มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่จำเป็นจะต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ร่วมกับผู้อื่น อันเป็นข้อเท็จจริงทางจิตวิทยาของเผ่าพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะบริบทที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์คนอื่นของมนุษย์ทุกคน เป็นความอยู่รอดเป็นตายมาตั้งแต่เผ่าพันธ์มนุษย์ยังไม่มีสติปัญญาและเทคโนโลยีเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธ์อื่นๆ บนโลกมากนัก มนุษย์จึงสร้างสายสัมพันธ์เพื่อปกป้องดูแลและแบ่งปันหลายอย่างระหว่างกัน จนวิวัฒน์มาเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนผ่านที่มาที่ไประดับปัจเจก ซึ่งงดงามในความไม่เหมือนและยุ่งเหยิงเพราะความแตกต่าง
ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน… มนุษย์มีความหลากหลายทางพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์กันด้วยภาษาสื่อสาร… ทั้งที่เป็นวัจนภาษา หรือ Verbal Language และ อวัจนภาษา หรือ Nonverbal Language ซึ่งเป็นวิธีสื่อสารพื้นฐานที่มนุษย์ใช้เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกัน
ประเด็นก็คือ… มนุษย์ใช้ภาษาทั้งสองแบบเพื่อสื่อความสิ่งที่คิด ประเด็นที่เข้าใจ และ ความหมายที่รู้สึก ซึ่ง “ความ หรือ ความหมาย” ทั้งหมดที่แปรเป็นภาษาเพื่อสื่อสาร ล้วนผ่านขั้นตอนทางสติปัญญา หรือไม่ก็ผ่านขั้นตอนทางอารมณ์ความรู้สึก หรือหนักหน่อยก็ผ่านสัญชาตญาณในตัวก่อนจะถ่ายทอดออกไปเสมอ… ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือ ผ่านทุกทางพร้อมๆ กัน
ในทางเทคนิค… ธรรมชาติของการสื่อสารก็จะมีความบกพร่องคาดเคลื่อนของ “ความ หรือ ความหมาย” ที่สื่ออกไปจากอีกฝ่ายที่เป็นผู้ส่งสาร ซึ่ง “ความ หรือ ความหมาย” ในฝั่งผู้รับสาร อาจจะสำเนาความหมายได้ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือ อาจผิดพลาดไขว่เขวแบบพูดคนละเรื่อง และ เข้าใจคนละประเด็น เข้าข่ายถาม “ไปไหนมา?” ตอบ “สามวาสองศอก” นั่นเอง
แต่ที่หนักกว่านั้นก็คือ… ปฏิสัมพันธ์ที่นอกจากจะผิดพลาดใน “ความ หรือ ความหมาย” ตามที่ต้องการแล้ว บ่อยครั้ง “มีการตีความภาษา” ที่ใช้ปฏิสัมพันธ์ต่อกัน จนความพยายามในการสื่อความระหว่างกันในวัตถุประสงค์แรก ถูกข้ามเลยไปปฏิสัมพันธ์ด้วยประเด็นสดใหม่กว่าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือ ทั้งสองฝ่าย… ตีความขึ้นใหม่ในระหว่างปฏิสัมพันธ์กัน… ซึ่งส่วนใหญ่จะตีความผ่านความกลัว หรือไม่ก็ตีความด้วยดุลพินิจจากความหวาดระแวงกันและกัน จนกลายเป็นข้อสรุปเชิงลบต่อปฏิสัมพันธ์ กลายเป็นหายนะในสายสัมพันธ์ เห็นเป็นความขัดแย้งระดับต่างๆ ทั่วไป
ในทางจิตวิทยา… การตีความภาษา โดยเฉพาะอวัจนภาษาที่ใช้สื่อสารกันด้วยนิยามของฝ่ายผู้รับสารล้วนๆ โดยไม่สนใจนิยามที่แท้ของอีกฝ่าย ซึ่งอาจจะมี “ถ้อยความ หรือ ความหมาย” ที่ไม่ได้แฝงเจตนาให้เกิดการตีความทางภาษาในเชิงลบ โดยเฉพาะเชิงลบในขั้นหมิ่นทำลายเกียรติ หรือ ริดรอนทำลายสิทธิ์ของผู้รับสาร… ซึ่งในประเด็นทำนองนี้จะเป็นความเข้าใจผิดในความหมายของเนื้อความ หรือ ความหมายของเนื้อสาร โดยขาดเจตนาหมิ่นทำลายเกียรติ หรือ ละเมิดสิทธิ์ของผู้รับสาร… แต่ก็ถือว่าคุยกันไม่รู้เรื่องอยู่ดี
ส่วนการใช้ภาษาเพื่อ “สื่อความ หรือ แฝงความหมายเชิงลบ” โดยมุ่งหมิ่นทำลายเกียรติ หรือ ละเมิดสิทธิ์ของผู้รับสารโดยหวังผล… ในทางเทคนิคจะไม่ถือว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ผิดพลาดใน “ความ หรือ ความหมาย” ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้รับสาร รับรู้ได้ถึงการสื่อสารที่มุ่งหมิ่นทำลายเกียรติ หรือ ละเมิดสิทธิ์ตนตรงตามวัตถุประสงค์
Professor Jonathan Culpeper จาก Lancaster University เคยตีพิมพ์ผลงานหลายชิ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 ที่พูดถึง Impoliteness หรือ ความไม่สุภาพ และ Linguistic Impoliteness หรือ ภาษาไม่สุภาพ ซึ่งความไม่สุภาพทางภาษาจะเป็นกลยุทธ์การสื่อสาร ที่ใช้เพื่อมุ่งทำให้ผู้รับสารเสียหน้า หรือ ริดรอนสิทธิ์อันเป็นภาพลักษณ์และเกียรติที่มีต่อสังคมของอีกฝ่าย และ นำมาซึ่งข้อพิพาทและความแตกแยกระหว่างกัน…
ผลงานตีพิมพ์ของ ดร.นภัทร อังกูรสินธนา เรื่อง กลวิธีความไม่สุภาพทางภาษาในภาษาไทย ได้สรุปกลยุทธ์และวิธีการสื่อสารด้วยภาษาในแบบ ใช้ภาษาไม่สุภาพ หรือ Linguistic Impoliteness ประกอบด้วย
- การใช้คำอุทานแสดงอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบ
- การใช้คำลงท้ายที่ไม่สุภาพ
- การใช้คำต้องห้าม
- การใช้คำที่มีความหมายทางลบ
- การกล่าวถ้อยคำที่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพ
- การกล่าวถ้อยคำที่มีเนื้อความเกี่ยวกับข้อบกพร่องของผู้ฟัง
- การไม่ยอมรับ
- การทำให้กลัว
- การใช้วัจนกรรมการสั่ง
- การประชดประชัน
- การท้าทาย
- การระงับความสุภาพ
ถึงตรงนี้… “ความ” ที่พอสรุปได้ในประเด็นความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์อันเริ่มต้นจาก “ความไม่สุภาพจากการประเมินถ้อยความ ทั้งจากวัจนภาษาและอวัจนภาษาที่ใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน” ซึ่งไม่ว่าจะปฏิสัมพันธ์ให้ขัดแย้งด้วยด้วยเจตนา หรือ ไม่เจตนา… ด้วยความกลัวและกังวลหวั่นไหว หรือ หยิ่งยโสและอวดดี… ด้วยความโง่เขลา หรือ ร้อยเล่ห์พันเหลี่ยม… แต่ถ้าถ้อยความในสารที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ทำลายเกียรติ หรือ ละเมิดสิทธิ์ระหว่างกันไปแล้ว… สถานการณ์ความสัมพันธ์ต่อจากนั้นคงไม่ง่ายอีกต่อไป ถึงแม้ว่าทุกฝ่ายจะมีเหตุผล “ข้ออ้างที่ฟังดูชอบธรรมให้ตนเอง” ขนาดไหนก็ตาม
เพราะความไม่สุภาพระดับเกินขีดการยอมรับระหว่างกันได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว!
References…
- Politeness
- Respect
- Disrespectful behaviors their impact why they arise and persist and how address them part
- Featured Image: Photo by Liza Summer from Pexels