ความมุ่งมั่นระดับองค์กรเพื่อมองหา S-Curve ใหม่ ให้กิจการเข้าถึงการเติบโตรอบใหม่ ในโอกาสที่กระแส Digital Disruption กดดันให้ทุกภาคส่วนต้องเปลี่ยนแปลงโดยปริยายอยู่แล้วในช่วงนี้ ดูเหมือนจะมีเคลื่อนไหวตั้งแต่ระดับปัดฝุ่นวิสัยทัศน์ ไปจนถึงริเริ่มสิ่งใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยความท้าทายล้วนๆ ก็มีให้เห็นส่งท้ายปี ผ่านความเคลื่อนไหวการหาคนนวัตกรรมตั้งแต่หา Talent ไปจนถึงที่ปรึกษาก็มี
ตัวอย่างความพยายามของ AirAsia ที่รายได้จากธุรกิจการบินหายไปจนกิจการซวนเซ ตั้งแต่วิกฤตโควิดจู่โจมใส่การท่องเที่ยวและการเดินทาง จนเครื่องบินทุกลำต้องจอดสนิทไปทั้งหมดนั้น… ข่าวล่าสุดกับความพยายามที่จะหา S-Curve ด้วยโมเดล OTA หรือ Online Travel Agency ซึ่งเป็นโมเดลสร้างโอกาสให้ AirAsia อีกครั้ง… ทางข้างหน้าแม้ยังอีกยาวไกล แต่ที่ชัดเจนแล้วตอนนี้คือ… ลุกได้และไปต่อไม่รออะไรอีกแล้ว… ซึ่งก็เป็นตัวอย่างการมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง
นอกจาก AirAsia แล้ว… ความเคลื่อนไหวจากธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายต่างก็ขยับหาอะไรใหม่ๆ จนความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเกิดเป็นกระแสที่ชัดเจนจากการมองหา “นวัตกรรมช่วยสร้างการเติบโตของรายได้ให้องค์กร”
ข้อมูลในมือผมตอนนี้ มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาไปจนถึงการประกาศรับสมัครมือดีมีความสามารถ ซึ่งเป็นสัญญาณการจ้างงานรอบใหม่ที่ชัดเจนว่า… ธุรกิจมากมายกำลังคิดสร้างนวัตกรรม และกำลังสร้างทีมพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่กันอย่างคึกคัก
ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับหลายๆ ท่านในประเด็นการสร้างทีมนวัตกรรมมาบ้าง และเรียนตามตรงว่า… ในบางความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรม ยังน่าเป็นห่วงในประเด็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการลงทุนกับเทคโนโลยีและการหาคนมาใช้เทคโนโลยี
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมก็จริง แต่ประสิทธิภาพที่เทคโนโลยีจะทำงานคืนเงินลงทุนและเพิ่มกำไรให้กิจการ ยังไงก็ถือว่าเป็นส่วนที่จริงกว่าและต้องคำนึงก่อนเสมอ…
การคิดถึงนวัตกรรมทั้งแบบ “ซื้อมาใช้และทำขึ้นใช้” จึงควรเริ่มต้นที่คนก่อนเทคโนโลยีเสมอในความเห็นของผม… การซื้อของไฮเทคมากองอวดกันภายในแต่ไม่มีใครใช้เป็นสักคนหรือแม้แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะใช้ประโยชน์ของไฮเทคเหล่านั้นยังไง… จึงเป็นตลกร้ายของวงการนวัตกรรมที่เกิดขึ้นให้เห็นเรื่อยๆ กับองค์กรที่… คนเยอะงบเยอะและกลัวล้าหลังเยอะ!!!
ประเด็นแรกที่อยากพูดถึงเกี่ยวกับการซื้อของใหม่ไฮเทคมาใช้ หรือเพียรสร้างของใหม่ขึ้นใช้… ซึ่งผมมองว่าต้องริเริ่มโดยคนกลุ่มหนึ่ง พร้อมวิสัยทัศน์ที่แจ่มชัดว่า ภาพเป้าหมายสุดท้ายจะเห็นอะไรเป็นอย่างไรในอนาคต
ผมกำลังพูดถึงคนหลายๆ คนที่จะมารวมกันเป็นทีมเพื่อสร้างนวัตกรรม… วิสัยทัศน์หรือ Vision และชุดความคิดหรือ Mindset ที่จะสร้างและใช้นวัตกรรมที่ชัดเจนตรงกันก่อน… คำถามที่สำคัญในการกำหนด Vision and Mindset เพื่อขับเคลื่อนก็คือ… จะเอานวัตกรรมไปแก้ปัญหาอะไร?
นั่นแปลว่า… สมาชิกทีมหนึ่งคนอย่างน้อยต้องรู้จักและเข้าใจปัญหาอันนั้นอย่างดีก่อน และข้อควรระวังคือ ต้องไม่ดึงคนที่รับรู้การมีอยู่ของปัญหาแค่ระดับผิวเผิน มาทำหน้าที่แกะปัญหาให้สมาชิกทีมเข้าใจ โดยไม่เปิดรับการทำ Identifying Pain Points ที่ชัดเจน… กับดักสำคัญที่น่ากลัวที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ ผู้บริหารหรือหัวหน้าที่อยากพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาอันนี้นี่แหละ ที่เข้าใจว่าตัวเองรู้ปัญหาดี ซึ่งหลายกรณีก็รู้และเข้าใจจริง แต่หลายกรณีท่านรู้ไม่จริงหรอกครับ ตราบเท่าที่ท่านไม่ได้เจ็บปวดกับปัญหาโดยตรง หรือเห็นคนเจ็บปวดจากปัญหานั้นจนท่านอยากช่วยแก้ไขจริงๆ
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องใหญ่คือการหาผู้เล่นมาเข้าทีม… ผมจงใจใช้คำว่า “ผู้เล่น” เพื่อให้ท่านเห็นภาพคล้ายกับทีมกีฬา ที่ต้องการผู้เล่นที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ มาร่วมทีมเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ… คุณสมบัติและความสามารถของสมาชิกทีมจึง “ควรจะหลากหลาย” จนเมื่อรวมกันเป็นทีมแล้วเห็นภาพว่ามีจุดแข็งเพียงพอที่จะไขว่คว้าวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้นั้นได้
โดยประสบการณ์ส่วนตัว… การสร้างทีมและหาคนเข้าทีมนวัตกรรมไม่ถือว่าง่าย แต่ที่ยากกว่าคือการบริหารและรักษาทีมนวัตกรรมให้อยู่ร่วมกันภายใต้บรรยากาศสร้างสรรค์จนมีผลงาน… ซึ่งหลายกรณีอ่อนไหวจนคนที่ขาดความเข้าใจเรื่องการพัฒนานวัตกรรม ทำพังเข้าขั้นล้มเหลวโดยไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยนอกจาก… เข็ดและเก็บความล้มเหลวนั้นไว้บอกคนอื่นว่า… พี่ทำมาหมดแล้ว!!!
ประเด็นสำคัญของการทำทีมนวัตกรรมเพื่อพัฒนานวัตกรรมหรืออะไรใหม่ๆ จึงต้องการความเข้าใจขั้นลึกซึ้งว่า… ใหม่หมายถึงยังไม่เคยมีมาก่อน นั่นแปลว่าบรรยากาศการสื่อสารและความสัมพันธ์ภายในทีมนวัตกรรมที่หวังผลการเปลี่ยนแปลงด้วยแนวทางใหม่… ต้องการความพร้อมรอบด้านเพื่อการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมเสมอ

Susan Wojcicki สาวแกร่งผู้คลุกคลีอยู่กับทีมนวัตกรรมอันดับต้นๆ ของโลกในฐานะ CEO ของ YouTube เคยเผยแพร่แนวทางพัฒนานวัตกรรมเอาไว้ในบทความชื่อ The Eight Pillars of Innovation ซึ่งประเด็น 8 เสาหลักนวัตกรรมของ Susan Wojcicki ถือเป็นแนวทางหลักที่นวัตกรระดับผู้นำเอามาปรับใช้กันเป็นส่วนใหญ่… 8 เสาที่ว่าประกอบไปด้วย
- Have A Mission That Matters หรือ ต้องเป็นภารกิจที่มีความสำคัญ
- Think Big But Start Small หรือ คิดใหญ่แต่เริ่มให้เล็ก
- Strive For Continual Innovation, Not Instant Perfection หรือ มุ่งสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่เสียเวลาเรื่องความสมบูรณ์แบบ
- Look For Ideas Everywhere หรือ หาไอเดียจากทุกแหล่งแห่งหน
- Share Everything หรือ แบ่งปันทุกอย่างกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
- Spark With Imagination, Fuel With Data หรือ จุดประกายด้วยจินตนาการ และขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
- Be Platform หรือ ไปให้ถึงการเป็นแพลตฟอร์ม หรือสร้างสิ่งที่คนจำนวนมากค่อนโลกได้ประโยชน์และต้องการ
- Never Fail To Fail หรือ อย่าล้มเหลวเพื่อล้มเลิกไปตลอดกาล
ผมตัดมาสั้นๆ เฉพาะหัวข้อจาก The Eight Pillars of Innovation ของ Susan Wojcicki ในฐานะ CEO ของ YouTube ประมาณนี้ครับ… ซึ่งทั้ง 8 ข้อที่ว่านี้ สามารถนำไปสร้างวัฒนธรรม หรือ เขียนเป็นค่านิยมของทีมนวัตกรรมที่ท่านอยากสร้างและเก็บเกี่ยวผลงานของพวกเขาได้… ลองพิจารณาดูครับ!!!