Food Test

ชุดทดสอบสารเคมีในผัก ผลไม้ และธัญพืชโดยองค์การเภสัชกรรม #SaturdaySME

“สารพิษตกค้าง” ถือเป็นประเด็นปัญหาที่มีมิติกว้างและลึก อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารและการเกษตร ที่ความเชื่อกับความจริง แค่แยกแยะว่าเชื่อมาถูกหรือเชื่อมาผิดๆ ก็แยกได้ถูกๆ ผิดๆ จนมั่วไปหมด เหตุนี้เอง ความเชื่อของผู้บริโภคจึงเป็นงานของนักขายและนักการตลาด ซึ่งหลายครั้งผู้บริโภคเลือกผักที่ใบ “มีรอยคล้ายแมลงศัตรูพืชแทะ” แทนที่จะเลือกผักใบสวยรากสะอาด ที่ปลูกแบบกางมุ้งในฟาร์มไฮโดรโฟนิค ทั้งๆ ที่ “รอยคล้ายแมลงศัตรูพืชแทะ” บนใบ อาจจะประดิษฐ์ขึ้นจากเทคนิคขั้นเทพโดยเกษตรกรนักจิตวิทยาการตลาด ที่รู้จัก “จริต” หรือ “Insight” ผู้บริโภคอย่างดีก็ได้

ตลาดค้าส่งผักผลไม้ระดับชาติอย่างตลาดไท จึงจัดให้มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารตกค้างภายในพื้นที่ตลาด เพื่อให้ผู้ค้าในตลาด ใช้อ้างอิงคุณภาพประกอบการค้าขายแบบพึ่งพาวิทยาศาสตร์มากกว่าความเชื่อ

ผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ThaiPAN ให้ข้อมูลว่า… จากการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ ตั้งแต่ 25 มีนาคม – 5 เมษายน 2562 ณ ห้างโมเดิร์น เทรดชั้นนำ รวมไปถึงตลาดสดในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอีก 15 แห่ง… โดยแบ่งเป็นผัก 15 ชนิด ชนิดละ 12 ตัวอย่าง ยกเว้นกระเทียมจีน เก็บ 10 ตัวอย่าง รวม 178 ตัวอย่าง เช่น กวางตุ้ง คะน้า กะเพรา พริก กะหล่ำดอก ผักชี มะเขือเปราะ เป็นต้น และผลไม้อีก 9 ชนิด ชนิดละ 12 ตัวอย่าง รวม 108 ตัวอย่าง เช่น ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง องุ่น มะละกอสุก แก้วมังกร แอปเปิล มะม่วงสุก และกล้วยหอม รวมทั้งสิ้นเป็นผักและผลไม้จำนวน 287 ตัวอย่าง ก่อนจะส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ที่อังกฤษ

ผลการวิเคราะห์พบว่า… ในผัก 178 ตัวอย่าง พบสารเคมีตกค้างกว่า 40% หรือ 72 ตัวอย่าง โดยพบสารตกค้างเกินมาตรฐาน 16% และพบสารตกค้าง “แต่ไม่เกิน” มาตรฐานอีก 44% พบในผลไม้นำเข้า 33.3% และผักผลไม้ผลิตในประเทศ พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 48.7% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง… ส่วนสารเคมีตกค้างที่ตรวจพบ สารฆ่าเชื้อรา สารไซเปอร์เมทริน สารอิมิดาคลอร์ฟริด สารเอซอกซิสโตรบิน และสารคลอร์ไพริฟอส รวมทั้งสารคาร์เบนดาซิม และ สารเมทามิโดฟอสคาร์โบฟูรานด้วย

พิษและผลกระทบจากสารเคมีในรายชื่อผมขอข้ามไปน๊ะครับ… ในชั้นนี้ขอให้ทราบว่า เคมีเหล่านี้ “ตกค้างและเป็นพิษ” ในผักผลไม้และไม่ควรต้องกินเข้าไป

