กระแสด้านสิ่งแวดล้อมในวงการธุรกิจและการจัดการในปัจจุบัน ได้กลายเป็นกระแสหลักที่นับวันก็จะเข้มข้น และ ใช้แข่งขันต่อรองผ่านมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ ที่มุ่งกีดกันสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และ ยังถูกใช้เป็น “เครื่องมือกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีการค้า” ในหลายประเทศ ที่ใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อมมาเป็นกลยุทธ์ในการเจรจาต่อรองต่อรองทางการค้า ซึ่งดูเหมือนครั้งนี้จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้จริงกว่าครั้งไหนๆ โดยมีความเคลื่อนไหวของเกือบทุกชาติในยุโรปรวมทั้งญี่ปุ่น เร่งพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Environment Friendly Products หรือ Eco-Products กันอย่างคึกคัก… ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้เองที่นำไปสู่การจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ของโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้การจัดซื้อแบบกรีน Green Purchasing หรือ Green Procurement… ซึ่งหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษจากภาคอุสาหกรรม และ แหล่งที่มาของผลกระทบต่อโลกร้อนและโลกรวน ต่างเชื่อว่าจะช่วยโลกใบนี้ได้อย่างจริงจังและหวังผลได้
การจัดซื้อแบบกรีน หรือ Green Purchasing ซึ่งเป็นการจัดซื้อที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Environmentally Preferable Purchasing หรือ EPP จะเป็นกระบวนการในการเลือก และ ทำให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการ ที่มีผลให้เกิดผลกระทบในเชิงลบด้านสิ่งแวดน้อยที่สุดตลอดวงจรอายุ หรือ Life Cycle ของการผลิต การขนส่ง การใช้ และ การนำกลับไปใช้ใหม่… รวมไปถึงการกำจัดด้วย
ในทางเทคนิค… การจัดซื้อแบบกรีน หรือ Green Purchasing จะเป็นการ “ต่อรอง” ผ่านกระบวนการจัดซื้อภายใต้เงื่อนไขพิจารณาที่อ้างถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ ความยั่งยืนเป็นหลัก โดยเฉพาะการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และ การทำสัญญาธุรกิจแบบ B2B ที่ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองเหนือการเจรจาค่อนข้างมาก… ซึ่งหลายองค์กรได้ใช้ Green Purchasing เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เหนือการแข่งขัน หรือ Competitive Advantage ที่ทำให้องค์กรผู้ซื้อ และหรือ ประเทศผู้ซื้อสามารถเข้าไปจัดการห่วงโซ่อุปทานได้มากกว่าที่เคยเป็นมาในหลายๆ กรณี
ส่วนการพัฒนากลยุทธ์เพื่อนำใช้เงื่อนไขการค้าแบบ Green Purchasing นั้น… ในทางปฏิบัติจะเป็นการนำใช้ “มาตรฐานผลิตภัณฑ์” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรูปแบบต่างๆ ในทุกตัวแปรภายใต้ห่วงโซ่อุปทานนั่นเอง… ที่เหลือก็แค่เชิญ Supplier มารับคำชี้แจงครับ!
References…