Genius

Higher Order Thinking Skills… ทักษะนวัตกร #SkillsDevelopment

ในยุคที่ใครๆ ก็พูดถึงนวัตกรรมและของใหม่เจ๋งๆ ที่อยากให้เกิดกับมือ หรือ อยากให้เกิดใกล้ตัวจนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ซึ่งอะไรที่เกิดเป็นนวัตกรรม… นอกจากจะใหม่และเจ๋งมากตั้งแต่ต้นแล้ว อะไรที่เป็นนวัตกรรมของจริงก็มักจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งมักจะเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากอะไรที่เรียกว่า นวัตกรรมนั้นเสมอ

สูตรสำเร็จการสร้างนวัตกรรม หรือ แม้แต่แนวทางการพัฒนาคนให้เป็นนวัตกร จึงเห็นมีการพูดถึงมากมายในทุกวงการ โดยมีคุณสมบัติของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นนวัตกรต้นแบบ ถูกวิเคราะห์สังเคราะห์และถอดเป็นโมเดลของคนที่มีโอกาสจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้

โมเดลคุณสมบัติของบุคคลที่เชื่อกันว่าสามารถเป็นนวัตกรได้มีอยู่หลายโมเดล ซึ่งทุกโมเดลจะมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่หนึ่งประการเป็นอย่างน้อยคือ… ต้องเป็นคนฉลาดคิด

ประเด็นก็คือ… คิด หรือ Think เป็นทักษะของบุคคลที่ประมวลความรู้ด้วยสติปัญญาเพื่อหาทางทำ หรือ จัดการบางอย่างในแบบที่คนคิดได้และคิดเป็นเท่านั้นที่จะคิดออก

หลายวงการที่พูดถึงนวัตกรรมแต่ก็ไร้นวัตกร จึงเปลี่ยนมาพูดถึงการพัฒนานวัตกร แล้วค่อยไปตามหานวัตกรรมกันอีกที… โดยมีโมเดลการพัฒนานวัตกรในแนวทางการฝึกฝนและพัฒนาทักษะการคิดหลายโมเดลได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน… หนึ่งในนั้นคือ โมเดล HOT Skills หรือ Higher Order Thinking Skills

Higher Order Thinking Skills เป็นโมเดลที่ได้จากการรวมทักษะการคิดขั้นสูง ซึ่งเป็นการคิดในขั้นประยุกต์ใช้ความรู้และทรัพยากรเพื่อจัดการประเด็นหรือปัญหาหนึ่งๆ ในแบบ “คิดได้และต้องทำได้อย่างที่คิด” ซึ่งจำเป็นต้องแก้ปัญหาขั้นบรรลุวัตถุประสงที่ต้องการแก้ไข หรือ ต้องการจัดการให้ได้ และ จัดการปัญหานั้นให้ได้อย่างครอบคลุมด้วย

HOT Skills หรือ Higher Order Thinking Skills ประกอบด้วยทักษะการคิดขั้นสูง 4 ทักษะคือ…