ซึ่งผมจะข้ามไปพูดถึงวิธีการและเทคนิคการทดสอบการปนเปื้อน เพื่อใช้เป็นความรู้พื้นฐานในการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับผักผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือพ่อค้าแม่ค้าและกิจการผักผลไม้ จนถึงผู้ประกอบการร้านอาหารรวมทั้งผู้บริโภคด้วย… โดยวิธีการและเทคนิคการทดสอบการปนเปื้อนสารเคมี ก็ต้องใช้ความรู้และเครื่องมือของนักเคมี ซึ่งประเทศไทยมีหน่วยงานที่ให้บริการตรวจรับรองทางเคมีที่เป็นมาตรฐานได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งคนทำธุรกิจอาหารและยา ที่ต้องขอเลข อย. เพื่อใช้ทำธุรกิจคงรู้จักกันดี ซึ่งหน่วยงานอย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังให้บริการทดสอบทางเคมีหลายๆ แบบ เพื่อหลากหลายวัตถุประสงค์ และมีสาขาอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ประเด็นก็คือ การใช้บริการ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีเวลาและค่าใช้จ่ายหลายพันบาทจนถึงหลักหลายหมื่นบาทในบางกรณี การใช้บริการจึงเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นต้องมีผลตรวจจากสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไปประกอบเอกสารสำคัญเท่านั้นจึงคุ้มค่าที่จะใช้บริการ… ในขณะที่การตรวจยืนยันทั่วไปว่าผักผลไม้หรืออาหารปนเปื้อนที่หมุนเวียนในตลาด อย่างกรณีของตลาดไท การรอผลทดสอบนานเกินไปคงไม่มีความหมายกับธุรกิจการค้าแต่อย่างใด… ถ้าไม่ขายหมดไปก่อนก็คงเน่าไปก่อนอยู่ดี

องค์การเภสัชกรรมจึงได้พัฒนา ชุดตรวจคัดกรองสารเคมีกำจัดแมลงในผักผลไม้และธัญพืช ที่จำเป็นต่อการตรวจยืนยันสารพิษตกค้างขึ้นจำหน่าย พร้อมปล่อยวิดีโอสาธิตการใช้งานเผยแพร่ทาง YouTube สอนการใช้งานชุดทดสอบและการแปลผลการทดสอบให้ด้วย

โดยชุดทดสอบที่องค์การเภสัชกรรมพัฒนาขึ้น แบ่งเป็นชุดทดสอบชุดเล็ก ชื่อ GPO-M Kit ชุดตรวจหาชนิดสารเคมีกำจัดแมลงในผักผลไม้และธัญพืช 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และกลุ่มคาร์บาเมต… และชุดทดสอบชุดใหญ่ ชื่อ GPO-TM Kit ชุดตรวจหาชนิดสารเคมีกำจัดแมลงในผักผลไม้และธัญพืช 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มคาร์บาเมต กลุ่มออร์กาโนคลอรีน และกลุ่มไพรีทรอยด์

ซึ่งชุดตรวจทั้งสองชุดเพียงพอที่จะทดสอบการปนเปื้อนทั่วไปได้อย่างดี… ส่วนการทดสอบขั้นสูงกว่านั้น จำเป็นต้องพึ่งห้องปฏิบัตการณ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วครับ… หรือไม่ก็ส่งห้องปฏิบัติการเอกชนที่เชื่อถือได้ทั้งในและต่างประเทศแล้วแต่กรณี 

ประเด็นก็คือ… เมื่อธุรกิจต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าและผู้บริโภค การพาลูกค้าข้าม “ความเชื่อ ไปถึง ความเชื่อมั่น” ถือเป็นพันธกิจหนึ่งของธุรกิจอาหาร ยาและเครื่องสำอางค์ ที่การกล่าวอ้างในกิจกรรมทางการตลาด โดยไม่เป็นวิทยาศาสตร์ หลายกรณีกลายเป็นจุดอ่อนของธุรกิจมากกว่าจะเป็นจุดแข็ง… ยิ่งธุรกิจของท่านลงทุนลงแรงไปกับความปลอดภัยและปลอดการปนเปื้อนของสินค้าอย่างดีอยู่แล้ว การใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ Confirm หรือยืนยันสินค้ายิ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

ส่วนการตัดสินใจขั้นต้องทดสอบหรือไม่ แค่ไหนและอย่างไร… ผมถือว่าเป็นกลยุทธ์มากกว่าจะเป็นเทคนิควิทยาศาสตร์… แต่ที่แน่ๆ ศึกษาไว้เถอะครับ อย่าละเลย เดี๋ยวโฆษณาขายผักปลอดสาร ซึ่งบอกที่มาที่ไปและเรื่องปลอดภัยไร้พิษแบบไม่มีรายละเอียดที่ถูกต้อง… เดี๋ยวงานงอกไม่รู้ด้วย

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts