การทำธุรกิจในยุคที่ลอกเลียนปลอมแปลงได้ง่ายอย่างทุกวันนี้ อะไรใหม่ หรือ อะไรขายดีก็มักจะมีฝาแผดปรากฏตัวออกมาแย่งโอกาส ทั้งที่โผล่มาแบบดื้อๆ และ โผล่มาพร้อมเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ถึงขั้นเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตถึงโรงถึงศาลก็มาก… ข้อกฏหมายที่ตราขึ้นเพื่อจัดการกับสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถนำมาหาประโยชน์ได้ จึงเป็นข้อกฏหมายสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทั่วโลกมีไว้ และ บังคับใช้แทบจะไม่ต่างกัน และ ในประเทศไทยก็มีกฏหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาตรงๆ มากถึง 7 ฉบับ ได้แก่
- พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติคุ้มครองแบบของผังภูมิวงจรรวม พ.ศ. 2543
- พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545
- พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546
- พระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. 2548
ประเด็นก็คือ ทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property ถือเป็นสินทรัพย์ทางธุรกิจสำคัญอย่างเดียวก็ว่าได้ที่จะทำให้ธุรกิจมี “Competitive Advantage หรือ ความได้เปรียบเหนือการแข่งขัน” ซึ่งถ้าทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจถูกผู้อื่น หรือแม้แต่ถูกคู่แข่งเอาไปหาประโยชน์โดยไม่สนใจเจ้าของทรัพย์สินตัวจริงแล้ว… ผลประโยชน์ที่เจ้าของทรัพย์สินควรจะได้ ก็คงน้อยลงกว่าที่ควรจะได้อย่างน่าเจ็บช้ำ
นิยามของทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property โดยทั่วไปจะหมายถึง ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือ การสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่เป็น “ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ” โดยไม่จำกัดชนิดของการสร้างสรรค์ หรือ วิธีการแสดงออกในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่างๆ หรือ… ในรูปแบบของสิ่งของที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ กรรมวิธีการผลิตในอุตสาหกรรม เป็นต้น
ทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property หรือ IP จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ลิขสิทธิ์ หรือ Copyright และ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม หรือ Industrial Property
ทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นลิขสิทธิ์ หรือ Copyright จะเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำการใดๆ กับงานที่ตนเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น หรือ ถือสิทธิ์ตามกฏหมาย โดยประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่
- วรรณกรรม และ โปรแกรมคอมพิวเตอร์
- นาฏกรรม
- ศิลปกรรม
- ดนตรี
- โสตทัศนวัสดุ
- ภาพยนตร์
- สิ่งบันทึกเสียง
- งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
- งานอื่นใดในสาขาวรรณคดี สาขาวิทยาศาสตร์ หรือ สาขาศิลปะ
ส่วนทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสินทรัพย์ทางอุตสาหกรรม หรือ Industrial Property ก็จะเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับการค้าและอุตสาหกรรมทั้งมวล โดยความคิดสร้างสรรค์นี้อาจจะเป็นการประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการ หรือ เทคนิคในการผลิต ที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่… รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นยังรวมถึงเครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า การคุ้มครองพันธุ์พืช แบบผังภูมิของวงจรรวม และ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์… โดยทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม หรือ Industrial Property ถูกจำแนกเป็นรายการย่อยดังนี้คือ
1. สิทธิบัตร หรือ Patent
เป็นการคุ้มครองการคิดค้นสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ หรือ Invention และ การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือ Industrial Design ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยคือ
- อนุสิทธิบัตร หรือ Petty Patent… อันเป็นการให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์จากความคิด สร้างสรรค์ที่พัฒนาขึ้นใหม่เพื่อใช้ในทางการค้าและอุตสาหกรรม… ผลงานที่จะยื่นขออนุสิทธิบัตรได้จะต้องเข้าเกณฑ์ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และ ประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้
- สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือ Invention Patent… อันเป็นการให้ความคุ้มครองผลงานเกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้าง หรือ กลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือ การปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์… ผลงานที่จะยื่นขอสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ ต้องเข้าเกณฑ์ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และ มีขั้นของการประดิษฐ์สูงขึ้น และ ประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้
- สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือ Design Patent… อันเป็นการให้ความคุ้มครองผลงานสร้างสรรค์ ที่เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของลวดลาย หรือ สีของ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้ และ แตกต่างไปจากเดิม
2. แบบผังภูมิของวงจรรวม หรือ Layout-Design of Integrated Circuits
เป็นการคุ้มครองการคิดค้นสร้างสรรค์แผงวงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมแบบแผนผัง หรือ ภาพที่ทำขึ้น ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบหรือวิธีใดเพื่อแสดงถึงการจัดวาง และ การเชื่อมต่อของวงจรไฟฟ้าที่สามารถใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและการค้าได้… หรือ เป็นวงจรที่ทำงานได้
3. เครื่องหมายการค้า หรือ Trademark
เป็นการคุ้มครองเครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือ ตรา ที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทย่อยดังนี้คือ
- เครื่องหมายการค้า หรือ Trademark
- เครื่องหมายบริการ หรือ Service Mark
- เครื่องหมายรับรอง หรือ Certification Mark
- เครื่องหมายร่วม หรือ Collective Mark
4. ความลับทางการค้า หรือ Trade Secret
เป็นการคุ้มครองข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป โดยเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ และ มีการดำเนินการตามสมควรเพื่อทำให้ข้อมูลนั้นปกปิดเป็นความลับ
5. ชื่อทางการค้า หรือ Trade Name
เป็นการคุ้มครองชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจการ
6. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indication
เป็นการคุ้มครองสัญลักษณ์ หรือ สิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และ สามารถบ่งบอกว่า สินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือ คุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ IP หรือ ทรัพย์สินทางปัญญาจะมีอยู่ประมาณนี้ครับ… ส่วนการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการประกอบธุรกิจนั้น IP หลักๆ ที่นักลงทุนสนใจมากที่สุดจะเป็นอนุสิทธิบัตร หรือ Petty Patent กับ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือ Invention Patent ที่วิเคราะห์เห็น Competitive Advantage หรือ ความได้เปรียบเหนือการแข่งขันชัดเจนเท่านั้น
ประเด็นสำคัญที่อยากจะบอกวันนี้ก็คือ… การครอบครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งที่เป็นอนุสิทธิบัตร และที่เป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ถือเป็นเรื่องของการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ง่ายที่สุดทางหนึ่ง ซึ่งถ้าท่าน หรือ ธุรกิจของท่าน… ได้คิดค้นสิ่งใหม่ และ นำไปสู่โอกาสทางการค้าและอุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะการประดิษฐ์สิ่งใหม่ที่ต่อยอดสิ่งประดิษฐ์เดิมให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้จนเข้าเกณฑ์สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือ Invention Patent… โอกาสที่ท่าน หรือ ธุรกิจของท่านจะมีแต้มต่อ หรือ Competitive Advantage ที่ชัดเจนก็ย่อมเป็นไปได้มากขึ้น
คำถามสำคัญในตอนนี้จึงมีว่า… แล้วเราจะประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่จนถึงเกณฑ์สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือ ให้ถึงเกณฑ์อนุสิทธิบัตรอย่างไร?
เทคนิคการพัฒนาสิ่งใหม่ หรือ นวัตกรรมจนเข้าเกณฑ์สิ่งประดิษฐ์มีหลายแนวทางในหลายเป้าประสงค์ครับ… โดยส่วนตัวถ้าได้โจทย์พัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ถึงเกณฑ์อนุสิทธิบัตรเป็นอย่างน้อย เบื้องต้นก็จะเริ่มต้นที่การค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด… แล้วก็ต่อยอดจากตรงนั้นไป!
References…