แบบประเมินการออกแบบชีวิต 4 แกนตามสูตร Designing Your Life ที่มี Health, Work, Play, Love ใช้วัดสถานะปัจจุบันที่เราสามารถสร้างสมดุล 4 แกนนี้ไว้กับชีวิตเราไว้อย่างไร… ซึ่งนั่นเป็นสถานะปัจจุบันที่เรามีชีวิตบน 4 แกนหลักทั้ง สุขภาพ หรือ Health, การงาน หรือ Work, กิจการสร้างสุข หรือ Play, รวมทั้งความรัก หรือ Love ที่ขับเคลื่อนโลกส่วนของเราให้หมุนต่อไปอย่างรื่นรมณ์
บทความนี้เป็นตอนต่อของซีรีย์ Designing Your Life ตอนที่สองต่อจาก Designing Your Life… ปฐมบท โดยยึดแนวทางและหลักคิดแบบ Design Thinking จากหนังสือ Designing Your Life ของ Bill Burnett และ Dave Evans ผู้สอนหลักสูตร Design Thinking ที่ Stanford D. School ด้วยการถอดบทเรียนและตีความแบบ Reder ครับ… อ่านจบแล้วถ้าชอบก็ช่วยแชร์แบ่งปันคนอื่นให้ด้วยครับ หรืออยากชี้แนะติเตือนประเด็นไหนอย่างไร ก็ยินดีน้อมรับผ่านกล่องความเห็นท้ายบทความหรือ DM ข้อความส่วนตัวมาใน Line: @reder ก็ได้ครับ
กลับเข้าประเด็น HWPL เพื่อทำความเข้าใจตัวเองในสถานะปัจจุบันว่าเราใช้ชีวิตอยู่ในระดับไหนของแต่ละแกน… เพื่อจะได้วางแผนได้ว่า เราจะบริหารแต่ละแกนอย่างไรให้ชีวิตเราสมดุลไปต่อข้างหน้า มองปัญหาเป็นความท้าทาย และจัดการเรื่องยากๆ ด้วยเทคนิคของนักออกแบบที่ไม่กลัวที่จะหาหนทางใหม่และหลากหลาย เพื่อแก้ปัญหาซึ่งถ่วงรั้งเราไว้ ให้พัวพันอยู่กับการวนรอบปัญหาเดิมไม่สิ้นสุด
Health Gauge… เกจ์วัดสุขภาพ
ลองประเมินสุขภาพตัวเองหน่อยครับว่า… สุขภาพกาย อารมณ์และจิตใจของท่านอยู่ระดับไหนบนเกจ์วัด 4 ระดับจาก 0-FULL บนแถว Health ของ HWPL Dashboard… ใช้สีเทียนระบายลงไปเพื่อใช้ประเมินคำตอบว่า “สุขภาพ” ในนิยามของท่าน มองว่าตัวเองอยู่ที่ระดับไหน… ซึ่งประเด็นเรื่องสุขภาพเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างมากต่อชีวิตด้านอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต… อีกทั้งยังเป็นมาตรวัดคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง
Work Gauge… เกจ์วัดอาชีพการงาน
ตรรกะของงานในความหมายของคนส่วนใหญ่คือภาระที่เกิดขึ้นกับตัวเองที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นรายได้… แต่บ่อยครั้งที่หลายท่านจะได้ยินคำว่า “รายได้ค่าตอบแทน” ที่ผูกคำมาด้วยกันให้พูดถึง… ซึ่งคำว่ารายได้ส่วนใหญ่จะหมายถึงเงินที่ได้มา แต่หลายครั้งสำหรับหลายท่านย่อมทราบดีว่า… เงินรายได้ไม่ได้มาจากการทำงานหนทางเดียว… หลายครั้งเงินมาจากมรดกตกทอดก็มี แบบเกิดมาบรรพบุรุษร่ำรวยและพวกท่านทำงานแลกค่าตอบแทนสะสมไว้ให้ก่อนแล้วมากมาย หรือไม่ก็เกิดในกงสี ที่ผลประโยชน์ถึงรอบเวลาก็ถูกแบ่งปันอย่างยุติธรรมมาให้ ดังนั้นรายได้หรือค่าตอบแทนจึงไม่ได้ตีความว่ามาจากงานเสมอไป… และเมื่อเป็นแบบนั้น… งานจึงไม่เท่ากับเงินตอบแทนเสมอไป และสามารถอยู่ในรูปแบบอื่นที่ภาระการงานที่ทำและรับผิดชอบอยู่ สร้างความพอใจ สุขใจโดยไม่มีเรื่องเงินเลยก็ได้… แต่เงินก็สำคัญครับ ลองชั่งน้ำหนักแล้วให้คะแนนตัวเองดู
Play Gauge… เกจ์วัดความสนุก
ท่านหัวเราะกับอะไรได้บ้างครับ? ปกติคนเราจะมีความสุขจากกิจกรรมสันทนาการมากมายที่ชอบ ซึ่งโดยรวมๆ เรานิยมใส่คำว่าเล่นเข้าไปกับชื่อกิจกรรมเหล่านี้เช่น เล่นฟุตบอล เล่นกีฬา เล่นหมากล้อม และอะไรอีกมากมายที่สามารถสร้างสุนทรียะให้ชีวิต… ประเด็นก็คือคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีโมเมนต์สุนทรียะสม่ำเสมอนักหรอก โดยเฉพาะสุนทรียะที่คนๆ เดียวสามารถประครองจังหว่ะชีวิตทั้งสุขภาพ การงานและสายสัมพันธ์ โดยไม่มีคนอื่นต้องมาแบกรับช่วยเหลือธุระหรือภาระใดๆ ให้… นั่นทำให้คนส่วนใหญ่ต้องหั่นจังหว่ะชีวิตด้านสุนทรียะไปเติมกิจภาระด้านอื่นจน “ความสนุก” ที่เรียกได้เต็มปากว่าเล่น หายไปเหลือเพียงความสุข… หรือไม่ก็ตกต่ำกว่าความสุขเยอะทีเดียว… ลองให้คะแนนตัวเองดูครับ
Love Gauge… เกจ์วัดความรักและสายสัมพันธ์
ความรักเป็นคำพื้นๆ ที่มีมิติซับซ้อนเสมอเมื่อบวกเข้ากับสายสัมพันธ์… และความหมายของความรักก็จะมีมิติเชิงคุณค่าเสมอเมื่อเอาคำว่า “รู้สึก” ใส่เข้าไปในนิยามเพื่อวัดระดับคนอื่นด้วยความรู้สึกส่วนตัว… หรือแม้แต่ประเมินความรู้สึกส่วนตัว เพื่ออธิบายระดับความรักของเราที่อยากให้คนอื่นรู้สึกเท่าที่เราคิดหรือเป็น… ประเด็นก็คือ ความรักเข้ามาหาเราหลายรูปแบบจากหลากหลายความสัมพันธ์เสมอ ซึ่งหลายครั้งการพยายามวัดระดับความรักเฉพาะที่ส่งผ่านสายสัมพันธ์เข้ามา ประเมินและให้ค่าความรักที่ได้รับอย่างเดียว… หลายท่านคงนึกออกว่า แค่การประเมินและให้ค่า “ท่าทีความรักจากคนอื่น” ไม่เคยง่าย… แต่การเป็น “ผู้ให้” โดยไม่พยายามประเมินว่าให้แล้วได้อะไรแค่ไหน จึงมักเป็นนิยามของความรักที่บอกเล่าสอนสั่งกันมาโดยจารีตและวัฒนธรรมอันดีงามทั่วโลก… ว่าแต่ท่านให้คะแนนความรักแค่ไหนอย่างไรกับตัวเอง

HWPL ทั้ง 4 แกนเป็นพื้นฐานสำคัญของการกำหนดจุดเริ่มต้นในการออกแบบชีวิต… โดยตอนท้ายของบท You Are Here หรือ ท่านอยู่ที่จุดนี้ ของหนังสือ Designing You Life… แนะนำให้เขียนบันทึกสั้นๆ อธิบายชีวิตทั้ง 4 แกนเอาไว้ด้วย ท่านที่เคยเขียนไดอารี่คุยกับตัวเองคงทำได้ไม่ยาก… รวมทั้งท่านที่มีเรื่องบ่นตัวเองเรื่อยๆ ก็คงไม่ลำบากที่จะอธิบายเหมือนกัน… แล้วค่อยระบายสีบนเกจ์วัดระดับทั้ง 4 แกน แล้วจึงค้นหา “ปัญหา” ที่ทำให้เกจ์วัดระดับด้านต่างๆ ไปไม่ถึง FULL
…และอย่าลืมตัดทิ้งปัญหาแรงโน้มถ่วงออกไปให้หมดถ้าท่านเจอ
เดี๋ยวตอนหน้ามาสร้างเข็มทิศนำทางชีวิตด้วยกัน!