ความหวัง หรือ Hope เป็นทัศนคติเชิงบวกจากประสบการณ์ส่วนตัวของคนๆ หนึ่ง ซึ่งมาจากสิ่งที่คิดและสิ่งที่เชื่อ รวมเข้ากับบุคลิกภาพส่วนตัว รวมทั้งสภาพแวดล้อมของคนๆ นั้นเข้าด้วยกัน… ซึ่งความหวังจะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจและติดตามคนๆ นั้นไปทุกหนแห่ง แม้ในยามที่สภาพแวดล้อมแทบทุกอย่างรอบตัว จะเลวร้ายดำมืดอยู่คนละด้านกับความหวัง… ความหวังที่มีอยู่ภายในก็จะยังให้พลังงานแก่ร่างกายและจิตใจต่อไป… โดยทั้งหมดจะเห็นเป็นความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายที่เต็มไปด้วยแรงจูงใจ และ เต็มไปด้วยเหตุผลพร้อมความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในอนาคต ที่ความหวังบอกให้เชื่อว่ามันจะดีขึ้น… ถึงแม้ภาพรวมในอนาคตจะยังขาดความแน่นอนมากแค่ไหนก็ตาม
Charles R. Snyder นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเปรียบเทียบความหวังเหมือนปริซึมสร้างสายรุ้งด้วยการหักเหแสงธรรมดาให้แลเห็นได้อย่างงดงาม… ความหวังในมุมมองของ Charles R. Snyder จึงถูกอธิบายว่าเป็น “สภาวะทางปัญญาเชิงบวกที่มีพื้นฐานมาจากความมุ่งมั่น และ การวางแผนแบบมุ่งเป้า” ซึ่งจะเป็นเหมือนภาพอนาคตที่วาดจากเป้าหมายในใจ ณ เวลาปัจจุบัน
ความหวังในนิยามของ Charles R. Snyder และ คณะ จึงถูกอธิบายว่าเป็นความแข็งแกร่งของมนุษย์ที่ค้ำจุนชีวิตจิตใจ ภายใต้องค์ประกอบการคิดแตกต่างกัน 3 รูปแบบที่เชื่อมโยงถึงกันได้แก่
- Goals Thinking หรือ การคิดมุ่งเป้า… ซึ่งจะเป็นการคิดที่ถูกกำหนดเงื่อนไขเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างชัดเจน
- Pathways Thinking หรือ การคิดหาหนทาง… ก็จะเป็นความสามารถในการคิดหาและกำหนดกลยุทธ์เพื่อการบรรลุเป้าหมาย อันประกอบด้วยรายละเอียดเรื่องทิศทางและแนวทางพร้อมเงื่อนไข
- Agency Thinking หรือ การคิดอย่างอิสระ… โดยจะเป็นการคิดริเริ่มเพื่อพัฒนาแรงจูงใจตามจิตวิทยาส่วนตัว และ พัฒนากลไกสนับสนุนชุดความคิดที่ใช้ขับเคลื่อนแรงจูงใจทั้งหมดให้คงอยู่
ศาสตร์ที่ว่าด้วยความหวังถือเป็นจิตวิทยาแขนงใหญ่ที่มีการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในทางการแพทย์ โดยเฉพาะการใช้เป็นเครื่องมือจิตบำบัด ทั้งเพื่อบำบัดอาการทางจิตโดยตรง และ เพื่อช่วยประคับประครองระหว่างการรักษาความเจ็บป่วยทางกาย ที่ทำลายความเชื่อมั่นและสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ป่วย… ถึงแม้ในระยะหลังๆ จะมีข้อโต้แย้งมากมายที่คัดค้านการ “สร้างความหวังเลื่อนลอย” ให้คนไข้ก็ตาม
ประเด็นก็คือ… ความหวังเป็นทักษะทางปัญญาที่ทุกคนมีอยู่กับตัวแทบจะไม่ต่างกัน แต่ทักษะการใช้ความหวังทั้งเพื่อกำหนดเป้าหมาย… คิดหาหนทางสู่เป้าหมาย และ พัฒนาความหวังอย่างสร้างสรรค์ เพื่อถักทออนาคตเป็นภาพและผลักดันขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายตามที่เห็นภาพจากความหวัง ซึ่งมักเป็นสีสันสวยงามดั่งสายรุ้งที่ออกจากปริซึม โดยปลดปล่อยแสงสีให้ทุกๆ ย่านคลื่นความถี่ได้เผยความลับของพลังที่ซุกซ่อนออกมาเป็นภาพจริงตรงหน้า
สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ… การใช้ความหวังหลอกลวงตัวเองโดยหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนอยู่ต่อหน้าไปแล้ว ซึ่งถ้าเชื่อมั่นและศัทธาความหวังด้วยเหตุและผลอย่างมั่นคง ถึงแม้จะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ก็แล้วไป… เพราะกรณีเชื่อมั่นหมดใจมักไม่มีความขัดแย้งสับสน ให้เห็นเป็นปัญหาทางจิตวิทยากับเจ้าตัวเท่าไหร่… แต่ถ้าใช้ความหวังลวงตัวเองท่ามกลางความหวั่นไหวและจิตใจร้อนรน เพราะความเชื่อซึ่งติดอยู่กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่นั้น เกิดขัดแย้งกันเอง… กรณีนี้คงต้องกลับไปเริ่มที่ Goals Thinking หรือ ความคิดมุ่งเป้าให้อยู่ในทิศทางเดียวกับความเชื่อมั่นศัทธาก่อน… แล้วความหวังจะก่อตัวเป็นทัศนคติเชิงบวกให้อีกครั้ง
แต่ได้โปรดอย่าสับสนระหว่างความหวัง หรือ Hope ซึ่งเป็นของส่วนตัว กับ ความคาดหวัง หรือ Expectation ซึ่งเป็นความประสงค์ที่เกี่ยวพันกับคนอื่น… อันหลังนี่ก็เป็นจิตวิทยาแขนงใหญ่อีกเรื่องหนึ่งเหมือนกัน!!!
References…