Gut Feeling

Gut Feelings And Decision Making… กึ๋นกับการตัดสินใจ #SelfInsight

ในทางชีววิทยา… นักวิทยาศาสตร์หลายสาขา ได้อธิบายความสัมพันธ์ของสมองและระบบทางเดินอาหาร หรือ สมองกับกึ๋น หรือ Brain-Gut Connection ซึ่งพบการสื่อสารเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนที่เรียกว่า Brain-Gut Axis ซึ่งมีการสื่อสารและทำงานร่วมกันระหว่างระบบประสาทและฮอร์โมน เพื่อนำคำสั่งจากสมองมายังทางเดินอาหาร… โดยในทางเดินอาหารเอง ยังมีระบบประสาทภายในของตัวเองเรียกว่า Enteric Nervous System หรือ ENS ซึ่งควบคุมการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เป็นอิสระจากการสั่งงานโดยสมองอย่างชัดเจน… ถึงแม้ว่า Gut จะสื่อสารกับ Brain แบบ Bidirectional Communications หรือสื่อสารสองทางอยู่… แต่ก็เป็นการสื่อสารเชิงข้อมูลแบบ “แจ้งทราบ” มากกว่าจะสั่งการกัน

ปกติถ้ามีใครพูดถึง Brain-Gut Axis ถ้าไม่ออกท่าเข้มข้นมาแบบชีววิทยาเนื้อๆ ก็มักจะพูดถึง Probiotics หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในระบบทางเดินอาหารเพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากกว่า

แต่หัวข้อวันนี้เป็น Gut Feeling ซึ่งสัมพันธ์กับการตัดสินใจหลายอย่างที่มนุษย์ส่วนใหญ่ ทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ แบบเทเงินพันสองพันล้านไล่เก็บหุ้นที่กำลังแดงทั้งกระดาน โดยใช้เพียงกึ๋น หรือ Gut หรือ Gut Feeling มากกว่า…

งานค้นคว้าตีพิมพ์เรื่อง Head, Heart, and Gut in Decision Making: Development of a Multiple Brain Preference Questionnaire โดย Grant Soosalu และคณะ ซึ่งได้รีวิววรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย จนพบนัยยะของการตัดสินใจ และ กลไกการตัดสินใจ… อันมีธรรมชาติที่ต้องใช้มากกว่า “ความรู้ กับ ความเข้าใจ” ซึ่งในทุกๆ การตัดสินใจของทุกคนนั้น ยังมี “อารมณ์ และ สัญชาตญาณ” อยู่ร่วมการตัดสินใจด้วยเสมอ… นั่นทำให้ข้อเท็จจริงที่ว่า การตัดสินใจเกิดขึ้นโดยมีการวิเคราะห์บนความรู้ความเข้าใจของสมอง ร่วมกับอารมณ์ความรู้สึกจากใจ แล้วยังต้องใช้สัญชาตญาณจากกึ๋นร่วมตัดสินด้วยเสมอ

ประเด็นก็คือ… อะไรที่เคยผ่านการตัดสินใจไปแล้ว ก็จะกลายเป็นประสบการณ์ หรือ กลายเป็น Systems 1 ตามแนวคิด หรือ ทฤษฎีการตัดสินใจแบบสองขั้นตอน หรือ Dual Processing Theory ซึ่งอธิบายกลไกการตัดสินใจที่มีอยู่ 2 ระบบหลัก คือ Intuitive หรือ System 1 หรือ กลไกตอบสนองอย่างเร็ว… กับ Analytical หรือ System 2 หรือ กลไกวิเคราะห์ไตร่ตรอง

ใน System 2 ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของข้อมูลความรู้และสติปัญญา ซึ่งมีเพียงสมองที่ทำงานแบบนั้นได้… แต่ธรรมชาติของสมองเองที่สื่อสารกับระบบอื่นๆ ในร่างกายตลอดเวลา โดยเฉพาะการสื่อสารบน Brain-Gut Axis ซึ่งมีกลไกสัญชาตญาณ ที่รวบรวมประสบการณ์เอาไว้ในแบบที่เรียกใช้ได้ง่ายและเร็ว… โดยหลักๆ ก็จะมีอยู่ 4 รูปแบบคือ

1. Body / Physical Intuition หรือ สัญชาตญาณทางกาย… กลไกระดับสัญชาตญาณรูปแบบนี้ มักจะปรากฏเป็นเหมือนพรสวรรค์ หรือ ลางสังหรณ์ หรือ ความหวาดระแวง ที่ให้ข้อมูลสนับสนุนหรือขัดแย้งการตัดสินใจของ System 2

2. Sensual / Emotional Intuition หรือ สัญชาตญาณทางอารมณ์… สัญชาตญาณรูปแบบนี้จะมาจากอารมณ์ความรู้สึกประเภท ขึ้นลงไหวอ่อนไปตามอารมณ์โดยไม่ต้องหยุดคิด… รวมทั้งความสับสนกระวนกระวายแบบไม่ทราบสาเหตุชัดเจนทั้งหลายที่เรียกว่า “ใจคอไม่ดี” อะไรประมาณนั้น

3. Intellectual Intuition หรือ สัญชาตญาณโดยเชาว์ปัญญา… โดยกลไกสัญชาตญาณรูปแบบนี้จะมาจากความรู้และประสบการณ์ที่ตกผลึกระดับเชี่ยวชาญที่สะสมมายาวนาม ระดับผ่านหูหรือปลายตาเห็นก็บอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไปจนถึงขั้นสังหรณ์และนิมิต หรือ Premonition โน่นเลย

4. Social Intuition หรือ สัญชาตญาณจากประสบการณ์ทางสังคม… เป็นสัญชาตญาณที่มาจากความเชื่อ หรือ ประสบการณ์ตรงที่จดจำและเข้าใจผ่านสังคมสิ่งแวดล้อม เหมือนเคยถูกโกงจากคนถิ่นนี้มาก่อน ก็ไม่ชอบและไม่เสวนากับคนถิ่นนี้ หรือเซ็งคนใส่เครื่องแบบชุดนี้มาตั้งด่าน ก็สามารถเกลียดเหมาหมดทุกคนที่ใส่ชุดนี้เป็นต้น

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… คำว่า Gut Feeling ในการตัดสินใจนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้หมายถึงกลไกการตัดสินใจจากกะเพาะอาหารหรือลำไส้แต่อย่างใด… แต่ Gut Feeling ในกลไกการตัดสินใจ “จะมีรูปแบบการป้อนข้อมูลโดยสัญชาตญาณ” แบบเดียวกับกลไกทางประสาทของระบบทางเดินอาหาร หรือ Gut เท่านั้นเอง

ซึ่งต้องฟัง! แต่ต้องฟังอย่างระมัดระวัง… เพราะ Gut Feeling ในมุมมองเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจนี้ ถือเป็น “ข้อมูลเดิม และ ประสบการณ์เก่า” ที่มีอยู่เดิมและแสดงปฏิกิริยาออกมา โดยอาจจะถูกต้อง หรือถูกเพียงบางส่วน หรือผิดหมดเลยในช่วงเวลานี้ก็ได้

แต่การใช้ข้อมูลปัจจุบัน หรือ ข้อมูลใหม่ หรือ ข้อมูลที่วิเคราะห์ขึ้นใหม่ในการตัดสินใจ… ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังเช่นกันครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts