สังหรณ์กับกึ๋น… คือคำสองคำที่อยู่ในกลไกการตัดสินใจของหลายๆ คน โดยที่เจ้าตัวมักไม่อยากให้ใครรู้ว่า ตัวเองใช้สังหรณ์หรือใช้กึ๋นช่วยตัดสินใจ หรือไม่ยอมแม้แต่จะแสดงท่าทีให้คนอื่นรู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองกำลังหันหลังให้ตรรกะและเหตุผลในการตัดสินใจหรือกำหนดท่าที จนมีอาการแปลกๆ ในสายตาคนอื่นก็มี… และยิ่งกว่านั้น หลายคนตัดสินใจด้วยสังหรณ์หรือกึ๋น แล้วค่อยหาเหตุผลเป็นคุ้งเป็นแควมาอธิบายกลไกเงื่อนไขการตัดสินใจทีหลังก็มีบ่อยๆ
ลองนึกภาพงานเลี้ยงประจำปีขององค์กรที่จ้างงานคน 2–30,000 คน แล้ว CEO ขึ้นเวทีประกาศว่า… “ผมสังหรณ์ว่าจะเกิดโรคระบาด แล้วโควิด–19 ก็เกิดอย่างที่ผมสังหรณ์จริงๆ” คนฟังในงานเลี้ยงคงไม่สรรเสริญ CEO ท่านนี้ทุกคนแน่ๆ แม้ว่า “สังหรณ์” ที่กล่าวอ้าง จะนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญระดับพาองค์กรและทุกคนในที่นั้น รอดวิกฤตมาอย่างชิวที่สุดก็ตาม
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… สังหรณ์กับกึ๋นเป็นสิ่งที่คนๆ หนึ่งมีอยู่ในตัวและเป็นปฏิกิริยาการตัดสินใจอัตโนมัติ… ในสังคมไทยเอง คำว่า “กึ๋น” ถือเป็นทักษะส่วนบุคคลที่ให้ภาพและความรู้สึกใกล้เคียงกับพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่เกิด ส่วนคำว่า “สังหรณ์” ยิ่งเป็นอะไรที่ลึกลับเหลือเชื่อเข้าขั้นศักดิ์สิทธิ์และนิพพานก็มีในหลายกรณี
Carl G. Jung นักจิตวิทยาชาวสวิส ที่พัฒนางานร่วมสมัยกับ Sigmund Floyd ได้เอ่ยถึง Human Sensing หรือประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส… แล้วยังพูดถึง Intuition เอาไว้อย่างสำคัญในทฤษฎีของ Carl Jung
Intuition มาจากคำว่า Tuition หรือ ติว หรือ สอนนั่นเอง… และเติม Prefix หรือคำนำหน้า In เข้าไปก็จะได้ความหมายตรงกันข้ามที่แปลว่า ไม่ต้องสอน… แต่ความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้นจะแปลได้ถึง… การรับรู้โดยที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าแทบไม่ได้ตื่นตัวรับรู้อะไรเลยก็เป็นได้… และ Carl G. Jung ถือว่า Intuition เป็นสัมผัสอย่างหนึ่งที่มนุษย์มีอยู่ทุกคน
ในทางวิทยาศาสตร์… Intuition มีที่มาจากประสบการณ์ในอดีตของเรา ซึ่งคนที่ใช้ Intuition บ่อยๆ จนเกิดความชำนาญจะมีทักษะในการมองหารูปแบบ หรือ Patterns เดิมๆ ที่ซ่อนอยู่ในเหตุการณ์ใหม่ โดยสมองส่วนหน้าของเราจะเทียบประสบการณ์และข้อมูลเดิมอย่างรวดเร็ว และให้แนวทางของคำตอบหรือให้คำตอบโดยอัตโนมัติ… ซึ่งความเร็วในการประมวลผลของสมองในหลายๆ กรณี อาจจะเร็วจนเจ้าตัวเองก็ไม่รู้สึกว่าสมองได้ทำงานจนสิ้นขบวนการไปแล้ว
ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นตรงที่… มนุษย์ถูกสอนให้มีเหตุผลและใช้ตรรกะยืนยันความถูกต้องแทบจะทุกอย่าง และเหตุผลกับตรรกะ ก็สามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะมีที่มาที่ไปชัดเจน… การใช้ กึ๋น หรือ Intuition หรือสังหรณ์จึงกลายเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อถือ และหลายกรณีก็ผิดพลาดให้ไม่น่าเชื่อถือได้จริงๆ เสียด้วย… เหตุนี้จึงมีคำเรียกในการใช้กึ๋น หรือ Intuition หรือสังหรณ์ หรือแม้แต่สัญชาตญาณที่หาเหตุผลได้บ้างไม่ได้บ้างรวมกันว่า… Gut Feeling
บทความเรื่อง Is it rational to trust your gut feelings? A neuroscientist explains ของ Valerie van Mulukom นักจิตวิทยาจาก Coventry University พูดถึง Intuition หรือ Gut Feelings ว่าเป็นผลของการทำงานของสมองที่ผ่านการประมวลผลอย่างมหาศาล… และยืนยันจากผลการวิจัยและทดสอบมากมายว่า… สมองคนเราคือ Predictive Machine หรือ เครื่องทำนายที่ยอดเยี่ยมที่สุด
โดยเฉพาะเมื่อสมองรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสมาประมวลผล และคาดเดาสิ่งที่จะเกิดต่อจากนั้นแทบจะทันที
Guts Feeling หรือ กึ๋นในภาษาไทย จึงมีที่มาจากประสบการณ์และความสามารถในการประมวลผลของสมองนั่นเอง… แหละเชื่อเถอะว่า คนเราใช้กึ๋นพอๆ กับใช้เหตุผลและอารมณ์นั่นแหละ ซึ่งหลายครั้ง กึ๋น หรือ Guts Feeling ก็มีตรรกะและเหตุผลของมันอยู่แล้ว… เพราะทั้งหมดนั่นมาจากสมองและประสบการณ์เดิมในตัวนั่นเอง
ประเด็นจึงเหลือเพียงว่า… ประสบการณ์ที่เรามี สร้างกึ๋นได้เข้าท่าแค่ไหน?
เท่านั้นเอง!
อ้างอิง