ปัญหาการจัดการศึกษาอย่าง “เท่าเทียมทั่วถึง” ซึ่งเป็นดราม่าที่เกิดขึ้นจริงได้ยากในทางเทคนิค เพราะข้อจำกัดหลายอย่างไม่ได้เอื้อให้สามารถจัดหาทรัพยากรอย่างพอเพียงสำหรับเด็กทุกคนแบบเฉพาะคนได้… การจัดทำนโยบายและวางแผนกำลังคนกับงบประมาณให้เด็กและโรงเรียนที่ “ตกเกณฑ์ค่าเฉลี่ยต้นทุนในการจัดการเรียนการสอนต่อหัว” จึงซ้ำเติมความเลื่อมล้ำทางการศึกษามาตั้งแต่ขับเคลื่อนเชิงนโยบายไม่ได้จริงเพราะเงื่อนไขทรัพยากร
ประเด็นก็คือ… ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ในปัจจุบันมีอยู่ทุกจังหวัด ซึ่งบางโรงเรียนมีนักเรียนน้อยกว่า 10 คน ก็มีปรากฏข้อมูลยืนยันชัดเจนตลอดหลายปีที่ผ่านมา
งานวิจัยชุด Grouping Thailand’s schools into four categories ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง World Bank และ TDRI โดย ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ และ ดร.ทีปกร จิรฐิติกุลชัย จาก World Bank ร่วมกับทีมของ ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร จาก TDRI เคยนำข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กภายใต้นิยามมีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ที่ สพฐ. กำหนดไว้ เผยแพร่ผ่านรายงานการวิจัยไว้… โดยมีตัวเลขโรงเรียนขนาดเล็ก 15,386 โรง จากทั้งหมด 30,977 โรงทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2556… และมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากอัตราเด็กเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาจริงๆ ของโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่เรื่องจำนวนนักเรียนมีน้อย… แต่เป็นปัญหา “ครูมีไม่พอและไม่ครบ” รวมทั้งทรัพยากรอื่นๆ อีกมากที่พร่องหายไปกับการตกเกณฑ์อันเป็นปัญหาที่ผมเชื่อว่า… ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเจ็บปวดไม่ต่างกันที่แก้ไขอะไรแทบไม่ได้เลย
กรณี “แก่งจันทร์โมเดล” ซึ่งเป็นการรวมโรงเรียนขนาดเล็ก 4 แห่งในเขตพื้นที่อำเภอปากชม จังหวัดเลย ภายใต้แนวคิดในการสร้างเครือข่ายโรงเรียนเพื่อจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาใช้ร่วมกันทั้งงบประมาณ และ บุคลากรทางการศึกษาโดยในลำดับแรกโรงเรียนทั้ง 4 แห่งจะแบ่งและมอบหมายหน้าที่การสอนเฉพาะบางช่วงชั้นกระจายช่วยเหลือและแบ่งปันกัน โดย…
- โรงเรียน ก รับผิดชอบการสอนเฉพาะระดับชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 1 – 3
- โรงเรียน ข รับผิดชอบการสอนเฉพาะระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 2
- โรงเรียน ค รับผิดชอบการสอนเฉพาะระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – 4
- โรงเรียน ง รับผิดชอบการสอนเฉพาะระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 6
จากนั้นก็จะมีการสร้างระบบการเดินทางเชื่อมต่อโรงเรียนทั้ง 4 แห่ง เพื่อให้นักเรียนสามารถเดินทางไปเรียนในโรงเรียนภายในเครือข่ายได้โดยสะดวก เมื่อนักเรียนระดับชั้นเดียวกันถูกย้ายมาเรียนรวมกันในโรงเรียนต่างๆ ตามที่ได้แบ่งช่วงชั้นไว้แล้ว จะส่งผลทำให้จำนวนชั้นเรียนในแต่ละโรงเรียนลดลง ในขณะที่จำนวนครูเท่าเดิม ซึ่งนั่นก็หมายความว่า จำนวนครูเฉลี่ยต่อระดับชั้นจะมีมากขึ้น นอกจากนี้ ห้องเรียนในแต่ระดับชั้นจะมีจำนวนนักเรียนมากขึ้นจนถึงขนาดที่เหมาะสม หรือ ถึงระดับที่เรียกได้ว่าเป็นขั้นการประหยัดจากขนาด หรือ Economy Of Scale ซึ่งทำให้ต้นทุนในการจัดการเรียนการสอนต่อหัวลดลง
แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิดขึ้น… กลไกหลายอย่าง “ที่เคยเป็นไปได้” ดูเหมือนจะไม่ง่ายอีกต่อไป โดยเฉพาะการขนนักเรียนใส่สองแถวหรือรถตู้เวียนไปเรียนกับครูภายในโรงเรียนเครือข่าย ในขณะที่สถานการณ์โควิดและภาวะปกติใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งโควิดและโรคอุบัติใหม่… จำเป็นต้องระมัดระวังกันไปไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้หรือยืนยันได้
ในขณะเดียวกัน… รูปแบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด หรือ Hybrid Learning หรือ Blended Learning เพื่อเตรียมรับสถานการณ์แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในวิกฤตโควิด อันเป็นบทเรียนสำคัญที่ระบบการศึกษาต้องออกแบบใหม่หมด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะหยุดชะงักแบบนี้อีก… ซึ่งจำเป็นต้องจัดเตรียมความพร้อมหลายประการให้พร้อม ถึงขั้นใช้ Hybrid Learning เป็นระบบหลักที่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้แข็งแกร่งบนแนวทางที่จำเป็นต้องยืดยุ่นสูงให้ได้
โดยเฉพาะการจัดหาอุปกรณ์ หรือ Devices เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Hybrid Learning ทั้งคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาและสัญญาณอินเตอร์เน็ต… รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอย่างแพลตฟอร์มและคอนเทนต์ทางการศึกษาที่เอื้อต่อกลไกเชิง Hybrid Learning
โดยความเห็นส่วนตัวมองว่า… การพิจารณาใช้อาคารสถานที่ซึ่งเป็นโรงเรียนภายใต้การจัดการของ สพฐ. ซึ่งจะอย่างไรเสียก็คงต้องยุบรวม… ควรถูกใช้เป็น “ศูนย์บริการ หรือ Hub” ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสได้เข้าถึงคอนเทนต์ทางการศึกษาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ จากครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อกับ Hybrid Learning ที่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรดิจิทัลเพื่อเรียนรู้ฝึกฝนและพัฒนาตน
รายละเอียดอื่นยังไม่คุยครับ… แค่เสนอไอเดีย!
References