ความรู้สึกหงุดหงิดในยามที่ประสาทสัมผัสทางใดทางหนึ่ง ได้ประสบพบเจอสิ่งหนึ่งสิ่งใด “อันไม่เป็นที่พึงพอใจ” อยู่ต่อหน้า ซึ่งมักจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกด้านลบอย่าง “รู้สึกกลัว หรือ รู้สึกโกรธเคือง” ได้ง่าย และ ไม่สามารถควบคุมความหงุดหงิดลงได้จนกลายเป็นความโกรธ หรือ แม้แต่ได้โกรธขั้นเดือดดาลไปแล้วก็ยังไม่อาจข่มอารมณ์เพื่อกำจัดความหงุดหงิดออกไปได้
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… ความหงุดหงิดมักจะมีอยู่ในความโกรธ หรือ เป็นส่วนหนึ่งของความโกรธเสมอ ไม่ว่าสาเหตุความโกรธจะมาจากเรื่อง “อันไม่เป็นที่พึงพอใจ” หรือจะมาจาก “ความกลัว” แบบต่างๆ ที่ไม่อาจกำจัดความกลัวนั้นออกไปจากความคิดจิตใจได้ จนเหลือเป็นประสบการณ์อันไม่เป็นที่พอใจจดจำไว้… ซึ่งถ้ามีเหตุต่อหน้าให้เกิดไม่พอใจขึ้นอีกครั้ง ระดับอารมณ์ด้านลบที่เริ่มจาก “ไม่พอใจ” จน “หงุดหงิด” และ “โกรธ” ตามลำดับ ก็จะผลักดันพฤติกรรมลำดับต่อจากนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาเสมอ
อารมณ์หงุดหงิดในทางจิตวิทยาจึงนับรวมอยู่ในความโกรธ จนมีการใช้แสลงในภาษาอังกฤษเรียกอารมณ์หงุดหงิดว่าเป็น Aggy ซึ่งมาจากรากศัพท์คำว่า Aggravate ที่แปลว่าชวนโมโห… ซึ่งมักจะโมโหจริงๆ เมื่อประสบพบเจอเรื่องชวนโมโหที่มักจะกลายเป็นโมโหโกรธาเสมอๆ จนต้องเรียกว่า Aggy ซึ่งคล้ายกับคำว่า Angry ที่แปลว่าโกรธกริ้วนั่นเอง
ประเด็นก็คือ ความหงุดหงิดส่วนใหญ่เกิดเพราะสาเหตุภายนอกที่ได้ประสบพบเจอ… ตั้งแต่เห็นคนอื่นทิ้งขยะไม่ลงถัง ทำให้รู้สึกไม่พอใจ… ไปจนถึงหงุดหงิดเพื่อนร่วมงานที่ชอบพูดแทรก อวดรู้ หรือ พูดและตั้งคำถามตีขลุมเอาประโยชน์ใส่ตน แทรกมาในประโยคพูดเวลานั่งประชุมด้วยกัน และ อะไรอีกมากในชีวิตประจำวันที่ประสบพบเจอในความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์… แต่เราจัดการต้นเหตุได้น้อยมาก หรือ ไม่ได้เลย อย่างกรณีหงุดหงิดรถคันหน้าที่ออกตัวช้าตอนไฟเขียวเพราะมัวแต่เล่นมือถือ
อย่างไรก็ตาม… เหตุปัจจัยของความหงุดหงิดมักจะมีสถานการณ์ และหรือ ปัจจัยที่กระตุ้นให้ประสบการณ์อันไม่เป็นที่พึงพอใจปะทุขึ้นมาให้สังเกตุเห็นเสมอ เช่น
- ความหงุดหงิดจากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท และ ประสบการณ์ทะเลาะวิวาท รวมทั้งประสบการณ์การรับมือเหตุทะเลาะวิวาท
- ความหงุดหงุดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายของเด็กวัยรุ่น หรือ ผู้ใหญ่วัยทอง หรือ ผู้ป่วยที่ระบบต่อมไร้ท่อเสียสมดุลย์
- ความหงุดหงิดเพราะมีอาการป่วยด้วยภาวะทางสมอง และ จิตเวช เช่น โรคไบโพลาร์ โรคสมาธิสั้น รวมไปถึงความผิดปกติของโครงสร้างสมองอื่นๆ ที่มีผลให้เกิดอารมณ์แปรปรวนทั้งทางตรงและทางอ้อม
- ความหงุดหงุดจากสภาพแวดล้อม เช่น เติบโตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง หรือ อยู่ในครอบครัวที่มีคนแสดงพฤติกรรมน่าเอือมระอา
- ความหงุดหงิดจากพื้นฐานบุคลิกของตัวเอง เช่น เป็นคนเจ้าอารมณ์ หรือ เป็นคนที่ใจร้อนอยู่ก่อนแล้ว
ประเด็นเป็นแบบนี้คือ… ความหงุดหงิด และ ความโกรธเคืองที่ค้างคาอยู่ในความคิดจิตใจ รวมทั้งที่ได้กลายเป็นนิสัยหรือเป็นบุคลิกไปแล้วนั้น… ในทางเทคนิคถือว่าเป็นความไม่ปกติที่ควรต้องใส่ใจ และ จัดการให้อยู่ในสมดุลย์จนไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์อื่นๆ ที่ความคิดจิตใจด้านลบอย่าง “หงุดหงิด และ โกรธเคือง” จะกระตุ้นพฤติกรรมด้านลบอื่นอีกมากตามมา
โดยส่วนตัวผมเคยได้ยินคำชี้แนะสำหรับ “คนขี้หงุดหงิด” คนหนึ่งที่ผมรู้จักดี… ซึ่งเป็นคำแนะนำให้พยายามมองความหงุดหงิดของตัวเองเป็นเหมือน “โรคภูมิแพ้” ที่ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้ได้มากที่สุด และ ควรใช้ยาหรือหาหมอ… ถ้ารู้ตัวว่ามันโกรธนาน หรือ หงุดหงิดบ่อยจนตัวเองลืมความสุขมานานแล้ว
References…