การกำหนดเป้าหมายเป็นเทคนิคความสำเร็จที่สำคัญสำหรับทุกๆ การวางแผนแบบมุ่งเป้าความสำเร็จ โดยเฉพาะในขั้นการวางแผนเชิงปฏิบัติ อันมีรายละเอียดครอบคลุมถึงสิ่งที่ต้องทำ กับทรัพยากรที่ต้องใช้ รวมไปถึง “ผลประโยชน์” ที่จะได้รับเมื่อประสบความสำเร็จตามแผน… ซึ่งเป็นขั้นการบรรลุเป้าหมายจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในวาระการเกิดผลสำเร็จนั้นด้วย
ประเด็นก็คือ… เป้าหมายเพื่อความสำเร็จมักจะเชื่อมโยงและกระตุ้นความต้องการในผลประโยชน์ถึงขั้นทำให้คนๆ หนึ่ง… ตัดสินใจทุ่มเทความคิด อารมณ์ และ พฤติกรรมไปสู่การบรรลุเป้าหมาย โดยไม่เกี่ยงว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นเพียงเป้าหมายส่วนตัว หรือ เป้าหมายของกลุ่ม หรือแม้กระทั่งเป้าหมายเพื่อสาธารณะด้วย
ในทางเทคนิค… การตั้งเป้าหมายเป็นการกำหนดสถานะในอนาคตที่ต่างออกไปจากสถานะปัจจุบัน ซึ่งข้อเท็จจริงที่ย่อมจะเกิดขึ้นแน่นอนเมื่อเกิดเหตุการณ์บรรลุเป้าหมายขึ้นในอนาคตก็คือ สถานะอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะถูกเปลี่ยนแปลงทั้งหมด… แต่ก็มีมากที่เป้าหมายของหลายๆ คนยังไม่เคยปรากฏว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นอกจากอายุมากขึ้นวันแล้ววันเล่า!
Professor Dr.Edwin A. Locke ได้พัฒนาทฤษฎีการตั้งเป้าหมาย หรือ Goal Setting Theory อันมีคำอธิบายถึงการบรรลุเป้าหมายเอาไว้ว่า…
1. เป้าหมายที่ยาก จะทำให้ประสบความสำเร็จได้มากกว่าเป้าหมายที่ง่าย… เพราะเป้าหมายที่ง่าย แค่ทำง่ายๆ สบายๆ ก็สำเร็จแล้ว และ เป้าหมายง่ายๆ ก็มักจะไม่ต้องใช้ “ความพยายาม” เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย… ในขณะที่เป้าหมายากๆ จำเป็นจะต้อง “เค้นพลัง” เพื่อให้บรรลุมากกว่า ต้องให้ความสำคัญ ต้องเตรียมตัว ต้องเพียรพยายาม… ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ จาก Thammasat Business School และ ผู้เชี่ยวชาญ OKR เบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยยกตัวอย่างว่า… คนตั้งเป้าหมายวิ่งให้ครบหนึ่งกิโลเมตรย่อมบรรลุเป้าหมายได้เร็วง่ายและสบายๆ กว่าคนตั้งเป้าหมายวิ่งมาราธอนอย่างแน่นอน แต่ในแง่ของพลังการเป็นนักวิ่ง และ ผลประโยชน์ที่คนตั้งเป้าหมายขั้นวิ่งมาราธอนจะได้รับ ย่อมมากกว่าคนวิ่งกิโลเดียวอย่างชัดเจนทุกทาง… แต่ก็ไม่ควรจะตั้งเป้าหมายที่ยากในขั้นทำไม่ได้ หรือ เป็นไปไม่ได้ให้เป้าหมายล้มเหลว!
2. เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง จะทำให้ประสบความสำเร็จมากกว่าการไม่มีเป้าหมาย หรือ มีเป้าหมายที่เลื่อนลอย… เพราะความชัดเจนในเป้าหมายจะนำไปสู่การวางแผนได้ดีกว่า มีรายละเอียดที่เป็นไปได้มากกว่า เตรียมพร้อมได้ดีกว่า… โดยตัวอย่างในกรณีนี้จากอาจารย์นภดลก็ได้กรุณาอธิบายเพิ่มเติมว่า… ตัวอย่างเป้าหมายที่ชัดเจนในกรณีเป้าหมายการวิ่งมาราธอน ซึ่งระบุชัดเจนว่าจะไปวิ่งรายการฤดูหนาวปลายปี ก็จะทำให้เจ้าของเป้าหมายสามารถเตรียมแผนซ้อม และ จัดตารางซ้อมเพื่อไปมาราธอนกับคนอื่นๆ ซึ่งจะต่างจากคนที่กำหนดเป้าหมายลอยๆ แค่ “อยากวิ่งจัง” ที่หาแรงจูงใจและกำหนดรายละเอียดต่อได้ยาก
Professor Dr.Edwin A. Locke เริ่มสนใจปรัชญาการตั้งเป้าหมายในช่วงกลางทศวรรษ 1960 และ ค้นคว้าเกี่ยวกับศาสตร์ของการกำหนดเป้าหมายอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี จนกลายเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่แตกแนวคิดย่อยออกไปอีกมากมาย และ ถูกบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์อย่างน่าสนใจจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังการตีพิมพ์ผลงานของ Professor Dr.Edwin A. Locke ในหัวข้อ Toward a Theory of Task Motivation and Incentives ในปี 1968 ซึ่งถูกนำไปขยายความเพื่ออธิบายต่อคำถามที่ว่า… ทำไมคนบางคนถึงทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่น… โดยคำตอบสุดท้ายจะโยงมาถึงการตั้งเป้าหมายที่แตกต่างเสมอ โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายที่ยากกว่า เฉพาะเจาะจงกว่า และ มีรายละเอียดเชิงปริมาณที่นำไปสู่การนับ หรือ ประเมินความก้าวหน้าได้ดีกว่า เช่น การกำหนดเป้าหมายเพิ่มผลผลิตให้ได้ 50% แทนที่จะกำหนดเป้าหมายไว้เพียง “เพิ่มผลผลิต” ลอยๆ
ประเด็น “รายละเอียดเพิ่มเติมต่อเป้าหมาย” ที่ Professor Dr.Edwin A. Locke สรุปไว้เพิ่มเติม ซึ่งมีนัยยะต่อการบรรลุเป้าหมายจะประกอบด้วยรายละเอียดเพิ่มเติม 4 แนวทางคือ
- Choice หรือ ทางเลือก… ซึ่งการระบุทางเลือกไปพร้อมกับการกำหนดเป้าหมายจะทำให้ “แนวทางการผลักดันเป้าหมาย” แคบลง และ ประหยัดทรัพยากรมากขึ้น โดยเฉพาะเวลา
- Effort หรือ ความพยายาม… ซึ่งเป้าหมายที่กระตุ้นความพยายามในการผลักดัน มักจะเสริมแรงความพยายามเพิ่มขึ้นจนบรรลุเป้าหมายได้ดีกว่า
- Persistence หรือ ความอดทนอดกลั้น… ซึ่งเป้าหมายที่ยากกว่า เฉพาะเจาะจงกว่า และ มีรายละเอียดมากกว่ามักจะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า จนต้องอดทนพากเพียร หรือ อึดสู้จึงจะบรรลุเป้าหมาย
- Cognition หรือ ความรู้ความเข้าใจ… โดยเฉพาะเหตุผลที่ต้องเลือกผลักดันเป้าหมายที่ยากกว่า ซับซ้อนกว่า มีรายละเอียดมากกว่า ซึ่งถ้าขาดความรู้ความเข้าใจต่อที่มาที่ไปและเหตุปัจจัยชี้นำความสำเร็จ หรือ การบรรลุเป้าหมายอย่างชัดเจน ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจทำ
ท่านที่อยากทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันดูบ้าง… ลองทบทวนเอา Goal Setting Theory ไปปรับใช้กับเป้าหมายใหม่ดู… แค่ลองก่อนก็ได้
References…