Decision Making Concept

หลุมพรางการตัดสินใจของผู้นำ และ Hippo กับ DDD

ในองค์กรหรือแม้แต่ทีมหนึ่งๆ… ก็มักจะมีผู้นำที่ถูกเรียกว่าเจ้านายบ้าง… หัวหน้าบ้าง… Boss บ้าง… CEO บ้าง… ท่านบ้าง และ Hippo บ้าง

คนส่วนใหญ่ที่ถูกเรียกว่าผู้นำองค์กรนั้น… เวลานั่งในที่ประชุมก็มักจะมีเก้าอี้ประจำ ตรงทำเลหัวโต๊ะที่สามารถจ้องตาทุกคนในห้องประชุมได้ครบๆ นั่นแหละ… ซึ่งคนนั่งหัวโต๊ะในห้องประชุมโดยธรรมชาติ เงินเดือนค่าตอบแทนการทำงานก็มักจะสูงกว่าทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนั้นทุกคน… และที่สำคัญคือ ความเห็นของคนหัวโต๊ะเงินเดือนสูงคนนั้น มีอิทธิพลกับ “ความคิดเห็นของทุกคน” ในโต๊ะประชุมเสมอ… หลายความเห็นที่คนหัวโต๊ะรู้สึกว่าตัวเองโคตรรู้ดีจน “ฟังน้อยและตัดสินความเห็น” ของคนอื่นๆ… คนหัวโต๊ะแบบนี้มักจะถูกเรียกว่า Highest-Paid Person’s Opinion หรือ ความเห็นจากคนเงินเดือนสูงสุด หรือ Hippo นั่นเอง

ประเด็นก็คือ… ผู้นำ Hippo ไม่เป็นที่ต้องการอีกแล้วในยุคที่คุณค่าของประสบการณ์ และดุลพินิจประกอบการตัดสินใจ แม่นยำน้อยกว่าการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินเหมือนฟ้ากับเหว

ตำราองค์กรสมัยใหม่ รวมทั้งคำภีร์ผู้นำยุค Data Driven… จึงทำให้ Hippo ในองค์กรเหลืออยู่ไม่มากนัก ถ้าจะมีอยู่บ้างก็มักจะเป็น Middle Management ที่ยังไม่ถูกเตรียมให้เป็นใหญ่เป็นโต จนได้เรียนหลักสูตรผู้นำยุคใหม่… ซึ่งการโค๊ชผู้นำในปัจจุบัน มักจะเน้นย้ำเรื่องการกำจัด Hippo ออกไปจากภาวะผู้นำก่อนทั้งสิ้น

คนที่เป็นผู้นำ… งานหลักคือการตัดสินใจ… การต้องอ่านเอกสารมากมาย… ฟังลูกค้า ฟังลูกน้อง ฟังที่ปรึกษา และฟังกรรมการบอร์ด… แถมด้วยการใช้ข้อมูลมากมายตั้งแต่ข่าวบันเทิงจนถึงข้อมูลวิจัยราคาแพง… ทั้งหมดก็เพื่อช่วยการตัดสินใจทั้งสิ้น

คนตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ประจำ และนำพาองค์กรหรือทีมผ่านปัญหามากมาย ไปเจอความสำเร็จมานับไม่ถ้วน… จึงมีจุดตายที่ความคุ้นชินกับสำเร็จและล้มเหลวเดิมๆ นั่นเอง

ปัญหาสำคัญสำหรับผู้นำ จึงอยู่ตรงการตัดสินใจนี่เอง… เพราะคนเรามีการตัดสินใจผ่านกลไกสองแบบคือ ตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณ และ ตัดสินใจผ่านการคิด

การตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณนั้น สมองจะเรียนรู้รูปแบบจนคุ้นชินเป็นอัตโนมัติว่า ในสถานการณ์นั้นๆ จะต้องตัดสินใจและมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไร… ตั้งแต่มือโดนของร้อนก็ปล่อยมือ จนถึงเมื่อเห็นคำถามเกี่ยวกับตัวเลขบางตัวที่คุ้นเคย ก็ตอบโดยไม่คิดได้ด้วย… เช่น

