ท่านเคยรู้สึกว่าทำงานชิ้นนี้แล้วลืมเวลา หรือคุยกับคนๆ นี้แล้วไม่อยากแยกกันบ้างมั๊ย?… ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในขณะที่หลายคนไม่เคยเจอโมเมนต์แบบนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งไม่ว่าท่านจะเคยดิ่งลึกกับงานมาแล้วกี่ครั้ง… หรือจะสุขสุดกับใครกี่คนมาบ้างแล้ว… คำถามคือ ท่านจะหาโมเมนต์แบบนั้นมาเติมชีวิตได้อีกเรื่อยๆ จะดีมั๊ย?
บทความนี้เป็นตอนต่อของซีรีย์ Designing Your Life ตอนที่สี่ต่อจาก Building a Compass… ต้องรู้ทิศก่อนเลือกทาง โดยยึดแนวทางและหลักคิดแบบ Design Thinking จากหนังสือ Designing Your Life ของ Bill Burnett และ Dave Evans ผู้สอนหลักสูตร Design Thinking ที่ Stanford D. School ด้วยการถอดบทเรียนและตีความแบบ Reder… อ่านจบแล้วถ้าชอบก็ช่วยแชร์แบ่งปันคนอื่นให้ด้วยครับ หรืออยากชี้แนะติเตือนประเด็นไหนอย่างไร ก็ยินดีน้อมรับผ่านกล่องความเห็นท้ายบทความหรือ DM ข้อความส่วนตัวมาใน Line: @reder ก็ได้ครับ
พูดถึงการวางแผนชีวิตที่สุขภาพและการงาน อันเป็นสองตัวแปรใหญ่ที่จะดึงความรักและจังหวะชีวิตอันรื่นรมณ์ตามมา จำเป็นต้องวางแผนและพัฒนาสมดุลย์ แบบไม่ต้อง “ได้อย่างเสียอย่าง” เพื่อออกจากวังวนที่เรายังไม่พึงใจในชีวิตปัจจุบัน
และเมื่อเราค้นหาสภาวะปัจจุบันเจอ… รวมทั้งกำหนดทิศและเลือกทางได้แล้ว การเดินออกจากสมดุลย์เดิมก็ถึงคราวต้องเริ่มต้น ทั้งที่ข้อเท็จจริงก็คือ เรากำลังจะออกจากสมดุลย์เดิมทั้งที่ตัวแปรชีวิตทั้งหมดยังเหมือนเดิมทุกอย่าง… ซึ่งการก้าวออกมาจากจุดนี้สำหรับหลายๆ คน จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้สินใจ โดยเฉพาะการก้าวออกจากสมดุลย์เดิมจนหลุดแรงโน้มถ่วง หรือแรงดึงจากสมดุลย์เดิมให้ได้
หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องเล่าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งจะพาทหารน้อยนิดเข้าตีเมืองจันทร์ให้ได้… พระองค์ท่านให้ขุนศึกกินข้าวปลาอาหารมื้อสุดท้ายเสร็จแล้ว ก็ทำลายเสบียงกรังและเครื่องครัวทั้งหมด เพื่อเข้าไปหาเอาใหม่ในกำแพงเมืองจันทรบูรณ์… ซึ่งเป็นการทำลายแรงโน้มถ่วงแบบสู้ไม่ไหวก็กลับไปหาข้าวกินไม่ได้แล้ว ทางเดียวที่จะมีอาหารมื้อหน้าคือ ต้องตีเมืองจันทร์เพื่อชนะเท่านั้น
ผมรู้จักคนหลายคนที่อยากมีรายได้ทางที่สองบ้าง อยากทำงานพิเศษบ้าง อยากมีอิสระทางการเงินบ้าง หรืออยากสร้าง Work Life Balance บ้าง…. แล้วแต่ทัศนคติและจินตนาการ… แต่ส่วนหนึ่งกลับไม่กล้าโยนแรงโน้มถ่วงจาก Comfort Zone ทิ้งไป… เช่น อยากขายของออนไลน์แต่ใช้วิธียืมสินค้าเพื่อนมาทำตลาด ขายไม่ได้ก็เอาไปคืน… ทำ Dropship ตามมีตามเกิดแบบสร้างระบบซื้อขายแต่ไม่ลงทุนทำการตลาด… แถมรูปที่ใช้ Post ขายยังก๊อปปี้เขามาอีกก็มี
ซึ่งทั้งหมดจะมีสภาพเหมือนนักบินอวกาศทำภาระกิจ Sky Walker ที่แม้จะออกไปนอกยานสู่ความเวิ้งว้างในอวกาศกว้างใหญ่ แต่ก็ยังล่ามตัวเองกับยานแม่แบบมั่นใจเต็มร้อยว่าไม่หลุดและไม่เคว้ง… ประเด็นคือ ไม่ว่านักบินจะออกจากยานไปทำอะไรมาบ้าง ก็ต้องกลับยานที่เป็นสถานะก่อนหน้านั้นเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องสำหรับนักบินอวกาศ… เพราะตอนนักบินอวกาศเดินทางออกจากโลก ตัวนักบินและยานไม่ได้ถูกล่ามไว้กับพื้นโลก แถมยังทุ่มพลังงานสูงสุดเพื่อออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกอย่างรวดเร็วที่สุดไปแล้ว
การจะออกจากสมดุลย์เดิมของชีวิตก็เช่นกัน… การเร่งปลดตัวเองออกจากสมดุลย์เดิมอย่างเร็วเป็นเรื่องสำคัญเหมือนการ Take-off ของยานอวกาศเพื่อหนีแรงโน้มถ่วงของโลก… ซึ่งยานอวกาศจะไม่มีทางปลอดภัยหากยังไม่หลุดแรงโน้มถ่วงที่พยายามจะดึงยานทั้งลำให้หล่นกลับไป…
สมดุลย์เดิมของชีวิตก็เช่นกัน… โดยเฉพาะสมดุลย์เดิมที่สุขสบายมานานก็จะยิ่งมีแรงโน้มถ่วงดูดดึงมหาศาลให้เราวนเวียนอยู่ใน Loop เดิมต่อไปพร้อมคำอธิบายร้อยแปด เพื่อให้ยอมรับ “การไม่เปลี่ยนแปลง” แม้จะเจอภาวะไม่สุขสบายอย่างแรง
แต่ก็น่าเห็นใจครับ… การออกจาก Comfort Zone เป็นเรื่องยุ่งยากใจสำหรับทุกคนเสมอ… ในหนังสือ Designing Your Life จึงประดิษฐ์แม่แบบการบันทึกความสุข หรือ Good Time Journal Activity Log ขึ้น… เพื่อให้ระหว่างทางของการเปลี่ยนแปลงชีวิต เข็มทิศของเรายังคงชี้ไปที่ความสุขความพึงพอใจที่คมชัดเสมอว่าเรามาถูกทิศ…
เครื่องมือที่ใช้สามารถ Download ได้โดยตรงที่นี่ ซึ่งเป็นเวบไซต์อย่างเป็นทางการของหนังสือ Designing Your Life โดยศาสตราจารย์ทั้งสอง… Bill Burnett และ Dave Evans
วิธีใช้ก็แค่บันทึกกิจกรรมใส่เส้นบรรทัดฝั่งซ้าย… แล้วประเมินระดับความสนใจใส่เกจ์วัด Engagement… ถ้าเป็นกิจกรรมที่ทำแล้ว ลื่นไหลไม่อยากหยุด หรือลืมเวลาไปเลย… ก็อย่าลืมเชคให้ Flow เสียด้วย… แล้วก็มาประเมินระดับพลังงาน หรือ Energy กันว่า… ใช้เวลา ความรู้ ทรัพยากรและอะไรอีกมากที่รวมๆ เรียกว่าทุ่มพลังเข้าใส่กิจกรรมนั้นแค่ไหน… ถ้าเข้าขั้นหมดแรงแถมจิตตกซ้ำเข้าไปอีก แสดงว่าเราใช้พลังงานอย่างหนักเข้าขั้น Neg หรือ Negative สุดๆ แล้ว ก็วาดเข็มชี้มาซ้ายสุด 180 องศาได้เลย
สาระสำคัญของการทำ Good Time Journal ก็เพื่อให้จังหวะชีวิตที่หมายถึง กิจกรรมที่เราหมดเปลืองเวลาและทรัพยากรไปนั้น เราตื่นเต้นและชื่นชอบอะไรบ้าง แล้วกิจกรรมนั้นๆ กดดันสิ้นเปลืองพลังกายพลังใจแค่ไหนอย่างไร
หลายครั้งกิจกรรมที่เราชื่นชอบและลื่นไหลสุดๆ อาจจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์เชิงบวกเมื่อมาดูเวลาและทรัพยากร โดยเฉพาะกิจกรรมที่สำคัญและจำเป็น ที่หลายครั้งนอกจากจะไม่ดึงดูดเชิญชวนความสนใจของเราแล้ว เรายังต้องทุ่มเทหลายอย่างที่รวมๆ เป็นพลังสารพัด เพื่อทุ่มเทให้กิจกรรมนั้น จนแรงใจหดหายและแรงกายอ่อนล้า… ซึ่งการทำ Good Time Journal จะทำให้เราเจาะลึกและค้นหา กิจกรรมหรือจังหว่ะชีวิตที่ใช่สำหรับเราให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เหลือพลังงานเพียงพอที่จะออกจากแรงโน้มถ่วงเดิมที่เราอยากทิ้งไว้ข้างหลัง
ใช่แล้วครับ… นี่คือการวิเคราะห์ To Do List เพื่อตัดแต่งสาระในกิจกรรมที่เราต้องทำ… ควรทำ และไม่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้น…
จริงอยู่ว่า… กิจกรรมบางอย่างจำเป็นต้องทำต่อไป แม้ Engagement ของเราจะต่ำมาก และยังต้องทุ่มเทสรรพกำลังเข้าใส่มหาศาล แบบ Engagement ก็ Low แล้ว…ฝั่ง Energy ก็ Nagative สุดๆ… แต่ข้อดีก็คือ… การประเมินเจอขั้นละเอียดแบบนี้ มักจะพาเราไปตามหาอะไรมาทดแทนได้เสมอในท้ายที่สุด… ขอเพียงให้มอง “ความจำเป็นที่ต้องทนทำ” เป็นเรื่องท้าทาย มากกว่าจะมองอย่างท้อแท้สิ้นหวัง
ในทางตรงกันข้าม… กิจกรรมบางอย่างที่อาจจะดึงดูดเราให้มี Engagement ไม่สูงมาก แต่เรากลับใช้พลังน้อยนิดก็สะสางผ่านพ้นอย่างราบรื่น ก็น่าสนใจที่จะโฟกัสที่อาจใช้เป็นแนวทางไปสู่สมดุลย์ใหม่ตามเป้าหมายก็ได้
ที่ต้องระมัดระวังก็คือ… กิจกรรมที่ดึงดูดเราให้ Engagement โดยไม่เสียพลังงานมากมายอะไร… เป็น Activity ที่คนอื่นใช้พลังขับเคลื่อนให้เราหรือไม่… ซึ่งถ้าเราลื่นไหลสุดๆ กับกิจกรรมที่คนอื่นทุ่มเทพลังให้เราดื่มด่ำ… จงรู้ไว้ว่า ท่านกำลังดื่มด่ำอยู่กับความพยายามของคนอื่น และวันหนึ่งมันจะหายไปโดยไม่ต้องมีเหตุผลก็ได้… และนักออกแบบชีวิตที่ดีจะต้องหลีกเลี่ยง!!!
หัวใจสำคัญของการค้นหาความสุขอันลื่นไหล ที่ไม่ทำลายสมดุลย์ 4 ด้านทั้งสุขภาพ การงาน สันทนาการและรัก… จะได้จากการสังเกตุตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างรอบคอบ ที่หมายถึงไม่รีบร้อน ไม่ตัดสินด้วยการประเมินกิจกรรมของเราเพียงครั้งหรือสองครั้ง ที่เหตุการณ์เดียวกันหรือกิจกรรมทำนองเดียวกัน แต่เกิดต่างเวลาและต่างบริบท ก็มักจะสร้าง Engagement และดึงดูดพลังงานไม่เท่ากัน… เหมือนเรากินข้าวร้านเดิม เมนูเดิมต่างฤดูกัน ก็ไม่น่าจะรู้สึกเหมือนกันทั้งหมด… ที่สำคัญที่สุดคือให้จริงใจกับตัวเองให้มาก
ในหนังสือ Designing Your Life แนะนำให้ทำ Good Time Journal อย่างน้อย 3 สัปดาห์… โดยช่วงสุดสัปดาห์ควรทบทวนเพื่อโฟกัสเหตุการณ์หรือกิจกรรมสำคัญๆ และประเมินซ้ำก็ได้… โดยเฉพาะเรื่องงานที่บางวันอาจจะดี หรือบางวันอาจจะแย่ แต่รวมๆ ทั้งสัปดาห์อาจจะไม่เลวร้ายนัก ซึ่งหลายครั้งอาจจะพบว่า วันที่งานออกมาแย่ เพราะมีเงื่อนไขเดียวกันซ้ำๆ ก็ได้ และนั่นคือข้อมูลสำคัญที่เราจำเป็นต้องใช้ในการออกแบบชีวิตเวอร์ชั่นล่าสุดเสียใหม่
ตอนหน้ามาเรียนรู้วิธีสร้างแผนที่ความคิด เพื่อพาเราออกจากสมดุลย์เดิมและ Comfort Zone ที่กลายเป็นกับดักขังเราไว้ตรงนั้น!
โปรดติดตามครับ!
Resource
http://designingyour.life/wp-content/uploads/2016/08/DYL-Good-Time-Journal-Activity-Log-v21.pdf