มนุษย์ทุกคนที่ระดับสติปัญญาสามารถเรียนรู้และดูแลตนเองได้ จะมีทัศนคติและมุมมองต่อตัวเองค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะทัศนคติต่อภาพลักษณ์ส่วนตนในสายตาผู้อื่น รวมทั้งทัศนคติเชิงศักยภาพจากมุมมองความรู้และทักษะที่ตัวเองมี… เมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่น
บทความตีพิมพ์ในหัวข้อ The Impostor Phenomenon ในวารสาร The International Journal of Behavioral Science ได้เปิดประเด็นเรื่อง “ผลกระทบทางจิตใจ” จากทัศนคติและมุมมองต่อตนเองของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นความเชื่อเบื้องลึกต่อตัวเองว่า… ฉันไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ ไม่ฉลาดพอ ความรู้น้อย ทักษะต่ำ ขี้เหร่ อ้วนดำต่ำจน และอะไรอื่นอีกสารพัด ที่ทำลายความเชื่อมั่นส่วนตนจนกลายเป็นทุกข์ร้อนเคร่งเครียดในชีวิต
นักจิตวิทยาเรียกทัศนคติและมุมมองกดดันตัวเองแบบนี้ว่า Impostor Syndrome ซึ่งถือเป็นภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจแบบหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพและชีวิตตัวเองอย่างสำคัญ
กรณีบางคนที่ทำงานมากว่ายี่สิบปี แต่เมื่อถึงวันที่คนเหล่านี้จะได้รับโปรโมทขึ้นไปรับผิดชอบงานในระดับสูงขึ้น พวกเขากับเครียดและไม่มั่นใจศักยภาพของตัวเอง เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่เก่งพอจะไปทำหน้าที่สำคัญขนาดนั้นได้… ทัศนคติและมุมมองแบบ Impostor Syndrome จึงทำลายความสุขในช่วงเวลานั้นของชีวิต และถึงขั้นส่งผลต่ออนาคตนับแต่นั้นยาวไกลไปชั่วชีวิตก็มี
งานวิจัยทางจิตวิทยาในหัวข้อ The imposter phenomenon in high achieving women: Dynamics and therapeutic intervention โดย Dr.Pauline Rose Clance และ Dr.Suzanne Imes ในปี 1978 ได้อธิบายความรู้สึกของคนๆ หนึ่งที่คิดว่า… เราเป็นคนไม่เก่งอะไรเลย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และ การพบประชากรช่วงวัยทำงานที่ขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากมายในเวลาต่อมา ยืนยันภาวะ Impostor Syndrome สามารถรบกวนความปกติสุขทางใจของคนส่วนหนึ่งได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในหนังสือ The Secret Thoughts of Successful Women: Why Capable People Suffer from the Impostor Syndrome and How to Thrive in Spite of It โดย Dr. Valerie Young ได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคนที่มักจะมีภาวะ Impostor Syndrome เกิดขึ้นรบกวนชีวิตส่วนตัวได้แก่…
- Perfectionist หรือ มนุษย์สมบูรณ์แบบ… คนกลุ่มนี้จะเคร่งเครียดกดดันอยู่กับผลงานส่วนที่ตัวเองยังเชื่อว่าทำได้ไม่ดี… แม้ส่วนที่เชื่อว่ายังไม่ดีจะมีเพียง 1% เท่านั้นก็ตาม
- Expert หรือ มนุษย์ผู้เชี่ยวชาญ… คนกลุ่มนี้จะต้องการรู้แจ้งเห็นจริงก่อนทำอะไรๆ ทุกอย่าง และจะวนเวียนอยู่กับการพิสูจน์ความสามารถและคุณสมบัติของตัวเอง และหลีกเลี่ยงเหตุการณ์และสถานที่ๆ ที่อาจจะทำให้ตัวเองดูโง่หรือไร้ความสามารถ
- Natural Genius หรือ มนุษย์มีพรสวรรค์… จะเป็นกลุ่มคนที่เคยทำบางเรื่อง หรือ หลายๆ เรื่องได้ดีอย่างน่าพอใจ จนกระทั่งหลายสิ่งหลายอย่างแวดล้อมเกิดเปลี่ยนแปลง ทำให้เห็นความผิดพลาดบกพร่องของความรู้ความสามารถของตนเองในปัจจุบัน
- Soloist หรือ มนุษย์ฉายเดี่ยว… ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำอะไรคนเดียวสำเร็จดีงามอย่างน่าพอใจมาตลอด แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องขอความช่วยเหลือและพึ่งพิงคนอื่น… มนุษย์ฉายเดี่ยวก็จะรู้สึกกังวลขึ้นมาจนไม่กล้าทำอะไร
- Superman/Superwoman หรือ มนุษย์ซุปเปอร์ฮีโร่… หรือเหล่ามนุษย์ที่พิสูจน์ตนเองด้วยการทำอะไรเกินค่าเฉลี่ยคนทั่วไป ทั้งกินน้อย นอนน้อย ทำงานหนัก หรือ ทำผลงานให้ได้สองสามเท่าของคนเก่งๆ ทั่วไป
ประเด็นจึงมีว่า… สาเหตุที่ทำให้คนๆ หนึ่งต้องเผชิญกับภาวะ Impostor Syndrome มาจากอุปนิสัยส่วนตัวเป็นหลัก… ซึ่งนักจิตวิทยาส่วนหนึ่งมีความเชื่อเพิ่มเติมว่า อาจเป็นผลมาจากครอบครัว และสภาพแวดล้อทที่ล่อหลอมให้คนๆ นั้นเติบโตขึ้นนั่นเอง
Dr. Audrey Ervin นักจิตวิทยาระดับเชี่ยวชาญจาก Delaware Valley University ตั้งข้อสังเกตุว่า… ความทรงจำในวัยเด็กหลายกรณี อย่างความรู้สึกว่าผลการเรียนของเราไม่เคยดีในสายตาของพ่อแม่ หรือ การต้องอยู่ใต้เงาความสำเร็จของพี่น้องตัวเอง อาจทำให้เรารู้สึกว่า การที่จะได้รับความรักและคำชื่นชมจากคนรอบข้างต้องพิสูจน์ด้วยความเก่งและการประสบความสำเร็จ และนั่นทำให้คนๆ หนึ่งตกอยู่ในภาวะ Impostor Syndrome ไม่จบสิ้นไปชั่วชีวิต
นอกจากนั้น… สภาพแวดล้อมรอบตัวที่ทำลายความเชื่อมั่นส่วนตน เช่น การได้ไปนั่งประชุมร่วมกับคนที่ข้อมูลแน่น ผลงานโดดเด่นจนรู้สึกตัวเองไม่มีอะไรเทียบเทียมเท่าเขา ก็เกิดภาวะ Impostor Syndrome กับคนๆ นั้นได้ไม่ยาก
ประเด็นก็คือ… Impostor Syndrome เกิดกับทัศนคติส่วนตัว ที่ต้องซ่อมและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับตนเอง โดยไม่ต้องไปหมกมุ่นหรือพยายามกับทักษะความสามารถ หรือ อะไรที่มันไม่มีจนเกินพอดี… และเมื่อรู้ว่าตนเองรู้สึกแย่กับตัวเอง เซ็งกับตัวเอง รวมทั้งความคิดด้านลบต่อตนเอง โดยเฉพาะการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นหรืออย่างอื่น… สิ่งแรกที่ควรทำคือ การพยายามเข้าใจและรู้ทันความคิดตัวเองที่กำลัง “รังแก บีบคั้นและกดดันจิตใจตัวเอง” อยู่ให้ได้
คนส่วนใหญ่รู้วิธีปกป้องโต้ตอบไม่ให้คนอื่นรังแกตัวเองอยู่แล้ว… ก็สามารถใช้วิธีเดียวกัน หรือ คล้ายกันปกป้องโต้ตอบจิตใจตัวเองที่กำลังรังแกตัวเองอยู่… หรือหนักหนาถึงขั้นต้องหาคนช่วยให้ผ่านจุดวิกฤตด้านมุมมองทัศนคติต่อตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะขอความช่วยเหลือคนใกล้ชิด และหรือ พูดคุยขอความช่วยเหลือจากคลินิคทางจิตเวชให้ช่วยคลายปมขัดแย้งในตัวเองบ้างก็ได้
อย่าปล่อยให้ตัวเองมาบูลลี่ หรือ Bully ตัวเองเลย…
References…