เรื่องราว หรือ เหตุการณ์ที่ชอบไหลเข้ามาในความคิดของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คนกำลังตกหลุมรักจนโลกเป็นสีชมพูไปหมดนั้น… โดยมากมักจะเป็นเรื่องราว หรือ เหตุการณ์ที่ทำให้คนๆ นั้นว้าวุ่นขุ่นข้อง และ มักจะกระตุ้นความรู้สึกสุข–เศร้า–เหงา–เครียดที่เป็นปมอยู่กับตัวมาก่อน ให้ชัดเจนจนรบกวนชีวิตจิตใจเจ้าตัวได้มากมายเสมอ
ปัญหาก็คือ… เราห้ามความคิดที่ชอบผุดเข้ามาในหัวไม่ได้เลย ยิ่งเป็นเรื่องราว หรือ เหตุการณ์ที่เราเกี่ยวข้องด้วยมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องราว หรือ เหตุการณ์ที่ยัง “ค้างคา” อยู่กับความคิดจิตใจของเรา ซึ่งมักจะเป็นความคิดที่ไม่พึงประสงค์ หรือ Unpleasant Thoughts ในขั้นที่ทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ หมดความสุข เกิดความกังวล เศร้า และ ทุกข์ใจอยู่ภายใน… ซึ่งในทางจิตวิทยาจะเรียกว่า Intrusive Thoughts หรือ ความคิดแทรกซ้อน ซึ่งถือเป็นเนื้อร้ายทางความคิดที่งอกเพิ่มเหมือนมะเร็งที่หาประโยชน์อะไรไม่ได้ และถ้าปะเหมาะเคราะห์ร้ายก็อาจถึงขั้นทำให้ชีวิตเราพังไปอย่างน่าเศร้าได้ไม่ยาก
Dr.Natalie C. Dattilo นักจิตวิทยาจาก Brigham & Women’s Hospital Department of Psychiatry ตั้งข้อสังเกตุว่า… Intrusive Thoughts หรือ ความคิดแทรกซ้อนอาจเป็นสัญญาณของภาวะทางสุขภาพจิตบางอย่าง เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD… โรคเครียดหลังเหตุการณ์บอบช้ำสะเทือนใจ หรือ PTSD… ภาวะผิดปกติทางการกิน… โรควิตกกังวลทั่วไป… โรคตื่นตระหนก หรือ แม้กระทั่งภาวะซึมเศร้า
Dr.Kerry-Ann Williams ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Harvard Medical School ก็ให้ความเห็นเอาไว้ในทำนองเดียวกัน และ ยังเสริมอีกว่า… เรื่องราว หรือ เหตุการณ์ที่สร้างความเครียด และหรือ วิตกกังวลให้เราได้มาก มักจะกลายเป็นความคิดแทรกซ้อน หรือ Intrusive Thoughts คอยรบกวนจิตใจเราไปได้อีกเรื่อยๆ
ด้วยประสบการณ์มากมายกับผู้ป่วยจิตเวช และ โรคเครียด… Dr.Kerry-Ann Williams อธิบายเกี่ยวกับ ความคิดแทรกซ้อน หรือ Intrusive Thoughts ว่า… ความคิดที่แวบเข้ามาในหัว หรือ วนเวียนรบกวนความคิดความอ่านเรื่องอื่นอยู่เนืองๆ ไม่ได้เป็นอันตราย หรือ เป็นสัญญาณว่าชีวิตเราต้องการหรือต้องทำอะไรที่จะทำให้เราหมดความสุขเพราะเรื่องที่ผุดเข้ามาในหัว และ เรารู้สึกว่าถูกรบกวน หรือ แม้แต่ชี้นำให้เราต้องรับผิดชอบเรื่องราว หรือ เหตุการณ์นั้น… โดยเฉพาะเรื่องราว หรือ เหตุการณ์ที่มาจาก “การชี้นำ หรือ การกล่าวหาจากคนอื่น” ที่ทำลายความเชื่อมั่น ความสุข และ ข้อเท็จจริงที่เราเห็นหรือเชื่ออยู่ก่อน
ประเด็นก็คือ… เราจำเป็นจะต้องแยกแยะความคิดแทรกซ้อน หรือ Intrusive Thoughts ซึ่ง “ไม่ได้เป็นความคิดของเรา หรือ วิธีคิดแบบของเรา” ให้ได้ก่อน แล้วจากนั้นจึงจัดการให้เรื่องราว หรือ เหตุการณ์ที่ผุดเข้ามาในหัวจนรบกวนนั้นให้กลายเป็น “ความน่ารำคาญ” ของเรื่องราว และ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เราก้าวข้ามความไร้สาระที่ไม่ได้มาจากความคิดจิตใจของเราโดยตรงไปให้เร็วที่สุด… โดยเฉพาะเรื่องราว หรือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความสุข–ทุกข์ของคนอื่นที่คอยเรียกร้องเอาจากเราอย่างไร้เหตุไร้ผล เช่น พ่อแม่วัยชราบางครอบครัวกลั่นแกล้งคนดูแลที่ลูกหลานจ้างมาอยู่เป็นเพื่อนระหว่างวันจนไม่มีใครอยู่ด้วยได้ เพราะอยากให้ลูกหลานออกจากงานมาอยู่เป็นเพื่อนมากกว่า… ลูกน้องที่โทษหัวหน้าว่าไม่ช่วยให้เขาได้ขึ้นเงินเดือนเยอะๆ ตอนพิจารณาขึ้นเงินเดือนปลายปี ก็เลยทำงานช่วยเท่าที่อยากจะทำ หรือ กลั่นแกล้ง วางยาหัวหน้า จนงานเละเทะไปทั้งแผนกโดยลืมนึกไปว่า “มัน” ไม่ถูกพิจารณาให้ออกจากงาน แถมยังได้เงินเดือนเท่าเดิมก็ดีเท่าไหร่แล้ว
Dr.Kerry-Ann Williams ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Harvard Medical School แนะนำวิธีจัดการ “ความคิดแทรกซ้อน หรือ Intrusive Thoughts” ที่คอยรบกวนความคิดจิตใจว่า…
- แยกแยะให้ชัดเจนว่าเป็นความคิดแทรกซ้อน หรือ Intrusive Thoughts… แล้วบอกตัวเองว่าไม่ใช่ความคิดเรา… ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา และ ไม่ต้องทำอะไรเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
- อย่าพยายามกำจัดความคิดแทรกซ้อน หรือ Intrusive Thoughts ที่วนเวียนเข้ามารบกวน… เพราะความคิดแทรกซ้อนไม่มีอะไรให้ต้องกำจัด เข้ามาในความคิดเราได้เอง ก็ต้องหายไปจากความคิดเราเองได้
- อย่าตั้งคำถามให้ร้ายตนเอง และ อย่าโทษตนเอง… เพราะความคิดแทรกซ้อนจะสร้างความเสียหายให้กับชีวิตเราได้ก็ต่อเมื่อเราเริ่มสงสัยตัวเอง
References…