ความรู้สึกอึดอัดขัดใจที่คนๆ หนึ่งเจอเรื่องที่ต้องทำแต่ไม่อยากทำ หรือ ต้องคล้อยตามทั้งที่ต่อต้าน หรือ ต้องเสแส้ง ต้องฝืน และ ต้องอะไรอีกมากมายหลายอย่างในชีวิตที่ตัวตนความรู้สึกที่แท้จริง กับ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง… ขัดแย้งกันจนรู้สึกไม่ดีกับหลายๆ อย่างใกล้ตัวและในตัว… ซึ่งถ้าเกิดขึ้นบ่อย หรือ นานไปก็มักจะรู้สึกไม่ดีมากๆ จนถึงขั้นรู้สึกแย่มากๆ สุดๆ ได้ด้วยจนไม่เหลืออะไรดีให้รู้สึกถึงได้ก็มี
ประเด็นก็คือ… โดยปกติของคนเราจะสามารถหาเหตุผลเข้าข้างความคิด และ พฤติกรรมของตนเองเสมอ แม้ในยามที่ต้องเผชิญกับข้อมูล หรือ สถานการณ์ที่ขัดแย้งกับ “ความเชื่อ และ ทัศนคติ” ที่มีอยู่เดิม ซึ่งคนๆ นั้นมักจะใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมิน และ ตัดสินข้อมูล และหรือ สถานการณ์ใหม่… ซึ่งถ้าขัดแย้งกันขึ้นเมื่อใด อารมณ์ความรู้สึกของคนๆ นั้นก็จะเกิดความไม่ลงรอยในตัวเอง หรือ Intrapersonal Conflict ซึ่งจะสะท้อนเป็นความอึดอัดใจก่อนอื่น
ที่น่าสนใจก็คือ… การรับรู้ได้ถึงความไม่ลงรอยในตัวเองนานวันเข้า และหรือ หลายเรื่องขึ้นเรื่อยๆ คนๆ นั้นก็จะเกิดความขัดแย้งในตัวเอง และ นำไปสู่ความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ง่ายมาก…
Dr. Marsha Ferrick นักจิตวิทยาบำบัดใน Santa Barbara ชี้ว่า… พื้นฐานความขัดแย้งในตน หรือ Intrapersonal Conflict กับ ความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือ Interpersonal Conflict นั้นสัมพันธ์กัน… คู่รักมากมายขัดแย้ง และ ความสัมพันธ์พังทลายเพราะเกิดขัดแย้งกันโดยไม่เข้าใจความขัดแย้งในตัวเองที่อยู่เบื้องหลัง
เมื่อคนๆ หนึ่งมีความขัดแย้งภายในตัวเอง หรือ กับตัวเอง… ทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ และ ค่านิยมของคนๆ หนึ่ง ซึ่งปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้จะนำคนๆ นั้นไปสู่การตระหนักรู้ในตนเอง รวมทั้งการรับรู้ และ ความคาดหวังของตน… โดยความขัดแย้งภายในตนจะเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อเราเริ่มท้าทายว่าปัจจัยพื้นฐานในตัวเองเหล่านี้ มีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับผู้คนรอบตัว และหรือ เหตุการณ์ต่างๆ สะท้อนออกมาเป็นการวิเคราะห์ และ การเปิดเผยความคิดตนผ่านการใช้คำพูด การเขียน และ การแสดงออกทางดิจิทัล… ซึ่งหนุนนำความสามารถในการสื่อสาร และ วิธีการสื่อสารของเรา…
ส่วนที่ยากที่สุดก็คือ… ความขัดแย้งภายในตนบรรเทา และ แก้ไขได้ด้วยความช่วยเหลือของคนอื่น… คำขอบคุณ คำขอโทษ ความเห็นอกเห็นใจ ความใส่ใจ ความรัก และ ความปราถนาดีที่สัมผัสได้จากครอบครัว เพื่อน และ คนรอบข้างจึงสำคัญการการพัฒนา “ความเชื่อ และ ทัศนคติ” ให้เติบโตยืดหยุ่น และ ขัดแย้งกับตัวเองลดลง ส่งผลให้ขัดแย้งกับผู้อื่นลดลง
Dr. Marsha Ferrick ยังชี้ให้เห็นอีกว่า… ความขัดแย้งในตัวเองเป็นความรับผิดชอบของตัวเอง ซึ่งต้องรับผิดชอบด้วยประนีประนอม “ความเชื่อ และ ทัศนคติ” ของตนกับข้อมูลและสถานการณ์แวดล้อมให้เหมาะสม ก่อนจะเกิดขัดแย้งในตนรุนแรงจนกลายเป็นขัดแย้งกับคนอื่น และเชื่อเถอะว่า… ใครก็ตามที่ยังจัดการ “ความเชื่อ และ ทัศนคติ” ของตัวเองได้ไม่ดีพอ “ความเชื่อ และ ทัศนคติ” นั่นเองที่จะจัดการคนๆ นั้นอย่างก้าวร้าวและหยาบกระด้างเสียเอง
References…