คำสอนสั่งที่สังคมไทยถ่ายทอดบอกต่อกันมาประโยคหนึ่งที่บอกว่า… จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน มีทั้งด้านดีที่สมควรสืบทอดนำใช้… มีทั้งด้านที่ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจและใช้ให้เป็นไปพร้อมๆ กัน หลายกรณีเราสับสนระหว่าง “ความสงบเสงี่ยมเจียมตัว หรือ Modesty” กับ คำว่า “ความอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ Humility” ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วมีบริบทที่แตกต่างกันมาก
กรณีประโยคอันแฝงนัยยะมากมายอย่าง จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน ที่สะท้อนความเจียมตัว หรือ Modesty ให้ระวังว่าอย่าได้ทำอะไรเลอเลิศเกินหน้าเกินตาสังคมขี้อิจฉาและใจร้าย โดยไม่ดูตาม้าตาเรือเข้า เพราะไม่มีใครอยากเห็นเราได้อะไรเกินหน้าเกินตาหรอก… ทั้งๆ ที่อยากทำดีๆ ให้สุดไปเลยก็ตาม… ซึ่งถ้าสังคมแวดล้อมที่อยู่ด้วย หรือ จำเป็นต้องอยู่ด้วยล้วนมีแต่พวกขี้อิจฉาและบ้าอำนาจ ก็สมควรจะต้องสงบเสงี่ยมเพื่อความสงบสุขไปเถอะ หรือไม่ก็ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างให้ตัวเองหลุดพ้นสักทางให้ได้
Maya Angelou กวีและนักคิดนักเขียนชาวอเมริกันอัฟริกัน ผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษย์ชนมานานให้ความเห็นว่า… เธอไม่ชอบความสงบเสงี่ยมเจียมตัว หรือ Modesty เลย เนื่องในความเจียมตัวนอบน้อมนั้น มีความยอกย้อนในตัวเอง โดยภายในความเจียมตัว จะมีความยโสในตนแฝงอยู่ ความยโสที่แท้ก็คือการที่คนๆ หนึ่งไม่รู้จักยอมรับว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ และผลของการที่ไม่ยอมรับความพิเศษของตัวเองนั้นก็เลยพาลไปปฏิเสธความพิเศษของคนอื่นด้วย… ส่วน Clive Staples Lewis หรือ C. S. Lewis นักคิดนักเขียนชั้นครูชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่า… ความสงบเสงี่ยม รวมทั้งความคาดหวังจะให้คนอื่นสงบเสงี่ยม ถือเป็นความโอหัง หรือ Pride รูปแบบหนึ่ง และ Clive Staples Lewis ยังยืนยันด้วยว่า ในความถ่อมไม่จำเป็นต้องมีความสงบเสงี่ยมเจียมตัวเลยก็ได้
ประเด็นที่นักเขียนทั้งสองท่านถกแถลงและตั้งข้อสังเกตุก็คือ… Modesty หรือ สงบเสงี่ยมเจียมตัว เป็นกิริยาอาการที่แสดงออกให้คนอื่นยอมรับ เพื่อจุดประสงค์บางอย่างเท่านั้น ซึ่งจะเรียกว่าเป็นกิริยาเสแสร้งที่ไม่ตรงกับความคิดจิตใจก็ว่าได้ ซึ่งการกล้าเสแสร้งขั้นนี้ย่อมไม่ตรงไปตรงมากับตัวเองแน่นอน และเป็นการดูแคลนสติปัญญาผู้อื่นไปด้วยอีกต่างหาก… ในขณะที่ ความอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ Humility เป็นความรู้สึกภายในที่ลึกซึ้งกว่า โดยแสดงออกตรงไปตรงมาด้วยการยอมรับและเคารพตน… นับถือสติปัญญาและความสามารถของตนเอง โดยท้ายที่สุดย่อมเป็นการยอมรับและเคารพผู้อื่นโดยปริยาย
C. S. Lewis อธิบายเรื่องความรู้สึกถ่อมตน หรือ Humbleness เอาไว้เพิ่มเติมว่า… Humbleness เป็นมิติที่สัมพันธ์กับปรัชญาและทัศนคติที่ลุ่มลึกและยิ่งใหญ่มากประเด็นหนึ่ง เพราะความถ่อมตนหลักๆ คือการที่เราลดละอัตตา หรือ Ego ของเราออกไป เป็นความรู้สึกเข้าใจในความยิ่งใหญ่ของสรรพสิ่งและความเป็นเสมือนเถ้าธุลีของตน… แต่ไม่ใช่ความรู้สึก “ไร้คุณค่า หรือ กระจอกงอกง่อย” เพียงแต่เป็นความระแวดระวังว่า… ตนก็เพียงมนุษย์ผู้หนึ่งในห้วงมหรรณพของสรรพสิ่ง… สิ่งที่ตนรู้ ใจที่ตนเชื่อ และสติปัญหาที่ตนคิดออกบอกได้ ก็เพียงเสี้ยวเศษในจักรวาลอันกว้างไกล ความถ่อมตนจึงเป็นการยอมรับความยิ่งใหญ่ของจักรวาล… ยอมรับต่อความยิ่งใหญ่ขององค์ความรู้ทั้งมวล… ยอมรับความบกพร่องผิดพลาด… ยอมเรียนรู้ปรับเปลี่ยน
ความรู้สึกถ่อมตน หรือ Humbleness จึงมีจุดเริ่มต้นที่การละวางอัตตาส่วนตนลงตั้งแต่แรก จนไม่เหลืออัตตาไปปะทะกับอัตตาของใครให้กลายเป็นความขัดแย้ง… โดยไม่ต้องซ่อนอัตตาไว้ใต้ความนอบน้อมที่ต้องแสดงออกต่อหน้าใคร
ประเด็นก็คือ… เมื่อเราถ่อมใจตนให้ยอมรับนับถือตัวเอง เห็นคุณค่าที่แท้จริง เห็นความสำเร็จที่เป็นจริง จนเกิดภาคภูมิใจ หรือ Proud อย่างแท้จริง… โดยแยก Pride หรือความยิ่งยะโสออกจากความรู้สึกตนได้… สิ่งแรกที่จะได้รับทันทีคือ ความพอใจตนเองอย่างเท่าทันจนเกิดเมตตาแทนอิจฉา เกิดยอมรับแทนสงสัย และเกิดเข้าใจแทนปิดกั้น
References…