การจัดการเรียนการสอนเฉพาะคน หรือ Personalized Education ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ระบบการศึกษาทั่วโลกระบุให้เป็นเป้าหมายหลักเหมือนๆ กันหมดว่า “ต้องทำให้ได้โดยเร็ว” กับผู้เรียนทุกระดับตั้งแต่วัยก่อนอนุบาล หรือ Pre-Kindergarten ไปจนถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในระดับการศึกษาหลังปริญญาเอก หรือ Postdoctoral… ซึ่ง Personalized Education จำเป็นกับปรัชญาการศึกษาทุกระดับ เพื่อออกจากวงจร One Size Fit Alls ที่ศักยภาพซ่อนเร้นของคนส่วนใหญ่ถูกกดทับจากระบบกลางที่มีใครบางคน หรือ บางกลุ่มชี้เอาว่าจัดหลักสูตรแบบนี้ ให้คนกลุ่มนี้ เพียงเท่านี้ ก็เหมาะสมเพียงพอแล้ว… ซึ่งก็เพียงพอกับภาระของคนจัดการที่ทราบดีอยู่ตลอดว่าไม่ได้พอสำหรับผู้เรียนแม้แต่คนเดียว เพราะผู้เรียทุกคนต่างก็ได้ความรู้และทักษะจากระบบการศึกษไปแบบขาดๆ เกินๆ กันทุกคน
การจัดการเรียนการสอนเฉพาะคน หรือ Personalized Education จึงต้องหากระบวนวิธีกันใหม่… ซึ่งก็โชคดีที่มีนักจิตวิทยาชาวรัสเซียอย่าง ศาสตราจารย์ Lev Vygotsky ที่ศึกษาและอธิบายพัฒนาการของคนเราสามารถดีกว่าเดิมได้ด้วย Zone of Proximal Development หรือ ZPD ที่หมายถึงพื้นความรู้และทักษะอันเป็นรอยต่อระหว่างสิ่งที่รู้กับสิ่งที่ยังไม่มีทางรู้ หรือ พื้นที่พัฒนาการของชีวิตที่กำลังอยากรู้อยากเห็น – อยากทำ – อยากสัมผัส – อยากมีประสบการณ์ –อยากได้ หรือ อยากเป็น… ซึ่งไม่ว่าจะอยากเองโดยธรรมชาติ หรือ อยากเพราะถูกกระตุ้นจากอะไรก็ตาม… พื้นที่ความอยากรู้อยากเห็นทั้งหมดนั้นจะแตกต่างกันไปโดยธรรมชาติของแต่ละคน และ ความอยากรู้อยากเห็นของแต่ละคนจะต้องการความช่วยเหลือบางอย่างหรือหลายอย่างเสมอ… การช่วยเหลือที่ต้องเตรียมให้คนอยากรู้อยากเห็นตามกรอบทฤษฎี ZPD นี่เองที่เข้าข่าย Personalized Education ซึ่งถูกนำใช้ผ่านกระบวนวิธีที่เรียกว่า Instructional Scaffolding

Instructional Scaffolding หรือ Scaffolding เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยผู้สอนให้การสนับสนุนผู้เรียนให้สามารถปีนป่ายไปเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ยากๆ ได้อย่างราบรื่น เหมือนเป็นนั่งร้าน หรือ Scaffold หรือ Scaffolding ที่ช่างก่อสร้างต่อใช้เพื่อปีนป่านไปทำงานยากๆ สูงๆ เสี่ยงๆ ได้อย่างราบรื่น… ซึ่งบทบาทผู้สอน หรือ Instructors ในวิธีจัดการเรียนการสอนแบบ Instructional Scaffolding จึงอยู่ในฐานะ Facilitator ให้ผู้เรียนได้อย่างแท้จริง โดยผู้เรียนเองก็สามารถตั้ง “เป้าหมายการเรียนรู้ของตนเอง” เพื่อให้ Facilitator ช่วยหานั่งร้านเพื่อการเรียนรู้ฝึกฝนส่วนตัวได้ไม่ยาก
บทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร สืบค้า จากคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อธิบายว่า… การสอนแบบ Scaffolding มี 3 ขั้นตอนได้แก่
- Model หรือ การเลือกรูปแบบ… เป็นการสร้างความสนใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ อาจใช้วิธีการสาธิต การปฏิบัติหรือทำให้ดู การบรรยาย การยกตัวอย่าง การใช้กรณีศึกษา การให้ดูภาพเป้าหมายที่ต้องการไปถึง การพูดจาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจว่าผู้เรียนสามาถทำได้ การใช้คำถามกระตุ้นเตือน ใช้เทคโนโลยีภาพเคลื่อนไหวและเสียง ให้ผู้เรียนสังเกตและวิเคราะห์ เป็นต้น ผู้สอนเป็นผู้เลือกเทคนิควิธีต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมกับระดับการเรียนรู้ของผู้เรียน
- Breakdown หรือ การแยกย่อย… ขั้นตอนการแยกย่อยเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เป็นการแตกย่อยกิจกรรมให้เป็นงานย่อยๆ เพื่อแจกแจงงานให้เป็นขั้นตอนไม่ซับซ้อน ลดขนาดของงานลงจากงานที่มีลักษณะง่ายไปหายาก เสมือนกับว่าผู้สอนเป็นผู้สร้างจุด หรือ Dots แล้วคอยให้การช่วยเหลือแกีผู้เรียนซึ่งจะเป็นผู้เชื่อมจุด หรือ Connecting The Dots ผ่านการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติงานที่ผู้เรียนไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยตนเอง โดยการช่วยเหลือจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและลดลง ในขณะที่ผู้เรียนจะค่อยๆ เพิ่มความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยตนเองมากขึ้น ซึ่งก่อนการแตกย่อยกิจกรรมนั้น ผู้สอนควรจะหาช่องว่างที่ขาดหายไป หรือ Finding a Gap)เพื่อทบทวนว่ากิจกรรมใดที่ผู้เรียนยังทำไม่ได้ กิจกรรมใดที่ทำได้ เพื่อที่ผู้สอนจะได้เน้นไปที่กิจกรรมที่ยังทำไม่ได้เป็นพิเศษ ซึ่งอาจใช้วิธีการเสริมสร้างทักษะ การให้ความรู้ การเลือกใช้คำศัพท์ การใช้ภาษาที่เหมาะสม การให้เคล็ดลับ การใช้เทคนิคพิเศษ การมีกลยุทธเฉพาะ การนำเสนออุปสรรคหรือปัญหาที่คาดว่าจะเกิด การสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น
- Encourage หรือ การให้กำลังใจ… การให้กำลังใจ และหรือ การให้ข้อมูลป้อนกลับ หรือ Feedback อาจจะเป็นการชมเชย การให้ข้อคิดเห็น การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน การวิจารณ์แบบสร้างสรรค์ รวมทั้งการให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นต้น
รายละเอียดมีเยอะมากครับ… ขออนุญาตตัดจบเท่านี้ที่ผมเชื่อว่าพอจะเห็นภาพจากแนวคิดและปรัชญาการศึกษาที่พัฒนามาจากทฤษฎีจิตวิทยาระดับ Grounded Theory อย่าง ZPD และ เนื้อหาส่วนที่ขาดหายบกพร่องทั้งหมดผมน้อมรับไว้คนเดียวครับ!
References…