แรงจูงใจ… คำพื้นๆ แต่กว้างลึกและยังมีมิติมากมายให้เราท่านได้ค้นหา ศึกษาเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ ทั้งเพื่อจูงใจผลักดันตัวเอง และโน้มเหนี่ยวคนอื่นๆ ที่ผูกพันธ์เกี่ยวข้องกันกับเรา ให้ตามเจอเป้าหมายลำดับถัดไปได้ราบรื่นบนเส้นทางที่ “เข้าใจตัวเอง เข้าใจความต้องการของตัวเอง และรู้จักสร้างแรงโน้มถ่วงอันแสนพิเศษ ดึงตัวเองเข้าหาความพึงใจลำดับถัดไป”
คำว่าแรงจูงใจ… มีนักจิตวิทยามากมายให้นิยามและอธิบายที่มาที่ไป ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าทุกนิยามและความหมายจากทุกทฤษฎี ล้วนนิยามเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทตามวัตถุประสงค์ของผู้นิยามทั้งสิ้น… นักจิตวิทยาด้านการศึกษา ก็จะนิยามแรงจูงใจเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง… ในขณะที่แพทย์พยาบาลก็อธิบายแรงจูงใจสัมพันธ์กับเรื่องสุขภาวะและการรักษาเยียวยา… นักจิตวิทยาด้านส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ก็จะตีความแรงจูงใจเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการเลี้ยงดูพ่อแม่ลูกและครอบครัว
ประเด็นเรื่องแรงจูงใจ… ในทัศนของผมจึงมองว่า แรงจูงใจคือคาถาศักดิ์สิทธิ์ เพื่อย้ายคนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งคำว่า “ที่หนึ่ง” ที่ว่า… อาจจะเป็นที่ทางในใจหรือแม้แต่สถานที่ในโลกซักแห่งก็ได้ด้วย
ในทางเทคนิค… แรงจูงใจเป็นกระบวนการที่คนๆ หนึ่ง ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าให้กระทำการตอบสนองสิ่งเร้าไปตามแรงเร้าหรือแรงจูงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์อย่างหนึ่ง ซึ่งการแสดงออกต่อสิ่งเร้าหรือแรงจูงใจนั้น จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจาก ใจได้ถูกแรงดึงออกจากจุดเดิมไปสู่จุดใหม่ สอดคล้องกับรากศัพท์ของคำว่า Motivation ซึ่งมาจากภาษาละตินคำว่า Movere… ที่แปลว่า To Move ในภาษาอังกฤษ
แรงจูงใจมีหลายแบบจากหลายทฤษฎีอย่างที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น… ซึ่งหากต้องการเรียนรู้และนำใช้หลักการเรื่องแรงจูงใจให้มีประสิทธิภาพแล้วหละก็ การย้อนมาดูหลักการ หรือ ทฤษฎีหลัก เพื่อให้ง่ายที่จะหยิบใช้แรงจูงใจในบริบทที่ถูกต้อง… โดยทฤษฎีแรงจูงใจที่ถูกบันทึกไว้ใน Wikipedia เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมีมากถึง 28 องค์ความรู้

แต่ไม่ว่าทฤษฎีแรงจูงใจจะมีมากแค่ไหนและพัฒนาต่อไปอย่างไร… ความรู้เรื่องแรงจูงใจทุกองค์ มักจะวนเวียนอยู่กับแรงจูงใจ 2 ลักษณะคือ แรงจูงใจภายในและภายนอก หรือ Intrinsic and Extrinsic Motivation… ซึ่งนักจิตวิทยาสมัยใหม่หลายท่าน เห็นแย้งกับทฤษฎีพฤติกรรมนิยมแนวทางอื่นๆ และให้ความสนใจพฤติกรรมมนุษย์ที่เกิดจากแรงจูงใจภายในที่ใช้งานคู่กับแรงจูงใจภายนอก
1. แรงจูงใจภายนอก หรือ Extrinsic Motivation
แรงจูงใจภายนอกคือแรงที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวบุคคล แต่สามารถจูงใจบุคคลให้ “Move to” ไปตามทิศทางแรงนั้น… Richard M. Ryan และ Edward L. Deci นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เจ้าของงาน Self-determination theory and the facilitation of intrinsic motivation, social development, and well-being ชี้ว่า… โดยปกติแล้วแรงจูงใจภายนอก จะใช้เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่บุคคลไม่ได้รับจากแรงจูงใจภายใน
แรงจูงใจภายนอกโดยทั่วไปคือ รางวัล เช่น เงิน หรือ เกรด เพื่อต่อยอดความต้องการส่วนตนบ้าง หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษบ้าง… นอกจากนั้น “การแข่งขัน” ก็ถือเป็นแรงจูงใจภายนอก เพราะผู้ที่อยู่ในการแข่งขัน จะถูกโน้มน้าวด้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะ รวมทั้ง “เสียงเชียร์รอบด้านให้เอาชนะ” ก็เป็นแรงจูงใจภายนอกที่สำคัญด้วย
การวิจัยทางจิตวิทยาสังคมมากมายชี้ให้เห็นว่า “รางวัลภายนอก” มีผลทำให้ภาวะแรงจูงใจภายใน “ลดลง” อย่างมีนัยยะสำคัญเสมอ… งานตีพิมพ์เรื่อง Undermining Children’s Intrinsic Interest with Extrinsic Reward; A Test of Overjustification Hypothesis โดย Mark R. Lepper และคณะ พบว่า… เด็กๆ ที่วาดภาพเพื่อหวังจะได้ดาวเป็นรางวัล ใช้เวลาน้อยกว่า เด็กที่วาดภาพโดยไม่มีรางวัลอะไรเป็นแรงจูงใจ ซึ่งกรณีนี้อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า… เด็กที่สนใจรางวัลไม่สนใจผลลัพธ์ของงานวาดในมือเท่าไหร่ และทำเพียงเพื่อให้เสร็จและรับรางวัล ในขณะที่เด็กที่วาดภาพโดยไม่มีแรงจูงใจภายนอกรบกวน จะจดจ่อทำงานตามจินตนาการภายในมากกว่า
อย่างไรก็ตาม… งานตีพิมพ์ของ Barbara A. Marinak กับ Linda B. Gambrell หัวข้อ Intrinsic Motivation and Rewards: What Sustains Young Children’s Engagement with Text? กลับพบว่า นักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 ที่ได้รับรางวัลเป็นหนังสือ มีพฤติกรรมการอ่านหนังสือมากขึ้น… ซึ่งมีนัยยะหมายความว่า รางวัลบางอย่างไม่ได้บ่อนทำลายเนื้อแท้โดยแรงจูงใจภายนอกเสมอไป
แรงจูงใจภายนอกอีกแบบหนึ่งที่มีการวิจัยและทดลองในเด็กคือ การใช้การบังคับจากภายนอก เช่น การขู่ลงโทษ ทำให้เด็กเพิ่มความสนใจต่อกิจกรรมนั้นๆ ยิ่งขึ้น… งานตีพิมพ์ของนักจิตวิทยาสังคมชื่อ T. D. Wilson หัวข้อ Increasing intrinsic interest with superfluous extrinsic constraints ยืนยันว่า… เมื่อเด็กๆ ได้รับคำขู่เรื่องอันตรายเล็กน้อยของเครื่องเล่นหรือของเล่น ยิ่งทำให้เด็กสนใจเครื่องเล่นและของเล่นนั้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ข้อดีของแรงจูงใจภายนอกคือ เป็นเทคนิคเสริมแรงจูงใจอย่างง่ายในการผลักดันเป้าหมาย โดยเฉพาะรางวัลที่จับต้องได้และเป็นประโยชน์… ส่วนข้อเสียสำหรับแรงจูงใจภายนอกคือ “ผลงานจากรางวัลไม่ได้จบไปกับการมอบรางวัลไปแล้ว แต่ “ผลงานชิ้นนั้น” จะยังอยู่และหากต้องใช้ประโยชน์ต่อไป ควรตรวจสอบผลงานเหล่านั้นให้รอบคอบ… และข้อควรระมัดระวังคือ “แรงจูงใจภายนอกอาจลดคุณค่าลงเมื่อเวลาผ่านไป”
2. แรงจูงใจภายใน หรือ Intrinsic Motivation
Intrinsic Motivation หรือ แรงจูงใจภายใน หรือ แรงจูงใจที่แท้จริง… ได้รับการศึกษาอย่างจริงจังช่วงทศวรรษ 1970 นี่เอง… แรงจูงใจภายในเป็นพฤติกรรมที่ขับเคลื่อนโดยการให้รางวัลภายในที่น่าพอใจแก่ตนเอง ตัวอย่างเช่น นักกีฬาอาจสนุกกับการเล่นฟุตบอลเพื่อประสบการณ์แทนที่จะเล่นให้ได้รับรางวัล… เป็นความสนใจหรือความเพลิดเพลินในกิจกรรมนั้นเองที่เป็นรางวัล แทนที่จะอาศัยแรงกดดันจากภายนอกหรือความปรารถนาอื่นที่ไกลตัวมาชี้นำ
ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่างแรงจูงใจภายนอกและแรงจูงใจภายในคือ “ประเภทของเหตุผลหรือเป้าหมายที่นำไปสู่การกระทำ” ในขณะที่แรงจูงใจภายในหมายถึง การทำบางสิ่งบางอย่างเนื่องจากเป็นสิ่งที่น่าสนใจโดยเนื้อแท้หรือสนุกสนานและน่าพอใจ… แต่แรงจูงใจภายนอกกลับหมายถึง การทำบางสิ่งบางอย่างเพราะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่อยู่คนละส่วนกับการกระทำ เช่น วาดรูปเอาดาวทอง เป็นต้น
งานตีพิมพ์ของ Edward L. Deci และคณะ หัวข้อ A Meta-Analytic Review of Experiments Examining the Effects of Extrinsic Rewards on Intrinsic Motivation อธิบายโดยสรุปไว้ว่า… กิจกรรมบางอย่างให้รางวัลโดยธรรมชาติ และไม่ได้ขึ้นอยู่กับรางวัลภายนอกเลย
ที่น่าแปลกใจคือ… มีรายงานยืนยันชัดเจนว่า ปรากฏการณ์ของแรงจูงใจภายในอันเป็นที่ยอมรับครั้งแรก… เป็นการศึกษาทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์ ซึ่งพบว่า… สิ่งมีชีวิตจะมีส่วนร่วมใน “พฤติกรรมขี้เล่นและความอยากรู้อยากเห็น” โดยไม่ได้รับรางวัล เพราะแรงจูงใจภายในโน้มนำแรงบันดาลใจตามธรรมชาติและเป็นองค์ประกอบสำคัญในพัฒนาการทางความคิด สังคมและร่างกาย
องค์ประกอบที่จำเป็น 2 ประการสำหรับแรงจูงใจภายในคือ… การตัดสินใจด้วยตนเองและการเพิ่มความสามารถในการรับรู้…ในระยะสั้น เหตุผลของพฤติกรรมจำเป็นต้องเกิดจากภายใน แบบที่เรียกว่า Internal Locus of Causality หรือ ก่อเกิดจากปัจจัยภายในตน… ก็เพราะ บุคคลรับรู้ว่างานจากพฤติกรรมนั้น “เพิ่มความหมายตน”
งานวิจัยของ Richard Ryan และ Edward L. Deci ตีพิมพ์เผยแพร่ช่วงปี 2000 ในหัวข้อ Intrinsic and Extrinsic Motivations: Classic Definitions and New Directions ชี้ว่า การโน้มน้าวจูงใจด้วยรางวัลที่จับต้องได้ ทำลายแรงจูงใจภายในของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา… และ การศึกษาของ Arie W. Kruglanski และคณะ ในหัวข้อ The effects of extrinsic incentive on some qualitative aspects of task performance. ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 1971 ระบุเช่นกันว่า… รางวัลเชิงสัญลักษณ์และวัตถุ บ่อนทำลายแรงจูงใจภายในของเด็กก่อนวัยเรียนถึงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาทีเดียว

รายละเอียดและการค้นคว้ามากมายยืนยันความสำคัญเรื่อง “แรงจูงใจ หรือ Motivation” เพื่อใช้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือผลักดันตนเอง ครอบครัวและทีมในทุกๆ รูปแบบความสัมพันธ์… และผมตั้งใจจะเจาะเขียนเกี่ยวกับแรงจูงใจในอีกหลายๆ แง่มุมจากข้อมูลที่ผมค้นอ่านและผ่านหูตา ในช่วงที่กำลังเรียนรู้หลายอย่างที่เกี่ยวกับพฤติกรรม
อ้างอิง
- Motivation
- https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0361476X99910202
- https://doi.apa.org/doiLanding?doi=10.1037%2F0033-2909.125.6.627
- https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0361476X99910202
- https://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/summary?doi=10.1.1.529.4370
- https://www.slideshare.net/vijaydewani7/motivation-15959567