การเป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจค้าขายโดยไม่สนใจอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ เครื่องหมายการค้า หรือความลับและความรู้เฉพาะทางที่ทำให้เราดูดีกว่าคู่แข่ง หรือแม้แต่ได้เปรียบคู่แข่ง… ซึ่งในแวดวงที่ปรึกษาการลงทุน รวมทั้งที่ปรึกษาทางธุรกิจและนักบริหารธุรกิจที่รู้งาน… ต่างมองหาสิ่งที่เรียกว่า Unfair Competitive Advantage หรือ Unfair Advantage หรือแต้มต่อเหนือคู่แข่ง… ซึ่งมีปัจจัยมากมายที่เข้าข่าย Unfair Advantage และหนึ่งในนั้นคือทรัพย์สินทางปัญญา
คำว่าทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่คำใหม่ ซึ่งคนในแวดวงธุรกิจน่าจะรู้จักหรืออย่างน้อยก็เคยได้ยินคำๆ นี้มาบ้าง… และทรัพย์สินทางปัญญาสามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ภายใต้โครงการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน โดยมีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้รับผิดชอบ…
ในฐานะผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ การทำความรู้จักกับ ทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะแต้มต่อของธุรกิจ และในฐานะหลักประกันทางธุรกิจ จึงควรรู้จักประเภทของทรัพย์สินทางปัญญาทั้ง 5 ประเภท ที่กำหนดใช้ในประเทศไทยเอาไว้เป็นเบื้องต้น… ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาทั้ง 5 ประเภทประกอบด้วย
1. ลิขสิทธิ์
เป็นสิทธิ์การคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยการใช้ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และความพยายาม โดยไม่ลอกเลียนแบบงานของผู้อื่น โดยผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นจะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติได้ทั่วโลก ไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งความคุ้มครองนี้จะมีไปตลอดอายุของผู้สร้างผลงาน และจะคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต เช่น งานวรรณกรรม ศิลปกรรม ภาพยนตร์ และซอฟต์แวร์ เป็นต้น
2. สิทธิบัตร
เป็นหนังสือสำคัญที่คุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น กรรมวิธีในการผลิต การรักษา ปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ต้องเป็นเทคนิคที่ไม่สามารถคิดค้นได้โดยง่ายหรือมีการใช้เทคโนโลยี โดยสิทธิบัตรจะให้สิทธิแก่ผู้ประดิษฐ์คิดค้น ให้สามารถผลิตสินค้าและจำหน่ายสินค้านั้นได้เพียงผู้เดียวในช่วงระยะเวลาที่กำหนด
3. เครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าหมายถึง เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ตรา สี หรือแบบตัวอักษร ที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้น แตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าอื่น ดังนั้นอะไรที่คนเห็นแล้วนึกถึงเราก็ควรนำมาจดเป็นเครื่องหมายการค้า
4. ความลับทางการค้า
เป็นข้อมูลที่ปกปิดเป็นความลับ มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ หากมีการเปิดเผยออกไปจะทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบเสียหาย โดยความลับทางการค้าจะได้รับการคุ้มครองตราบเท่าที่ยังเป็นความลับ โดยไม่ต้องมีการจดทะเบียนแต่อย่างใด… ตัวอย่างความลับทางการค้า เช่น สูตรอาหาร ส่วนผสมของสบู่ ส่วนประกอบของกระจกนิรภัย เป็นต้น
5. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง
ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้า ที่เป็นผลผลิตมาจากพื้นที่นั้นๆ และสินค้าที่ผลิตจากแหล่งอื่นไม่สามารถใช้ชื่อนี้ได้ เป็นเครื่องการันตีคุณภาพของสินค้าเหมือนกับแบรนด์ เช่น สับปะรดภูแล ไข่เค็มไชยา มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มบางมด เป็นต้น
ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ควรละเลย ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ประกอบการระดับไหนและทำมาค้าขายอะไร ความจริงรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิบัตรยังมีแง่มุมและรายละเอียดเฉพาะกรณีอีกมาก เอาเป็นว่า บทความนี้ทำข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นไว้ประมาณนี้ก่อนครับ… โดยส่วนตัวผมมักจะแนะนำทุกท่านที่ได้คุยกันประเด็นนี้ ให้สร้างทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาจากธุรกิจที่ดำเนินอยู่ โดยเฉพาะ เครื่องหมายการค้า กับ สิทธิบัตร
ประเด็นก็คือ… กรณีเครื่องหมายการค้า หรือตรา หรือยี่ห้อ… ผู้ประกอบการคงรู้จักและใช้เครื่องหมายการค้าเป็นอยู่แล้ว ส่วนได้จดทะเบียนไว้หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคำแนะนำสำหรับท่านที่ยังไม่ได้จด ก็ควรไปจดไว้ให้เรียบร้อย… ส่วนประเด็นสิทธิบัตร อันนี้จะซับซ้อนขึ้นมาอีกขั้น… ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีนวัตกรรมอยู่แล้ว ก็คงยากที่จะหาอะไรไปขอจดสิทธิบัตร… กรณีส่วนใหญ่ของการจดสิทธิบัตรจึงต้องพัฒนาธุรกิจในหนทางนวัตกรรม จนเข้าขั้นที่สามารถขอถือสิทธิบัตรได้… สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ตระหนักก็คือ ธุรกิจแทบทุกอย่างสร้างนวัตกรรมได้หมด หากมีวิสัยทัศน์และแนวคิดแบบนวัตกร
ซึ่งธุรกิจที่มีนวัตกรรมถึงขั้นขอสิทธิบัตรได้ และได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรด้วย… แต้มต่อและมูลค่าเพิ่มย่อมไม่ธรรมดา
ท่านที่สนใจและกำลังหาไอเดียพัฒนานวัตกรรมให้ธุรกิจจนถึงขั้นยื่นขอสิทธิบัตรได้… คุยกันหลังไมค์ทาง Line: @reder ได้ครับ… ส่วนท่านที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เชิญที่เวบไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ www.ipthailand.go.th ครับผม
อ้างอิง