Hand in Hand

Human Perspective… โปรดระวังมุมมอง

อดัมกับซาแมนธา ฮูเดนเบิกซ์ กับบุตรชายวัยกระทงหนึ่งคน อยู่กันเป็นครอบครัวบ้านป่าแบบชาวอเมริกากันยุคบุกเบิก พวกเขาทำไร่ข้าวโพดและเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพ เหมือนๆ กับเพื่อนบ้านที่อพยพมาจากยุโรปเพื่อจับจองที่ทำกิน ซึ่งพวกเขาไม่เคยมีในแผ่นดินเกิด… อเมริกากว้างใหญ่ไพศาลจึงเหมือนสวรรค์สำหรับพวกเขา

อยู่มาวันหนึ่งก็มีม้าป่าหลงเข้ามาเล็มหญ้าในไร่ของพวกเขา อดัมและลูกชายทั้งจึงช่วยกันต้อนม้าเข้าคอกสัตว์ในฟาร์มของตัวเอง… เพื่อนบ้านรู้ข่าวว่าครอบครัวฮูเดนเบิกซ์ได้ม้าฟรีก็แวะมาแสดงความยินดีและพูดกับอดัมไม่ขาดปากว่า… ช่างโชคดีที่ได้ม้าฟรีๆ เหมือนมันเดินมาขอช่วยงานในไร่และเป็นพาหนะยามเข้าเมือง

แต่แล้วในอีกไม่กี่วันต่อมา… หนุ่มน้อยคนเดียวในครอบครัวฮูเดนเบิกซ์ที่พยายามจะขี่ม้าระหว่างฝึกม้าป่าให้เป็นม้าเชื่อง ก็หล่นจากหลังม้าทำให้กระดูกขาหักเป็นสองท่อน ต้องเข้าเฝือกนอนอยู่บ้านจนแทบจะช่วยตัวเองไม่ได้… เพื่อนบ้านรู้ข่าวก็มาเยี่ยมครอบครัวฮูเดนเบิกซ์และพูดกับอดัมไม่ขาดปากว่า… ช่างโชคร้ายจริงๆ ที่ได้ม้าไม่เชื่องมาใช้และทำให้ลูกชายคุณขาหักจนช่วยงานในไร่ไม่ได้

ในสัปดาห์ต่อมา… ทางการก็ถือหมายเกณฑ์มาเรียกตัวเด็กหนุ่มในชุมชนที่ครอบครัวของอดัมตั้งรกรากอยู่ เด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับลูกชายของอดัมกับซาแมนธา ล้วนถูกเกณฑ์ไปฝึกทหารเตรียมรับใช้ชาติ… เพื่อนบ้านของอดัมหลายคนได้เข้ามาแสดงความยินดีกับสองสามีภรรยา ที่ช่วยกันเข็นลูกชายขาหักใส่รถลากมารายงานตัวว่า… ครอบครัวคุณช่างโชคดีจริงๆ ที่ลูกชายไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพราะบาดเจ็บ

เรื่องของครอบครัวฮูเดนเบิกซ์ กับมุมมองที่เพื่อนบ้านมองพวกเขาผ่านเหตุการณ์เดียวกันบนกรอบเวลาที่เหลื่อมกันไม่มากมายเลย… แต่ความเห็นของเพื่อนบ้านสามารถพลิกจากโชคดีเป็นโชคร้าย และจากโชคร้ายเป็นโชคดีชนิดตรงกันข้ามคนละขั้วซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า… ด้วยมุมมองของคนเรา ที่พยายามทำความเข้าใจและตัดสินอะไรบางอย่าง จะแปรเปลี่ยนไปตาม “การรับรู้ผ่านมุมมอง” ซึ่งข้อเท็จจริงก็ส่วนหนึ่ง… ความคิดเห็นก็ส่วนหนึ่ง และ ส่วนได้ส่วนเสียก็ส่วนหนึ่ง

ประเด็นก็คือ… การรับรู้ผ่านมุมมองจน “มีความเห็นและแยกแยะส่วนได้ส่วนเสีย” นั้น ทั้งหมดเกี่ยวพันอยู่กับเพียง “ใช่ที่อยากได้ กับ ไม่ใช่ที่อยากได้” เท่านั้นเอง

มุมมอง หรือ Perspective ของคนแต่ละคนเมื่อเชื่อมโยงเข้ากับความต้องการ หรือ ความอยาก หรือ Needs ส่วนตัวของคนๆ นั้นเข้าไป “ความเห็นที่แยกแยะโดยความอยากส่วนตัว” จึงกลายเป็น “ความเข้าใจส่วนตัว” ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับ “ข้อเท็จจริง” หรือหนักหนาถึงขั้นไม่ใส่ใจข้อเท็จจริงเลยสักนิดเดียวก็มี

ประเด็นมุมมองนี้เองที่สร้างเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ ให้คนๆ หนึ่ง พูดถึงคนอีกคนหนึ่งโดยสนใจเพียง… ข้อเท็จจริงส่วนเดียวจากมุมมองที่เห็นคนเดียว แถมแยกแยะและวิพากษ์วิจารณ์ผ่านความอยาก หรือ Needs ส่วนตัวคนเดียว จนเข้าข่ายส่อเสียดนินทา… ซึ่งทำลายความสัมพันธ์ในท้ายที่สุด

ทฤษฎีจิตวิทยาและมนุษย์นิยมทุกตำรา จึงอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของมุมมองส่วนบุคคลหรือมุมมองส่วนตน สัมพันธ์กับอัตลักษณ์และบุคลิกภาพของคนๆ นั้น เชื่อมโยงไปจนถึงพัฒนาการและสติปัญญา อันเป็นชีวิตและอนาคตของคนๆ หนึ่ง… รวมทั้งคนรอบตัวด้วย

คำถามคือ… การแยกแยะวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นใดๆ ผ่านมุมมองคนๆ หนึ่ง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเป็นมุมมองที่อ้างอิงข้อเท็จจริงมากกว่าการอ้างอิงความอยาก หรือ Needs ส่วนตัว ซึ่งเป็น Self Concept หรือแนวคิดส่วนตนล้วนๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อข้อผิดพลาดจากมุมมองคับแคบอย่างยิ่ง

กรณีเหตุการณ์นายจ้าง โทรศัพท์ไปตามพนักงานที่เคยอยู่รับคำสั่งประจำทุกเช้า เกิดหายหน้าไปในเช้าอันวุ่นวายเหมือนๆ ทุกวัน และเปิดฉากด้วยการตำหนิดุด่า ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะกำลังเจอปัญหาใหญ่ในชีวิตถึงขั้นคนในครอบครัวเจ็บป่วยกระทันหันหรือจากไป… ความสัมพันธ์ของนายจ้างกับลูกจ้างคู่นี้ก็คงต้องทางใครทางมันในอีกไม่ช้า… ซึ่งในกรณีทำนองนี้ ถ้าเป็นความสัมพันธ์ในระดับครอบครัวหละ? ความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวส่วนหนึ่งจึงบกพร่องขาดหวิ่น เพราะใส่ใจแต่มุมมองของตัวเอง จนทุกคนในครอบครัวก็ปฏิบัติอย่างเดียวกัน สุดท้ายจึงเกิดขุ่นข้องขัดแย้ง… และหลายกรณีก็บานปลายจนเสียความสัมพันธ์ที่ควรจะดีงามเหนียวแน่น ให้กับอัตตาและมุมมองจากแนวคิดส่วนตนอย่างน่าเสียดาย

ผมไม่มีความเห็นหรือคำแนะนำใดๆ เพิ่มเติม… หรือแม้แต่อยากยกตำราเล่มไหนมาอ้างอิงแนะนำอะไรอีก นอกจากแนะนำให้ใช้มุมมองของท่านอย่างระมัดระวัง… ครับผม!

Feature Image: Photo by Valentin Antonucci from Pexels

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts