การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมตาม “ระบบเศรษฐกิจเส้นตรง หรือ Linear Economy” ที่มีการนำทรัพยากรมาใช้จำนวนมากเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ ส่งต่อให้ผู้บริโภคนำไปใช้งาน และ ทิ้งเป็นขยะหลังเลิกการใช้งานแล้วโดยไม่นำกลับมาใช้ใหม่… ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมาก ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และ การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาขยะและของเสียที่มีเพิ่มมากขึ้น
แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของภาครัฐและเอกชนในปัจจุบัน สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และ สังคมโดยรวม เนื่องจากเศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งเน้นที่การนำวัตถุดิบที่เหลือทิ้ง และ ผลิตภัณฑ์พลอยได้ รวมทั้งของเสียจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำตามสภาพ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้อย่างสูงสุด
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จึงเสนอให้จัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานที่ผลิตสินค้าตั้งอยู่รวมกันจำนวนมาก การสร้างต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในพื้นที่ ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบ และ ลดต้นทุนในภาคการผลิต ลดของเสีย รวมถึงช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ เพิ่มผลิตภาพการผลิตของประเทศ ทั้งในปัจจัยการผลิตและแรงงาน… และหวังผลการนำต้นแบบอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น ไปขยายผลในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คาร์บอนต่ำและยั่งยืน
ต้นแบบอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คาร์บอนต่ำและยั่งยืนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการความร่วมมือระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ กับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยร่วมกันพัฒนาชุดวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลอยได้ จากอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เผยแพร่ในฐานข้อมูล Circular Exchange เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม และ ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้
ในเบื้องต้น… โครงการตั้งเป้าที่จะนำเสนอข้อมูลการใช้เทคโนโลยีของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างน้อย 20 แห่ง ในแพลตฟอร์ม Circular Exchange โดยคาดหมายให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรม และ ชุดข้อมูลวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และ ผลิตภัณฑ์พลอยได้ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นอกจากนั้น… องค์ความรู้และฐานข้อมูลเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึง แลกเปลี่ยนและแบ่งปัน ยังสามารถใช้บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ในการกำหนดเป้าหมายและการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละองค์กร หน่วยงาน ทั้งในเชิงพื้นที่และระดับประเทศ และ ช่วยลดต้นทุน… เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย และ เพิ่มโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คาร์บอนต่ำและยั่งยืน
References…