting ในพฤติกรรมความสัมพันธุ์ของคู่รักที่ไม่ Healthy ตั้งแต่หลอกลวง เอาเปรียบ หวาดระแวง เห็นแก่ตัว หรือแม้แต่เลวร้ายต่อกันเหมือนกรณีของ Paula Alquist กับ Gregory Anton ไม่ลงรายละเอียดให้แล้วน๊ะครับ… เพราะถือว่าคำแนะนำให้ลดของมึนเมา หรือ ให้เลิกมัวเมา ก็ถือว่าไม่ต่างกัน!

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts