Intelligent Opportunism… การฉวยโอกาสทางกลยุทธ์ #SaturdayStrategy

Chaos หรือ ความวุ่นวาย ถือเป็นรูปแบบความปกติเดิม หรือ Old Normal ในสถานการณ์ทั่วไปที่สามารถเกิดกับใคร หรือ อะไรได้ทุกเมื่อ และโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับทุกคน หรือ ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุวุ่นวายในแบบที่คาดไม่ถึง หรือ ดีหน่อยก็คาดถึงแต่ป้องกันได้ยาก ซึ่งการรับมือความวุ่นวายโดยทั่วไปก็มักจะต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าปกติทั้งคนและทรัพย์สิน… ซึ่งก็มีหลายๆ สถานการณ์ที่ถูกความวุ่นวายกลืนกินทุกอย่างที่เกี่ยวข้องพัวพันไปทั้งหมด

ประเด็นก็คือ…. ความวุ่นวายมักจะสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์แก่ “ผู้มีส่วนเสีย” จากเหตุวุ่นวาย และ ก็มักจะปรากฏ “ผู้มีส่วนได้” ในเหตุวุ่นวายเดียวกันเสมอ… การหาประโยชน์จากความวุ่นวายจึงเป็นชั้นเชิงเล่ห์เหลี่ยมดั้งเดิม หรือ กลยุทธ์เก่าแก่มาแต่ไหนแต่ไร

ในตำนานสามก๊กก็ปรากฏกลยุทธ์การหาประโยชน์จากความวุ่นวายโดย “ตั๋งโต๊ะ” ผู้รีบฉกฉวยโอกาสในขณะที่วังหลวงกำลังแย่งชิงราชสมบัติจากความแตกแยกที่เริ่มต้นโดย 10 ขันที จนกลายกบฏเพราะเพลี้ยงพล้ำแก่ขุนนางฝ่ายตรงข้ามจนต้องขอพึ่งบารมี และ กำลังทหารของ “ตั๋งโต๊ะ” ผู้ฉวยโอกาสเข้ายึดวังหลวง และ สั่งถอด “ฮ่องเต้หองจูเปียน” จากราชบัลลังก์และสั่งประหารชีวิต ก่อนจะแต่งตั้ง “ฮ่องเต้หองจูเหียบ” ขึ้นเป็นจักรพรรดิ และ แต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราช และ เป็นบิดาบุญธรรมของ “ฮ่องเต้หองจูเหียบ” จนกลายเป็นผู้มากบารมีที่สุดในเวลานั้น

กลยุทธ์ หรือ ชั้นเชิงการขึ้นสู่อำนาจของ “ตั๋งโต๊ะ” ถูกเรียกว่า เชิ่นหว่อต่าเจี๋ย หรือ 趁火打劫 หรือ กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ ซึ่งกินความหมายการใช้สถานการณ์ที่หลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังวุ่นวายจนอ่อนแอและย่ำแย่ ฉกฉวยโจมตี และหรือ หาทางควบคุมตัวแปรชัยชนะเหนือสถานการณ์ โดยฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากเหตุการณ์ หรือ สถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงนั้นโดยปริยายให้ได้มากที่สุด… เหมือนที่ “ตั๋งโต๊ะ” ส่งทหารเข้าวังหลวงเพื่อควบคุมศูนย์กลางอำนาจ และ เข้าควบคุมทุกอย่างเอาไว้ในกำมืออย่างรวดเร็ว รวมทั้งอำนาจเหนือราชบัลลังก์ที่ “ฮ่องเต้หองจูเหียบ” กลายเป็นเพียงหุ่นเชิดและตรายางอำนาจของ “ตั๋งโต๊ะ” เท่านั้น

ส่วนในตำราการจัดการสมัยใหม่ก็ได้พูดถึงกลยุทธ์ที่นำใช้เพื่อหาประโยชน์สูงสุดจากความวุ่นวายเช่นกัน โดยชั้นเชิงการจัดการสถานการณ์วุ่นวายให้ได้ประโยชน์สูงสุดจะถูกเรียกว่า Strategic Opportunism หรือ การฉวยโอกาสทางกลยุทธ์

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ… Strategic Opportunism หรือ การฉวยโอกาสทางกลยุทธ์ โดยทั่วไปมักจะมาจากเชาว์ปัญญาด้านการจัดการของผู้นำ หรือ จะเรียกว่า “กึ๋น” ของหัวหน้าก็ได้… เพราะความวุ่นวายจะเกิดขึ้นในแบบที่คาดไม่ถึงกับทุกฝ่ายเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ฝ่ายที่ “รอโอกาส” ให้เกิดความวุ่นวายก่อน หรือไม่ก็ต้องวางแผนสร้างความวุ่นวายจนครบเงื่อนไขที่จะฉวยโอกาสให้ได้ก่อน ซึ่งมักจพบเห็นได้บ่อยในการชิงอำนาจทางการเมือง ทั้งอำนาจภายในรัฐชาติ และ การเมืองระหว่างประเทศ จนได้เห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกมุมโลก

อย่างไรก็ตาม… Strategic Opportunism หรือ การฉวยโอกาสทางกลยุทธ์ในระดับองค์กรธุรกิจ จะถือว่าเป็นเครื่องมือเตรียมความพร้อมเพื่อจะได้ “ไม่กลายเป็นผู้มีส่วนเสีย” จากเหตุวุ่นวาย หรือ เหตุเหนือคาดที่เกิดขึ้นเร็วและควบคุมได้ยาก… แต่ทุกอย่างจะง่ายขึ้นถ้ามีแผนรองรับสถานการณ์วุ่นวาย ซึ่งองค์กรได้เตรียมแผนกลยุทธ์เอาไว้อย่างยืดหยุ่น โดยเฉพาะความยืดหยุ่นต่อเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อผลประโยชน์ขององค์กร ซึ่งต้องรับมืออย่างเหมาะสม และ ทันเวลา

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts