F1 Grand Prix

High-Performance Teams… พัฒนาอย่างไรให้เหนือชั้น… #ExtremeLeader

ในองค์กร หรือ หน่วยงาน หรือ คณะทำงาน… ซึ่งมี “คนจำนวนหนึ่งมารวมตัวกันเป็นทีม” เพื่อทำภาระกิจบนวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน โดยสมาชิกทีมต่างก็มีที่มาเฉพาะตน และ มีที่ไปเฉพาะตน หลากหลายแตกต่าง แต่ต้องมาทำงานร่วมกันเพราะหน้าที่ หรือโชคดีหน่อยก็มารวมกันเพราะความเชื่อคล้ายกัน หรือโชคร้ายกว่านั้นก็มารวมกันเพราะเหลือตัวเลือกเดียวให้แต่ละคนพอมีอะไรทำแต่ต้องทำด้วยกัน

ประเด็นก็คือ… ทุกทีมที่มีคนมารวมตัวกันเพื่อทำอะไรก็แล้วแต่ ทุกการรวมตัวเป็นทีมจะหมายถึง “พลัง” ที่ถูกสานขึ้นจากทุกคน และ บ่อยครั้งที่การสานพลังรวมกันไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะแย่หนักถึงขั้นเกิดการ “ปะทะกันเองของพลัง” ระหว่างสมาชิกแต่ละคน… โดยไม่เหลือพลังจะไปพุ่งชนเป้าหมายไกลกว่านั้นได้อีก โดยจะเห็นเป็นสภาพ “มากคนก็มากความ” ทำให้มีคนบางกลุ่มที่มั่นใจในพลังของตนเองเลือกจะทำอะไรด้วยตัวคนเดียวเพื่อไม่ให้มนุษย์คนอื่นมาบั่นทอน “พลังระดับมุ่งมั่นในตัว” ที่มีอยู่ได้

คำถามคือ… พลังระดับมุ่งมั่นจากทุกคนในทีม สามารถ “รวมกัน” ขับเคลื่อนเป็น “พลังระดับมุ่งมั่นของทีม” ได้หรือไม่?

ในหนังสือ The Wisdom of Teams: Making the High-Performance Organization โดย Jon R. Katzenbach และ Douglas K. Smith ได้เปิดประเด็น High-Performance Teams ที่สมาชิกทีมเป็นมากกว่า “การร่วมแรงเพื่อทำตามคำสั่ง” ซึ่งไม่เพียงแต่สมาชิกทีมจะไม่ปล่อยพลังใส่กันเองเท่านั้น แต่สมาชิกทีมยัง “ทำหน้าที่ในทีมด้วยพลังระดับมุ่งมั่น ได้อย่างต่อเนื่องและทรงประสิทธิภาพ” โดยจะมีลักษณะเฉพาะของทีมหลายประเด็นที่แตกต่างจากทีมทั่วๆ ไป เช่น

  • สมาชิกทีมล้วนยึดมั่นและมุ่งมั่นต่อเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง
  • สมาชิกทีมล้วนท้าทายเป้าหมายด้วยความทะเยอทะยานยิ่งกว่าที่เชื่อกันว่าทีมจะสามารถทำได้
  • สมาชิกทีมล้วนแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน และ เข้าใจความรับผิดชอบส่วนของตนเองและส่วนของเพื่อนร่วมทีม ภายใต้ความผูกพันส่วนบุคคลที่ทรงพลังต่อเป้าหมายร่วมกัน
  • สมาชิกทีมล้วนใช้ความเชี่ยวชาญส่วนตน เสริมส่งความสามารถและความเชี่ยวชาญของสมาชิกในทีม
  • สมาชิกทีมล้วนรู้จักแบ่งปัน พึ่งพาอาศัย และ ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างสมาชิก

Professor Dr.Bruce Tuckman ในฐานะนักวิจัยด้านจิตวิทยาองค์กร ซึ่งสนใจและเชี่ยวชาญ Group Dynamics หรือ พลวัตกลุ่ม หรือ พลวัตทีม ได้พัฒนาโมเดลการพัฒนา High-Performance Teams เอาไว้ทั้งหมด 4 ระยะ คือ…

  1. Forming หรือ ฟอร์มทีม… โดยระยะนี้จะไม่เพียงแต่เป็นการ “รวบรวมคน” มาอยู่รวมกันเพื่อประกาศภารกิจและก็จ่ายงานแบ่งหน้าที่เพียงเท่านั้น… แต่จะให้ความสำคัญกับการทำความรู้จักองค์กร และ รู้จักเพื่อนสมาชิกในทีม ภายใต้การสนับสนุนจากฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งอาจจะต้องใช้เครื่องมือทาง HR อย่าง DISC Personality Test หรือ Myers-Briggs Assessments มาช่วยอธิบาย “ความแตกต่างหลากหลาย” ของเพื่อนร่วมทีม
  2. Storming หรือ ปั่นหัวทีม… ระยะนี้จะเป็นช่วงการโค้ชชิ่ง หรือ Coaching โดย Team Lead หรือ หัวหน้าทีม ด้วยกิจกรรมเสริมสร้างทีมที่ท้าทายทุกคนให้ถกเถียงขัดแย้ง โดยเฉพาะการเปิดทางให้พลังระดับมุ่งมั่นของแต่ละคนในทีมถูกปลดปล่อยและปะทะกันอย่างอิสระ เพื่อหารูปแบบการรับมือความขัดแย้งในทีม… ซึ่งเกิดขึ้นแน่นอนและเกิดได้เรื่อยๆ แต่ต้องมีเครื่องมือและแนวทางจัดการไว้กับทุกรูปแบบความขัดแย้ง
  3. Norming หรือ สร้างบรรทัดฐานให้ทีม… ในระยะนี้จะมีการสร้าง Team Culture หรือ ธรรมเนียมของทีมขึ้นร่วมกัน ซึ่งอาจรวมถึงกฏกติกาทั้ง “กรณีการประสานงาน และ กรณีการประสานงา” เอาไว้ และ ถ้าบรรทัดฐานทั้งหมด ไม่เหมาะสมกับทักษะและประสบการณ์ของสมาชิกทีม ก็จำเป็นจะต้องร่วมมือกับฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ หรือ HR เปิดโปรแกรมฝึกอบรมเพิ่มเติมขึ้น หรือ ไม่ก็ปรับสมาชิกที่ขาดทักษะประสบการณ์ที่เหมาะสมออกจากทีมไป
  4. Performing หรือ ลุยงานกันทั้งทีม… ระยะนี้เป็นขั้นการทำงานผลักดันเป้าหมายจริงร่วมกัน โดยจัดการความสัมพันธ์ผ่าน “เป้าหมายร่วม” ซึ่งนอกจากจะอ้างอิงบรรทัดฐานแล้ว ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดก็คือ การสื่อสารภายในทีม… ความโปร่งใสในหน้าที่ความรับผิดชอบ และ แผนดำเนินงานที่ชัดเจนด้วยเครื่องมือที่เสริมส่งพลังระดับมุ่งมั่นทั้งหมดที่ถูกปลดปล่อยออกมา

คร่าวๆ สั้นๆ ย่อๆ แบบ Elevator Pitch ประมาณนี้ครับสำหรับแนวทางการทำทีมบ้าพลัง หรือ High-Performance Teams ซึ่งจำเป็นต้องดีที่สุดเพื่ออยู่ในโลกที่ต้องแข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงหลายมิติ… ยิ่งถ้ารวมการแข่งขันกับคู่แข่งเข้าไปด้วยก็จะยิ่ง “ต้องดีกว่าอย่างที่สุด” โดยพัฒนาทีมให้เหนือกว่าและดีกว่าอย่างที่สุด… เท่านั้น!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts