แร่ธาตุกับโลหะหายาก รวมทั้งทรัพยากรที่ได้จากกระบวนการทำเหมืองแร่ หรือ Mining ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมจากกิจการเหมืองแร่ทุกรูปแบบ ล้วนถูกข้ออ้างทางเศรษฐกิจ และ ความจำเป็นเชิงวิทยาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง… กดดันให้การยกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกิจการเหมืองแร่นั้นๆ ถูกเบี่ยงเบนให้ต้องหาทางแก้ปัญหาแบบไหนก็ได้ตราบเท่าที่ยังสามารถ “สมยอม” ให้ขุดโลกหาแร่กันต่อไป… ซึ่งแนวทางที่วงสนทนาด้านสิ่งแวดล้อมใหญ่ๆ ทั่วโลกได้พูดถึงแร่ธาตุกับโลหะหายากได้ปรากฏท่าทีเรื่อง Recycle ขยะโลหะ และ การสกัดแร่ธาตุจากขยะอย่างจริงจัง โดยมีแนวคิดการทำเหมืองในเมือง หรือ Urban Mining ถูกแนะนำ และ ค้นคว้าให้กระบวนการนำใช้แร่ธาตุกับโลหะหายากที่ถูกขุดขึ้นมาแปรรูปใช้ประโยชน์ไปแล้วอย่างน้อยหนหนึ่ง ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้อีกครั้งอย่างสมบูรณ์
ข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้นิยามการทำเหมืองในเมือง หรือ Urban Mining ไว้ว่า… เป็นการรีไซเคิลขยะ และหรือ ของเสียเพื่อแยกสกัดเอาแร่ธาตุ หรือ โลหะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่… ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ยืนยันว่ามีเทคโนโลยี และ องค์ความรู้ในการแยกสกัดแร่ธาตุ และ โลหะจากขยะมากกว่า 50 ชนิดที่สามารถเผยแพร่ และ ถ่ายทดเทคโนโลยีได้… ซึ่งผมคิดว่าน้อยคนจะรู้ และ คนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จักว่ามีหน่วยงานรัฐชื่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อยู่ด้วยซ้ำ
กรณีการแยกสกัด “ทองคำ” จากไมโครชิพ และ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ด้วยกระบวนการ Hydrometallurgical Process หรือ กระบวนการโลหวิทยาการละลาย ซึ่งเป็นการใช้ตัวทำละลายที่เหมาะสม “ชะละลาย” สินแร่ หรือ สารประกอบออกจากชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์เหลือทิ้ง ซึ่งเป็นเทคนิคทางเคมีที่ให้ผลไม่ต่างจากกระบวนการโลหวิทยาความร้อนสูง หรือ Pyrometallurgy หรือ การหลอม… ซึ่งกระบวนการที่ใช้ในการทำเหมืองในเมืองก็ยังมีประเด็นเรื่องผลกระทบทางเคมีในกระบวนการโลหวิทยาสารละลายไม่ต่างจากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่… โดยเฉพาะเหมืองทองคำ!
ข้อมูลจากสำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ประจำกรุงเวียนนาได้ถอดข้อมูลเป็นบทความเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายในระดับอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการทำเหมืองในเมือง ซึ่งนักอุตสาหกรรมในยุโรปได้จุดประเด็นเรื่องการนำใช้ “กระบวนการทางเคมีโดยปราศจากความร้อนในการสกัดโลหะจากขยะอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งถ้าแนวทางนี้สามารถทดแทนการขุดแร่ดิบจากเหมืองได้ถึงระดับหนึ่ง… ข้อกีดกันทางการค้าใหม่ก็จะมีเรื่องการใช้วัสดุจากการทำเหมืองในเมืองกับสินค้า และ ผลิตภัณฑ์อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม… Hydrometallurgical Process หรือ กระบวนการโลหวิทยาการละลาย จากการค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เถื่อน รวมทั้งการเล่นแร่แปรธาตุในระดับโฮมเมด ซึ่งอันตรายกับผู้ประกอบการ และ สิ่งแวดล้อมจากกระบวนการ และ การจัดการที่ไม่ปลอดภัย… ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการทำ Hydrometallurgical Process ที่ได้มาตรฐานทางอุตสาหกรรม…
References…