มีคำถามว่า… แก้วและขวดมีราคารวมกันเท่ากับ 1.10 ดอลลาร์ ถ้าราคาแก้วแพงกว่าราคาขวด 1 ดอลลาร์ ขวดจะมีราคาเท่าไหร่?… ถ้าตอบไวๆ ไม่ทันคิด คนส่วนใหญ่จะตอบว่า ขวดราคา 0.10 ดอลลาร์ หรือสิบเซนต์… แต่ถ้าคิดก่อนตอบจะรู้ว่า ถ้าขวดราคา 0.10 ดอลลาร์ แก้วที่แพงกว่าขวด 1.00 ดอลลาร์จะต้องราคา 1.10 ดอลลาร์ด้วย… ราคาแก้วกับขวดรวมกันในกรณีขวดราคา 0.10 ดอลลาร์จึงได้ผลลัพธ์ 1.20 ดอลลาร์ซึ่งผิดเงื่อนไขของโจทย์… เพราะที่ถูกคือ ราคาขวดตามโจทย์นี้จะได้คำตอบเท่ากับ 0.05 ดอลลาร์ หรือ 5 เซนต์เท่านั้น จึงจะรวมกับราคาแก้วอีก 1.05 ดอลลาร์เป็น 1.10 ถูกต้องตามโจทย์

เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้เองที่ทำให้… การตัดสินใจผ่านความคุ้นชินโดยไม่คิด จึงมีโอกาสพลาดสูงจนต้องระมัดระวัง… ยิ่งเป็นผู้นำที่ติดอยู่กับความสำเร็จในอดีต โอกาสจะกลายเป็น Hippo ที่เสนอความเห็นแบบไม่ทันคิด… เพราะแก่กว่า เพราะเกิดก่อน เพราะใช้น้ำร้อนอาบมามาก… และที่น่าเสียใจคือ ความเห็นของ Hippo มักจะตัดสินและทำลายความเห็นอื่นๆ ของคนอื่นๆ จนไม่เหลือใครให้คุยด้วยในบั้นปลายก็มี

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… การตัดสินใจจากความคุ้นเคย หรือ การใช้ประสบการณ์เดิมเปรียบเทียบตัดสินใจ… ไม่ใช่เรื่องผิด แถมจำเป็นมากที่ผู้นำต้องมีและใช้เป็น ในขณะที่การตัดสินใจผ่านการคิดวิเคราะห์ ก็จำเป็นมากและสำคัญมาก… ซึ่งรูปแบบการตัดสินใจทั้งสองแบบ จะสลับกันใช้ตามเงื่อนไขกลไกการรับรู้ของสมอง 

เมื่อไหร่สมองรับรู้ว่าคุ้นเคยหรือคับขัน… การตัดสินใจจะจบง่ายมาก เพราะสมองมีคำตอบสำเร็จรูปให้แล้ว… แต่ถ้ามีความสับสน ไม่เป็นระบบระเบียบที่คุ้นเคย หรือต้องใช้เครื่องมือและตัวช่วย สมองของเราจะจัดพื้นที่ของสมองส่วนหน้าให้คิดและวิเคราะห์เต็มที่หาคำตอบช่วยตัดสินใจ

หลุมพรางการตัดสินใจด้วยความคุ้นเคยจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะในตัวคนที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ซึ่งบ่อยครั้งไม่รู้ด้วยซ้ำว่า… การตัดสินใจแต่ละครั้งถูกหรือผิดมากน้อยแต่ไหน โดยเฉพาะทีม หรือองค์กรที่ให้เกียรติความอาวุโส หรือ เชื่อฟังนาย และรอรับคำสั่งผู้บังคับบัญชา

งานวิจัยจาก The Economist Intelligence Unit ของวารสาร The Economist สำรวจผู้บริหารระดับสูงจำนวน 530 รายจากหลายประเทศพบว่า… กลุ่มบริษัทที่มีผลสำเร็จทางการเงินสูงสุด คือบริษัทที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระดับที่เหนือกว่าคู่แข่ง และกลุ่มบริษัทที่มีการดำเนินงานต่ำสุด คือกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเพียงพอ

แต่การเปลี่ยนแปลงกลไกการตัดสินในหลายๆ องค์กร ไม่ง่าย… เพราะนั่นหมายถึงการเปลี่ยนจากวัฒนธรรม Hippo หรือ The Highest-Paid Person’s Opinion ไปเป็นวัฒนธรรม Data Driven Decision หรือ DDD… ซึ่งกระทบวัฒนธรรมเดิมๆ ซึ่งฝังรากหยั่งลึกอยู่มานาน

แต่ทั้งหมดเริ่มได้ที่ผู้นำก่อนเสมอ… Hippo First!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *