creativity

How To Develop Creative Thinking Skills… แนวทางการพัฒนาทักษะคิดสร้างสรรค์ #MetaSkills

ความคิดสร้างสรรค์และคนมีทักษะคิดสร้างสรรค์… ถือเป็นทรัพยากรมนุษย์อันเป็นที่ต้องการขององค์กรยุคใหม่ และยังเป็นทักษะสำคัญที่จะทำให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว “ในการปรับตัว” เพื่อเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ในยุคที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปด้วยอัตราเร่งที่ทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คำว่า Creative หรือ Creativity มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า Creare ซึ่งมีความหมายว่า To Create หรือ Make… โดยกวีชาวอังกฤษนาม Geoffrey Chaucer ได้นำมาใช้ในบทประพันธ์เรื่อง The Parson’s Tale ในยุคต้นศตวรรษที่ 14 เพื่อกล่าวถึงการสร้าง หรือ Creation โดยพระเจ้า

ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ในนิยามของการนำมาปรับใช้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงกลายเป็น นิยามที่สื่อถึงการแก้ปัญหาด้วยตัวเลือก ที่ได้จากทางเลือกหลากหลาย ซึ่งหลายกรณีมักจะเป็นทางเลือกที่ประกอบขึ้นจากทางเลือกและตัวแปรที่มีอยู่เดิมโดยสร้างเป็น “ทางเลือกใหม่” ขึ้น

ความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity จึงเป็นที่ต้องการของทุกบริบทที่มีปัญหาสำคัญให้ต้องสะสางสร้างทำ  เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นบางสิ่งบางอย่างใหม่ขึ้นกว่าเดิม… ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นปรากฏการณ์ หรือ Phenomenon ที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่พร้อมคุณค่า ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ตั้งแต่ความคิด แนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ไปจนถึงผลงานศิลปะ วรรณกรรม สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเดิม และยังครอบคลุมตั้งแต่จิตวิทยาและประสาทวิทยา ไปจนถึงฟิสิกส์อวกาศและเอกภพ… ซึ่งแปลว่าทุกสรรพสิ่งล้วนนำมาสร้างสรรค์ หรือ Create เพื่อให้ดีกว่าเดิมได้ทั้งสิ้น

คำถามสำคัญก็คือ…การจะเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ และการจะเป็นคนมีทักษะคิดสร้างสรรค์ต้องทำอย่างไร?

Dr.Sebastien Helie ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษากระบวนการของความคิดสร้างสรรค์ ครอบคลุมการบ่มเพาะ หรือ Incubation… ความเข้าใจเชิงลึก หรือ Insight และ การแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Problem Solving… ภายใต้หัวข้อการค้นคว้าวิจัยเรื่อง Incubation, Insight, and Creative Problem Solving: A Unified Theory and a Connectionist Model 

ความน่าสนใจของผลงานจาก Dr.Sebastien Helie ก็คือ… กรอบการจัดการเชิงสร้างสรรค์ตั้งแต่ขั้นริเริ่มบ่มเพาะ ไปจนถึงการสร้างโมเดลเพื่อจัดการหรือแก้ปัญหาหนึ่งๆ ถูกมองและดำเนินการผ่านกรอบทฤษฎีทางจิตวิทยา จนสามารถสร้างโมเดลใหม่เพื่อจัดการปัญหาหนึ่งๆ ในแนวทางการบูรณาการตัวแปรที่มีอยู่ จนได้โมเดลการจัดการและการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีที่มาที่ไปอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ จนสามารถเขียนเป็นแผนภูมิหรือจำลองเป็นโมเดลเชิงตรรกะได้อย่างชัดเจน

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ… วิธีหาหรือสร้างความคิดสร้างสรรค์ของ Dr.Sebastien Helie มีสูตรในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ผ่านกรอบการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งอย่างชัดเจน ถึงขั้นเรียกได้ว่า เป็น “เครื่องมือสำหรับพัฒนาความคิดสร้างสรรค์” โดยไม่ต้องพึ่งพาแต่เฉพาะ “คนมีพรสวรรค์หรือคนมีสติปัญญาล้ำเลิศ” อย่างที่เป็นมา

ความพยายามในการพัฒนาโมเดลเพื่อการได้มาซึ่งความคิดและการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของ Dr.Sebastien Helie ในครั้งนี้ ได้มีการยืมทฤษฎีร่วมแรง หรือ Unified Theory มาอธิบายผ่านโมเดลทางจิตวิทยาชื่อ Connectionist Model จนพบแนวทางของความคิดสร้างสรรค์ที่มักจะสัมพันธ์ย้อนแย้งกันอยู่ เหมือนขาวกับดำ หรือ หยินกับหยาง… โดยเฉพาะ

  1. องค์ความรู้ที่ชัดแจ้ง กับ องค์ความรู้อันซ่อนนัยยะ
  2. กระบวนการที่ตรงไปตรงมาชัดเจน กับ ขั้นตอนหรือกระบวนการที่สะท้อนผลลัพธ์ในทิศทางอื่น
  3. การนำเสนอและถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา กับ การบอกเล่าถ่ายทอดผ่านนัยยะและสัญญะซุกซ่อน
  4. ผลลัพธ์และบทสรุปที่ตรงไปตรงมา กับ ผลลัพธ์และคำตอบอันคลุมครือหรือเปิดทางสู่โจทย์อื่นๆ
  5. วัฏจักรการประมวลผล และ วงจรการสกัดเอาผลลัพธ์ในแต่ละคาบของการวน หรือ Loop มักใช้ตัวแปรการประมวลผลแตกต่าง โดยอาจแตกต่างได้ทั้งลำดับ ขั้นตอนและทิศทางด้วย

ขออภัยจริงๆ ครับที่ต้องอธิบายด้วยสำนวนปรัชญา ทั้งๆ ที่ไม่ได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งมากมาย… แต่เพราะต้นฉบับที่ผมรวบรวมได้ ใช้กลไกเชิงปรัชญาอธิบายไว้ และผมต้องการถอดตัวบทออกมาก่อน… โดยส่วนตัวผมก็เพียรอ่านต้นฉบับและทบทวนการถอดความของตัวเองหลายรอบ… และทราบว่าอ่านยังไงก็ยังวังเวงว่าจะอธิบายแบบนี้ไว้เพื่ออะไร!

ประเด็นตามความเข้าใจของผมเป็นแบบนี้ครับ… ขั้นตอนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่คนส่วนใหญ่อยากทราบวิธีการสร้าง หรือ Create อะไรๆ ขึ้นให้ใหม่กว่าที่เคยมีมานั้น แท้จริงแล้วคำตอบถูกซ่อนอยู่ในองค์ความรู้ที่ชัดเจนแล้วกับที่ยังไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง หรือองค์ความรู้ที่ยังมีปัญหาอยู่ หรือองค์ความรู้ที่มีคนพบว่ามีปัญหาและคำถามรอการตอบอยู่… เหมือนข้อเสนอแนะท้ายรายงานการวิจัย หรือบทกวีที่บิดาของศรีปราชญ์เขียนค้างไว้ยังไม่จบ… อะไรทำนองนั้น

ซึ่งการนำเอาองค์ความรู้ที่ยังเหลือนัยยะท้าทายให้ค้นพบเพิ่มเติมอีก มาผ่านกระบวนการเพื่อหาคำตอบให้โจทย์ที่ตั้งขึ้นใหม่… โดยอาจจะหาวิธีอธิบายที่แตกต่างกว่ามุมมองและความเข้าใจเดิม… รวมทั้งหาผลลัพธ์ที่ยังซ่อนมิติอื่นๆ อยู่ในคำตอบเดิมๆ นั้น… ซึ่งท้ายที่สุด ทั้งหมดจะดำเนินไปเป็นวัฏจักร “วนไป” จนได้ “ตัวเลือกผลลัพธ์” หลายตัวเลือกส่งมอบให้ขั้นตอนการตัดสินใจ

ซึ่งการตัดสินใจเลือกจากทางเลือกหลากหลายนี้เองที่เป็นตัวเลือกจากความคิดสร้างสรรค์ไปแล้ว!

ถกแถลงแบ่งปันหรือคัดค้านปกป้องด้วยข้อมูลหรือความคิดเห็นจากท่าน… กล่องความเห็นด้านล่างเปิดรับทุกความเห็นจากทุกท่าน… ตลอดเวลาครับ 

ขอบพระคุณล่วงหน้า

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts