Self-blend

Hybrid School

การเตรียมเปิดเรียนในโรงเรียนและสถานศึกษา หลังวิกฤตโรคระบาดที่สร้างหลักคิดและประสบการณ์แบบ “ถูกบังคับให้เปลี่ยน” และต้องคิดใหม่เรื่อง “ไปโรงเรียน” หลายประเด็น… ท้ายที่สุดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ล้วนเห็นตรงกันว่าโรงเรียนแบบเดิม หรือ Traditional School ต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจนไม่เหมือนเดิมแน่นอนแล้ว

โรงเรียนสถานศึกษาที่ไม่ปรับเปลี่ยนในโอกาสนี้ มีโอกาสจะหายไปจากระบบทันทีหากเกิดวิกฤตแบบ COVID-19 อีกครั้งในรอบหน้า… เผลอๆ แค่เจอวิกฤตฝุ่นควันและ PM 2.5 ในฤดูฝุ่นพิษอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ก็เป็นได้ที่ผู้ปกครองและเด็กจะถอนชื่อย้ายไปเรียนที่อื่นดื้อๆ ก็ได้…  เพราะโรงเรียนที่พร้อมออนไลน์ นักเรียนและครูอาจารย์ สามารถงดเว้นไม่ต้องออกจากบ้านมาเสี่ยงโดยไม่จำเป็นได้ ผู้ปกครองที่มีทางเลือก คงขนลูกหลานไปสมัครเรียนที่อื่นแบบไม่ต้องคิดมาก

แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่า เรียนออนไลน์ก็มีจุดอ่อนและมีประเด็นไม่น้อยที่ทดแทนการมาโรงเรียนเจอครูเจอเพื่อนทำกิจกรรมร่วมกันไม่ได้ ทางออกจึงลงตัวที่ผสมกันใช้ทั้ง “ไปโรงเรียนและออนไลน์จนเกิดโมเดล Hybrid Education” ขึ้นทั่วโลกแล้วเช่นกัน

ประเด็นข้อเด่นข้อด้อยของเรียนออนไลน์และไปโรงเรียน จึงเป็นเรื่องที่คุยกันทั่วโลก และหาทางผสมข้อดีกับข้อดีของห้องเรียนและ eLearning เข้าด้วยกันหลากหลายแนวทาง 

กรณีของ San Francisco Flex Academy หรือ SF Flex โรงเรียนเล็กๆ บนถนน 7th avenue ใกล้สวนสาธารณ Golden Gate และ UC SanFran หรือ University of California San Francisco Parnassus Campus ยังคงให้นักเรียนไปโรงเรียน 5 วันต่อสัปดาห์ ที่มีการสอนในห้องเรียนและเรียนด้วยตนเองผ่านทรัพยากรการเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนจัดไว้ให้ โดยเฉพาะนักเรียน Grade 12 ที่เรียนหลักสูตรออนไลน์กลางที่ใช้ร่วมกันทั่วสหรัฐ

ประเด็นคือ… ห้องเรียนของ Hybrid School ไม่ใช่ห้องเรียนแบบเดิม… กรณีของ SF Flex เปิดพื้นที่ขนาดใหญ่ให้เด็กๆ ที่มาโรงเรียนตอนเช้าแยกย้ายกันรับผิดชอบหน้าที่และงานตามตารางส่วนตัวของตนเอง โดยมี Academic Coach หรือครูพี่เลี้ยงช่วยเหลือดูแลตลอดเวลา

กรณี SF Flex ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมจึงเลิกแบ่งเกรด หรือระดับชั้นปีไปเลย แล้วทดแทนด้วย “ตารางกิจกรรม” ที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งนักเรียนต้องบริหารจัดการกิจกรรมและภาระงานของตัวเองในแต่ละวัน โดยยังคงรักษากิจกรรมหลังเลิกเรียน และกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆ เอาไว้ให้นักเรียนเช่นเดิม

การจัดการเรียนการสอนแบบ Hybrid ของ SF Flex ทำให้ครูอาจารย์ยังสามารถใช้หลักสูตรและบริบทการสอนแบบเดิมได้โดยเพิ่มเติมเพียงการบันทึกวีดิโอ เผื่อนักเรียนที่ไม่พร้อมเข้าเรียนร่วมในชั้นหรือ เรียนแบบ Synchronous Remote Learning ไปพร้อมกัน แถมยังดีกับการทบทวนและเรียนซ้ำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ

เวบไซต์ GreatSchools.org ได้แบ่ง Hybrid Learning ออกเป็น 4 แบบได้แก่

1. The Rotation Model โดยนักเรียนยังคงมาโรงเรียน แต่หมุนเวียนระหว่างเรียนออนไลน์ในโรงเรียน และเข้าชั้นเรียน หรือแยกไปทำงานกลุ่มและงานเดี่ยวตามภาระงานที่นักเรียนต้องรับผิดชอบตารางของตัวเอง

2. The Flex Model โดยนักเรียนจะจัดและรับผิดชอบภาระงานของตัวเองทั้งหมด เหมือนกรณีของ SF Flex แต่ยังคงกำหนดให้มีการพบปะครูอาจารย์สม่ำเสมอทุกวัน หรือทุกเมื่อที่เด็กๆ ต้องการ

3. The Self-blend Model โดยนักเรียนสามารถเลือกเรียนออนไลน์จากที่บ้าน ที่โรงเรียนหรือที่ไหนก็ได้ตามต้องการ และนัดเข้าห้องปฏิบัติการ หรือห้อง Lab ที่โรงเรียนตามอัธยาศัย

4. The Enriched Virtual Model โดยนักเรียนจะเรียนออนไลน์ทั้งหมด และมาโรงเรียนเฉพาะกิจกรรมที่กำหนดให้ “ต้องมาโรงเรียน” ที่แน่นอนเท่านั้น

David Haglund อาจารย์ใหญ่โรงเรียน Riverside Virtual School และ ศึกษาธิการเขตการศึกษา Riverside ให้ความเห็นระหว่างการสัมนาออนไลน์ที่จัดโดย WestEd ใน San Francisco ซึ่ง David Haglund ให้ความเห็นว่า… นักเรียนไม่ได้มองหาชั้นเรียนออนไลน์ แต่กำลังมองหาประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้พวกเขามีความยืดหยุ่น สร้างสรรค์และพัฒนาความสามารถให้ตนเอง… ซึ่งโรงเรียน Riverside Virtual School มีนักเรียนสมัครเข้าเรียน Self-blend Model เพิ่มขึ้นมาก

Susan Patrick ประธานและ CEO ของ The International Association for K-12 Online Learning หรือสมาคมส่งเสริมการเรียนออนไลน์เกรด 12 นานาชาติ ให้ความเห็นสนับสนุนในงานสัมนาออนไลน์ที่จัดโดย WestEd ใน San Francisco ว่า… นักเรียนชอบแนวทางจัดการภาระงานด้วยตัวเอง อย่าลืมว่า ที่ผ่านมาเราออกแบบโรงเรียนให้พวกเขาเติบโตไปกับหนังสือเล่มเดียวครูคนเดียว ซึ่งจำกัดความเป็นไปได้ที่จะยืดยุ่นเอื้อต่อนักเรียน… 

แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะ Blend โดยนักเรียนได้… แถมยังต้องเข้าเรียนสม่ำเสมอเช่นเดิมเป็นสำคัญด้วย!!!

Phil Van Haaster นักเรียนเกรด 11 และ Michael Van Haaster นักเรียนเกรด 9 จากโรงเรียน Riverside Virtual School… สองพี่น้องที่บ้านไกลโรงเรียนกว่า 25 ไมล์ หรือราว 40 กิโลเมตร ใช้วิธีพบปะครูที่ปรึกษา หรือ Advisor เพื่อประเมินผลการเรียนสม่ำเสมอ ในขณะที่เด็กอื่นต่างก็เกาะติดสถาบันและตารางเรียนตามหัวข้อในภาระงานอย่างเข้มข้น

นักเรียนบางคนเรียนไม่กี่ชัวโมงก็บรรลุวัตถุประสงค์การเรียน ในขณะที่บางคนอาจใช้เวลาทั้งวัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร วันรุ่งขึ้นเด็กๆ ก็ขวนขวายสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองไม่หยุด

รายงานการวิจัยหัวข้อ The Rise of K–12 Blended Learning โดย Michael B. Horn และ Heather Staker ในนาม InnoInsight แสดงให้เห็นว่า การเติบโตของจำนวนนักเรียนที่ใช้หลักสูตรออนไลน์จากปี 2009 ที่มีราว 45,000 คน ขยับไปเป็นหลักล้านคนทั่วสหรัฐในปี 2011 ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลกลางตัดงบทางการศึกษาลงมากเพื่อบีบให้โรงเรียนและสถานศึกษา ปรับไปใช้การเรียนการสอนออนไลน์ โดยเฉพาะ Grade 12 ที่พึ่งพาเนื้อหาจาก Khan Academy และ K12.com

ข้อมูลที่ผมเรียบเรียงจากเวบไซต์ GreatSchools.org ยังมีรายละเอียดอีกเยอะโดยเฉพาะ “ข้อเสีย ที่นักเรียนหรือผู้ปกครองที่ไม่ตระหนักและรู้จักรับผิดชอบ” หรือมีภาระจำเป็นใดๆ ที่บ้านเรามักเอ่ยอ้าง “ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม” ซึ่งเป็นประเด็นที่มีอยู่ก่อน และต้องแก้ไขโดย “ใครซักคนต้องรับผิดชอบ” มากกว่าจะหยุดทุกอย่างรอเท่าเทียม… ใน San Francisco เองอย่างกรณีโรงเรียน Rocketship Public Schools ในเขต Redwood ซึ่งเป็นโรงเรียนที่รับเด็กจากครอบครัวรายได้น้อย ก็ยังเรียนกันในห้องเรียนแบบดั้งเดิม แต่ก็ให้เด็กๆ ใช้เวลา 2 คาบเรียนต่อวันได้เรียนออนไลน์ในห้องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน

สาระสำคัญคือประเด็น Hybrid School ซึ่งเป็นเรื่องการจัดการโรงเรียน นักเรียนและสถานศึกษา ที่ไม่ใช่เรื่องวิชาการหรือเทคนิค อย่างที่ผมถนัดและเคยนำเสนอไปก่อนหน้า ซึ่งผมมองว่า น่าจะเป็นแนวทางการจัดการที่สมดุลย์… โรงเรียนที่พร้อม Blend ก็ควรเดินหน้าและเกลี่ยทรัพยากรการสอนแบบ Traditional ไปช่วยโรงเรียนที่ไม่พร้อมได้อยู่แล้ว

ประเด็นก็คือ… รายงานการวิจัยหัวข้อ The Rise of K–12 Blended Learning ที่ผมใช้อ้างอิงบทความตอนนี้… ทำขึ้นและเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2011… ซึ่งประจักษ์ชัดว่า ปัญหาการเรียนการสอนในช่วงวิกฤต COVID-19 ในสหรัฐอเมริกามีประเด็นปัญหาน้อยมาก แม้ปัญหาทางระบาดของ COVID-19 จะดูหนักหนากับเศรษฐกิจ การแพทย์และการเมืองในสหรัฐอเมริกาแค่ไหนก็ตาม 

ส่วนการศึกษาบ้านเรา… เพลียเกินจะพูดอะไรต่อแล้วครับ!!!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts