การจะเป็นผู้นำได้ ย่อมหมายถึงการมีผู้ตามซึ่งอยู่ในสถานะต้องพึ่งพาผู้นำคนนั้น เพื่อไปสู่เป้าหมายอะไรบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่ง นั่นหมายความว่า สภาวะผู้นำในมุมมองของผู้ตาม อาจจะไม่ได้มอง “คนที่เข้าใจว่าตัวเองเป็นผู้นำ” ว่าคือผู้นำอยู่ตลอดเวลาก็ได้… เพราะ “การยินดีเป็นผู้ตาม” โดยส่วนใหญ่ ก็เพื่อเป้าหมายบางอย่างของตัว “ผู้ยินยอมเป็นผู้ตาม” ด้วยเช่นกันนั่นเอง
วัฒนธรรมและศาสตร์ที่ว่าด้วยการปฏิบัติตัวอย่างผู้นำเพื่อให้คนๆ หนึ่งนำแนวทางไปพัฒนาทักษะผู้นำ หรือ Leadership Skills จึงเป็นศาสตร์เก่าแก่อีกสาขาหนึ่งที่มีการส่งมอบและสืบทอดมายาวนาน…
ในตำราฝั่งตะวันตก… ดูเหมือน Great Man Theory หรือ ทฤษฎีมหาบุรุษ ซึ่งค้นคว้าเรียบเรียงขึ้นโดย Thomas Carlyle ในปี 1840 จะได้รับการยอมรับว่าเป็นปฐมบทของศาสตร์แห่งผู้นำสมัยใหม่ แม้จะเป็นงานค้นคว้ารวบรวมมาจากหลักคำสอนโบราณ ซึ่งย้อนกลับไปอ้างอิงหลักธรรมของเพลโต อริสโตเติล หรือแม้แต่เล่าจื๊อก็ตาม… ซึ่ง Great Man Theory เองก็ถูกอ้างอิงในทฤษฎีผู้นำยุคใหม่ ในพัฒนาการของหลักคิดยุคต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงคุณลักษณ์ หรือ Trait Theory หรือ Trait Leadership… ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรม หรือ Behavior Leadership… ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงอุบัติการณ์ หรือ Contingency Leadership Theory หรือ Situational Leadership Theory… ทฤษฎีผู้นำผู้ตาม หรือ Leader-Follower Theory รวมทั้ง ทฤษฎีความเป็นผู้นำเชิงปฏิรูป หรือ ทฤษฎีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Transformational Leadership Theory ด้วย
ผมไม่ได้ยกตำราทั้งหมดที่ผมเองก็ไม่ได้เรียนรู้ลึกซึ้งอะไรมาโอ้อวดหรอกครับ… แต่ทั้งหมดที่ยกมาก็เพียงเพื่อจะให้เห็นว่า แนวทางและหลักการเพื่อใช้ “นำผู้อื่น” ทั้งหมดนั้น ถ้าลงไปดูรายละเอียดจะเห็น “บริบท” ในการตีความและนำไปใช้ที่มีความเหมือนกันส่วนหนึ่ง คล้ายกันส่วนหนึ่งและแตกต่างกันอยู่ในอีกส่วนหนึ่ง
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… ในบริบทที่มี “ผู้นำและผู้ตาม” นั้น หากเจาะเข้าไปดูเหตุผล หรือ Why ของการต้องเป็นผู้นำ… กับเหตุผล หรือ Why ของการยินยอมหรืออยากเป็นผู้ตามนั้น… ส่วนใหญ่จะพบ “เป้าหมายที่อยู่บนเส้นทางเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่เป้าหมายเดียวกันอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย”
ถ้าเปรียบผู้นำเป็นเจ้าของรถคันใหญ่ที่ขับมาตามถนนสายหนึ่ง… ระหว่างทางเขาจอดรับคนโบกรถขออาศัยไปตามเส้นทางสายเดียวกันนี้… เจ้าของรถและคนขับจะอยู่ในภาวะผู้นำการเดินทางทันทีที่รับคนโดยสารมาด้วย… ในภาวะการนำนั้น คนขับและเจ้าของรถสามารถตัดสินใจจะแวะที่ไหนเพื่อทำอะไรระหว่างที่มีผู้โดยสารอยู่ด้วยก็ได้ ในขณะที่ผู้โดยสารซึ่งอยู่ในฐานะผู้ตามในช่วงเวลานี้ ย่อมไม่อยู่ในฐานะ “ผู้ตัดสินใจ” ไม่ว่าจะแวะหรือจะขับรถเร็วหรือเร่งรีบอ้อยอิ่งแค่ไหน… มากสุดก็คงทำได้เพียงเสนอความคิดเห็น เพื่อให้ “ผู้ถือภาวะการนำ” ใช้ความคิดเห็นเป็นประเด็นร่วมตัดสินใจ… เท่านั้น
