ความน้อยใจเป็นอารมณ์อ่อนไหวเชิงลบบนความสัมพันธ์ และ สายสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิด โดยเกิดได้กับทุกคนตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์กลัวที่มีไว้เพื่อปกป้องตัวเองของสัตว์สังคม เพราะสังคมจะหมายถึงความช่วยเหลือ และ การดูแลปกป้องระหว่างกันบนสายสัมพันธ์ จนปลูกฝังคุณค่าใส่ทัศนคติ และ เติบโตเป็น “ความคาดหวัง” เป็นส่วนหนึ่งของสายสัมพันธ์
เมื่อเกิดความคาดหวัง แต่ไม่เป็นไปดั่งที่หวัง… ความน้อยใจอันเป็นอารมณ์อ่อนไหวเชิงลบบนสายสัมพันธ์ ก็จะก่อตัวใส่อารมณ์ และ ความคิดจิตใจตัวเอง
ประเด็นก็คือ… เมื่อเกิดน้อยใจขึ้นกับใครก็ตาม คนๆ นั้นก็มักจะแสดงพฤติกรรมสะท้อนความน้อยใจ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือความผิดหวังออกมาให้เห็นตามพื้นอารมณ์ของแต่ละคน… บางคนใช้ความเงียบ และ หลบเร้น… บางคนร้องไห้… บางคนโวยวาย และ ประท้วงด้วยเงื่อนไขสารพัด ตั้งแต่งอนเงียบๆ หรือไม่ก็ตามด่าจนอีกคนหนึ่งเงิบก็มี… โชคร้ายหน่อยก็จะเกรี้ยวกราดคุกคามกันจนลุกลามใหญ่โตก็มีได้
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… ที่มาและที่ไปของความน้อยใจล้วนเชื่อมโยงกับ “สายสัมพันธ์” ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วมักจะต้องการความใส่ใจ ความช่วยเหลือ และ การดูแลความคาดหวังที่มีต่อกันอย่างเท่าเทียม… โดยเฉพาะความใส่ใจขั้น “เข้าใจกัน หรือ เข้าใจข้อจำกัดของกันและกัน” ซึ่งมีไว้เพื่อเยียวยาความคาดหวังก่อนจะเกิดน้อยเนื้อต่ำใจไปถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อสายสัมพันธ์
ความน้อยใจ หรือ ความคาดหวังที่ไม่ถูกใส่ใจจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่… เว้นแต่จะใช้ความน้อยใจเพื่อ “ต่อรอง” ให้ได้ความคาดหวังส่วนของตัวเอง ถูกช่วยเหลือ ดูแล และ ใส่ใจก่อน… ซึ่งถ้าเป็นคนมีความคาดหวังไม่มากก็คงไม่เท่าไหร่ แต่บางคนมีพฤติกรรม “บงการคนใกล้ชิด” เพื่อสนองความคาดหวังของตัวเองจนเป็นนิสัย และ ต่อรองเอาความคาดหวังด้วยพฤติกรรมที่สะท้อนความน้อยใจออกมาเป็น “แรงกดดันต่อคนใกล้ชิด” จนท้ายที่สุดก็จะเจอ “ความคาดหวังที่ไร้การใส่ใจ และ ดูแลช่วยเหลือ” ซึ่งมักจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสายสัมพันธ์อย่างชัดเจน
ในทางเทคนิค… ความน้อยใจเป็นความเจ็บปวด หรือ Pain จากภายในที่สะท้อนเป็นพฤติกรรมสู่ภายนอก… Geoff MacDonald และ Mark R. Leary ได้ตีพิมพ์งานทบทวนวรรณกรรมเชิงจิตวิทยาเรื่อง Why Does Social Exclusion Hurt? The Relationship Between Social and Physical Pain ซึ่งยืนยันให้เห็นการบรรจบกันระหว่างความเจ็บปวด 2 แบบ โดยมีความคิดกับอารมณ์ และ พฤติกรรมที่แสดงออก… โดยเสนอเป็นทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่าง “ความเจ็บปวดทางกาย กับ ความเจ็บปวดทางใจ” ที่มาจากสายสัมพันธ์ หรือ สังคมที่สัตว์สังคมอย่างมนุษย์ผูกสายสัมพันธ์อยู่
ซึ่งมักจะเริ่มเห็นสัญญาณเตือนเมื่อมีความรู้สึกน้อยใจ หรือ Hurt Feeling จากความคาดหวังบนสายสัมพันธ์ก่อนอื่น และ มักจะพัฒนาไปเป็นความเจ็บปวด หรือ Pain ที่ได้เห็น “ร่องรอยความเสียหายของสายสัมพันธ์อย่างเด่นชัด” โดยยังมีพัฒนาการเชิงลบต่อเนื่องที่สามารถเกิดกับ “ตัวเอง และ คนสำคัญในสายสัมพันธ์” ไปได้อีกไกลทั้งทางกายและจิตใจได้อีกมาก
น้อยใจจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยสำหรับทุกความสัมพันธ์… การเกิด และ มีอยู่ของความน้อยใจบนความคาดหวังต่อสายสัมพันธ์ทุกแบบ จึงควรเข้าใจข้อจำกัด ใส่ใจ และ ดูแลให้ดี…
References…