  1. Critical Thinking หรือ การคิดด้วยวิจารณญาณ… อันเป็นทักษะการคิดแบบตรึกตรองและพิจารณาถึงเหตุและผล บนวัตถุประสงค์อย่างครบถ้วนทุกปัจจัย ก่อนจะใช้ข้อสรุปหรือผลึกความคิดที่ได้ไปสู่การตัดสินใจ… การคิดด้วยวิจารณญาณถือเป็นพื้นฐานการคิดขั้นสูงที่มักจะให้รายละเอียดครบถ้วนและรอบด้านได้ค่อนข้างสมบูรณ์
  2. System Thinking หรือ การคิดเชิงระบบ… เป็นทักษะการคิดเชิงสังเคราะห์เอาข้อสรุปจากข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่จะมีได้ โดยสังเคราะห์ข้อมูลใหม่เพิ่มเติมจากความสัมพันธ์ของข้อมูลต้น กับ ข้อมูลอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่ปรากฏด้วยก็ได้ ซึ่งการคิดเชิงระบบหลายกรณีจะสามารถผลิตชุดข้อมูลนอกกรอบขึ้นมาใหม่ได้ค่อนข้างหลากหลายแทบจะไร้ขีดจำกัด… แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องทักษะและข้อมูลต้นที่อาจให้ข้อสรุปแบบหลงประเด็นได้ง่ายเหมือนกัน
  3. Creative Thinking หรือ การคิดสร้างสรรค์… เป็นการคิดต่อยอด หรือ ปรับปรุง หรือ แต่งเติม รวมทั้งพัฒนาต่อยอด “ไอเดีย หรือ ชิ้นงานส่วนที่ยังเป็นช่องว่างและจุดอ่อนอยู่” โดยการคิดสร้างสรรค์อาจใช้เพียงจินตนาการคู่กับการทดลองเพื่อพิสูจน์จินตนาการก็ได้ แต่หลักๆ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มุ่งมั่นจะ “ต่อยอด ปรับปรุง หรือ แต่งเติมให้ดีขึ้น” ซึ่งหลายกรณีสามารถทำให้ดีขึ้นจนกลายเป็นของใหม่ระดับนวัตกรรมก็ได้
  4. Problem Solving Thinking หรือ การคิดแก้ปัญหา... อันถือเป็นทักษะพื้นฐานการสร้างนวัตกรรมอย่างแท้จริง เพราะนวัตกรรมล้วนเกิดจากการแก้ปัญหาบางอย่างที่ถูกแก้ไขในแนวทางใหม่หรือด้วยสิ่งใหม่… ทักษะการคิดแก้ปัญหาจะเป็นการคิดสังเคราะห์หาประเด็นย่อยที่เป็นองค์ประกอบของปัญหา และ หาทางจัดการเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาจริงๆ ซึ่งบางปัญหาสามารถข้ามการแก้ไขโดยตรง ไปที่รากของปัญหาเพียงเงื่อนเดียวก็ได้ ในขณะที่หลายปัญหาสามารถจัดการผ่านผลกระทบ แทนการจัดการประเด็นปัญหาโดยตรงก็ได้ด้วย

ทักษะการคิดทั้ง 4 แบบมีเทคนิคและรายละเอียดให้พูดถึงไม่มากหรอกครับ… แต่ก็มีกรณีศึกษามากมาย ซึ่งปลีกย่อยและยิบย่อยเป็นรายกรณี ซึ่งก็มีหนังสือหลายเล่มที่เอามาขยายความจนหนาหลายร้อยหน้าก็มี… แต่ส่วนตัวคิดว่า เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับ “เรื่องที่บางคนคิดออก แต่บางคนคิดไม่ออก ไปจนถึงประเด็นที่บางคนคิดอะไรได้อย่างเหลือเชื่อ” ซึ่งแต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นพรสวรรค์ติดตัวมาแต่เกิด

แต่เมื่อพิจารณาแล้วชัดเจนว่า… คิดออก กับ คิดออกอย่างเหลือเชื่อ เป็นข้อสรุปที่ได้จากทักษะการคิดของผู้มีคุณสมบัติของนวัตกร… ก็แปลว่าเราสร้างนวัตกรด้วยการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงทั้ง 4 ทักษะก็จะได้คนคิดอะไรก็ออกมากมาย ซึ่งจะต้องมีบางความคิดอย่างแน่นอนที่กลายเป็นข้อสรุปอย่างเหลือเชื่อให้เห็น

ข่าวดีก็คือ โรงเรียนและสถาบันการศึกษาที่ตื่นตัวเรื่องนวัตกรรมทั่วโลก กำลังนำ HOT Skills มาใช้พัฒนาหลักสูตรกันอย่างกว้างขวาง… ในประเทศไทยก็เริ่มมีให้เห็นพูดถึงกันมากขึ้นอย่างน่าสนใจครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts