ความเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานสะอาดในกระแส EVs และ พลังงานทางเลือกเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งแสงแดด สายลมและขยะร้อยแปดจำพวก ซึ่งกำลังถูกออกแบบให้เกิดวัฏจักรสมดุลให้หมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศที่ควบคุมเพื่อความยั่งยืน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การยกระดับเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคพลังงาน โดยเทคโนโลยีการสันดาปไฮโดรเจนเพื่อให้ได้กระแสไฟฟ้าด้วยเทคนิค Fuel Cell ได้พัฒนามาถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจแล้ว ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อกันว่า… ไฮโดรเจนนี่เองที่จะมา Disrupted น้ำมันปิโตรเลียมออกจากสถานะพลังงานหลักของโลก ซึ่งเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ยังมีปัญหาเรื่องความจุและศักยภาพในการจ่ายพลังงานที่มีข้อจำกัดอยู่มาก
เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้สันดาปได้สะอาด และ ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 รวมทั้งเขม่าควันอันเป็นต้นตอของวิกฤตสภาพอากาศ ซึ่งลุกลามใหญ่โตเป็นปัญหาฝุ่นควันและโลกร้อน… ซึ่งมีโอกาสทำให้สิ่งมีชีวิตบนดาวโลกสูญพันธุ์ได้ทั้งหมด… รวมทั้งมนุษย์
เพราะการสันดาปเชื้อเพลิงไฮโดรเจนบนเทคโนโลยี Fuel Cell นั้นเป็นเพียงการควบรวมระหว่างไฮโดรเจนสองอะตอม กับ อ๊อกซิเจนหนึ่งอะตอม และ ปลดปล่อยอิเลคตรอนส่วนเกินออกมาเป็นพลังงานไฟฟ้า กับ น้ำหนึ่งโมเลกุล… และเป็นน้ำบริสุทธิ์ตามโครงสร้างทางเคมี H2O ซึ่งไม่เป็นอัตรายสำหรับสิ่งมีชีวิตและมนุษย์บนโลกนี้เลย
ความจริง… ไฮโดรเจนส่วนใหญ่ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมมานาน โดยเฉพาะการกักเก็บและเวียนใช้ในโรงกลั่น รวมทั้งการใช้ในกระบวนการผลิตปุ๋ย และ ถลุงเหล็ก ซึ่งเป็นกรณีการใช้เป็นเชื้อเพลิงแบบเผาไหม้เป็นส่วนใหญ่… ในขณะที่เทคโนโลยีการใช้ไฮโดรเจนในภาคขนส่ง ด้วยเทคนิค Fuel Cell ซึ่งปลดปล่อยพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้ยานพาหนะได้มากพอที่จะรับภาระการเป็นพลังงานหลักทดแทนน้ำมัน มีการผลักดันและเคลื่อนไหวมานานตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดวิกฤตน้ำมัน หรือ Oil Crisis ในช่วงปี 1970 มาแล้ว… แต่ก็ล้มเหลวด้วยปัจจัยหลายอย่างจากมีแง่มุมมากมายที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งอิทธิพลของกลุ่มทุนน้ำมันที่หนุนหลังนักการเมืองของชาติมหาอำนาจ ที่ยังไม่พร้อมจะเลิกขายน้ำมันเพื่อหลีกทางให้เชื้อเพลิงทางเลือกอื่น
ประเด็นก็คือ… แม้ทุกคนจะรู้ว่าไฮโดรเจนบนโลกมีมากมาย โดยเฉพาะที่อยู่ในรูปของน้ำที่โลกมีมากถึง 75% ของพื้นผิว แต่ไฮโดรเจนไม่ได้เป็นพลังงานปฐมภูมิ หรือ Primary Energy ที่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรงเหมือนเชื้อเพลิงฟอสซิล… เพราะไฮโดรเจนเป็นพลังงานทุติยภูมิ หรือ Secondary Energy ที่แปรรูปจากพลังงานอื่น ไม่ต่างจากพลังงานไฟฟ้า
นอกจากนั้น… เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในอดีตที่ซื้อขายอยู่ในตลาด ส่วนใหญ่ยังได้จากการกลั่นน้ำมันซึ่งการซื้อขายไฮโดรเจนจะอ้างอิงราคาน้ำมันดิบ เหมือนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ
ข่าวดีก็คือ… กระแสเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในครั้งนี้มาจากการผลักดันระดับนานาชาติ ซึ่งผลักดันพร้อมงบประมาณมหาศาล… กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือสหภาพยุโรป หรือ EU กับนโยบาย “Green Deal” ซึ่งมีนโยบายมุ่งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2050 โดยจัดสรรงบประมาณกว่า 6 แสนล้านยูโร พร้อมงบลงทุนตามแผนการลงทุน “InvestEU” ที่คาดกันว่าจะรวมกันเป็นงบประมาณเพื่อการลงทุนมากถึง 1 ล้านล้านยูโรในกรอบ 10 ปีของการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด โดยมีไฮโดรเจนถูกจัดอันดับความสำคัญไว้ในลำดับต้นๆ ของแผนนี้
อย่างไรก็ตาม… เส้นทางไฮโดรเจนในฐานะพลังงานหลัก และ สินค้าโภคภัณฑ์ของมนุษยชาติ ท่ามกลางกระแส Green Economy ยังมีโจทย์มากมายให้แก้ไข โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่คุณสมบัติและองค์ประกอบดูดีไปหมดแต่ไม่เคยอยู่ในกระแสหลักมานาน
รายงานการศึกษาหัวข้อ Path To Hydrogen Competitiveness: A Cost Perspective จาก Hydrogen Council ซึ่งวิเคราะห์ความคุ้มทุนในอนาคตของเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ได้ข้อสรุปว่า… การขยายตัวของอุตสาหกรรมคือแนวทางในการลดต้นทุนที่ดีที่สุด ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับการส่งเสริมอย่างชัดเจนจากภาครัฐ… โดยเสนอให้ภาครัฐกำหนดยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนระดับชาติ ให้เป็นการลงทุนของรัฐในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการ Hydrogen Electrolysis หรือ โรงแยกไฮโดรเจนขนาดใหญ่… การปรับปรุงท่อก๊าซธรรมชาติที่รองรับการส่งไฮโดรเจนผ่านท่อ และ สถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ซึ่งภาครัฐต้องเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ออกกฏหมายและปรับระเบียบข้อบังคับ… รวมทั้งการออกมาตรการจูงใจ และ สร้างตลาดสำหรับไฮโดรเจน ทำให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่เคยใช้กับพลังงานทดแทนจนประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว
ส่วนการวิเคราะห์การลงทุนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากรายงานชุด Path To Hydrogen Competitiveness: A Cost Perspective ได้ระบุไว้ 3 ด้านได้แก่
- การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตไฮโดรเจน คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อก่อสร้างและติดตั้ง Hydrogen Electrolyzer ขนาด 70 GW ซึ่งเป็นขนาดที่ใหญ่พอจนทำให้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีต้นทุนที่แข่งขันได้
- การลงทุนในภาคขนส่งราว 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการสร้างเครือข่ายสถานที่เติม และกระจายไฮโดรเจน หรือ Refuel and Distribution
- การลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และ อาคารเพื่อเปลี่ยนมาใช้ไฮโดรเจน คาดว่าจะต้องใช้เงินกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการปรับเปลี่ยน และ สร้างท่อก๊าซที่รับรองไฮโดรเจนได้
ทั้งหมดเป็นข้อมูลของสหรัฐอเมริกา… ประเทศไทยรอต่อไปครับ
References…