ในชีวิตจริง… ภาวะการเป็นผู้นำและการเป็นผู้ตามเกิดขึ้นในบริบทต่างๆ เสมอ และสภาวะผู้นำในมุมมองของผู้ตาม จึงสำคัญอย่างมากว่า เมื่อตามแล้วจะได้อะไร หรือไปทางไหนอย่างไร… แก่นของการได้รับการยอมรับการนำจึงอยู่ที่ “เป้าหมายของผู้ตามว่าอยู่ในเส้นทางเดียวกันกับผู้นำหรือไม่”
กรณีการโบกรถ… ถ้าคนโบกรถถามคนขับใจดีที่อยากแวะรับจนรู้ว่า ปลายทางเป็นคนละทิศที่จะไป คนโบกรถคงสมัครใจรอรถคันอื่นมากกว่า… และเมื่อไม่มีคนโดยสาร คนขับก็ไม่ได้อยู่ในภาวะนำในการเดินทางเที่ยวนั้นแน่นอน เพราะไม่มีใครไปด้วยนั่นเอง
นตำราฝั่งตะวันออก… หลักธรรมของพุทธมหาศาสดาที่ชื่อ “ทศพิธราชธรรม” อันเป็นธรรมะของผู้นำซึ่งมีตำนานเล่าว่า… พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ลงจากหลังช้างศึก รับเอาทศพิธราชธรรมมามอบให้ราษฎรและแว่นแคว้นขอบขัณฑสีมาจนชมพูทวีปในยุคสมัยของพระองค์ ร่มเย็นและรุ่งเรืองกลายเป็นตำนานเล่าขานจวบจบปัจจุบันนั้น… ผู้นำที่อยู่เหนือชีวิตผู้อื่นโดยสมบูรณ์อย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ยอมเปลี่ยนยุทธศาสตร์บนเป้าหมายเดิมที่อยากให้ชมพูทวีปร่มเย็นเป็นหนึ่งเดียว “ภายใต้บารมีของพระองค์” โดยหยุดสงครามในอาณาเขตพระราชอำนาจ ที่พระองค์บัญชาให้หยุดสงครามหรือเริ่มสงครามก็ได้ทั้งหมด… แล้วแทนด้วย “การให้สิ่งที่ราษฎรต้องการจริงๆ หรือ เป้าหมายของราษฎรเหล่านั้น” ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ตามโดยปริยาย โดยเริ่มต้นจากปากท้องและปัจจัยสี่อื่นๆ รวมทั้งการคืนนักรบกลับสู่ครอบครัวภายใต้บริบทเพื่อให้เกิดสังคมที่ร่มเย็นสงบสุข
การให้ หรือ ทานํ หรือ ทานัง หรือ Dāna หรือ Give… ในสิ่งที่รู้อยู่ว่าผู้ตามต้องการ จึงเป็นประตูด่านแรกสู่ “ภาวะผู้นำแบบพุทธ” ที่ถูกบรรจุไว้ในการชำระพระไตรปิฎกธรรมาโศกราช หรือ พระไตรปิฎก ฉบับพระเจ้าอโศกผู้ถือธรรมะ… และมีอยู่ในพระไตรปิฎกทุกฉบับเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ประเด็นที่อยากจะพูดถึงจริงๆ ก็คือ… กรณีการถกถามในประเด็น “การสร้างทักษะผู้นำ” รวมทั้งสภาวะการนำในบริบทต่างๆ ซึ่งผู้ตามหรือผู้ยอมติดตาม “หวังว่าจะเห็นเป้าหมายของตัวเอง” ในเส้นทางที่ผู้นำพาไป… โดยส่วนตัวจึงชอบวิธีอธิบายการสร้างภาวะผู้นำผ่าน ความเข้าใจต่อเป้าหมายของผู้ตาม และ ให้ในสิ่งที่ผู้ตามยินดีรับและยินดีให้ “อำนาจการตัดสินใจนำตอบแทน ซึ่งก็คือการสนับสนุนเป้าหมายของผู้นำ” เป็นการตอบแทนบนบริบทการนำและติดตามในคาบเวลานั้นๆ ด้วย
ถ้าเป้าหมายของท่านยิ่งใหญ่ ยุ่งยาก และทราบดีว่าสะสางสร้างทำคนเดียวไม่ได้แน่… คำแนะนำเดียวที่จะทำให้ได้สามารถดึงดูด “ผู้ตามที่มากความสามารถและทรงพลัง” มาช่วยท่านสะสางสร้างทำเป้าหมายร่วมกัน… ขอให้เริ่มต้นที่การให้ หรือ Giving และสร้างความสัมพันธ์ผู้นำผู้ตาม หรือ Leader–Follower Connection ด้วยภาวะผู้นำโดยการให้ หรือ Giving Leadership… โดยเฉพาะการให้เป้าหมายของพวกเขาก่อน… ที่เหลือเดี๋ยวผู้ตามเขาจะจัดให้เองเช่นกัน
References…