Johari Window

Johari Window Model… หน้าต่างมนุษย์

ความสุขของท่านมาจากสิ่งใดบ้างครับ?… คำตอบที่ได้คงหลากหลายแตกต่าง ซึ่งก็เป็นธรรมดาของพวกเราอยู่แล้ว ที่ความสุขความทุกข์ มีมาแล้วหายไปเกิดขึ้นและดับไปเป็นของธรรมดา

มีงานวิจัยและเรื่องเล่ามากมาย ถึงสิ่งที่คนใกล้ตายรู้สึกเสียดาย ที่หมดโอกาสจะกลับไปแก้ไข ซึ่งโดยสรุป เกี่ยวพันอยู่กับความสุขที่คนเหล่านั้นเชื่อว่า ถ้าเพียงแต่มองเห็นเข้าใจและเข้าถึง หลายอย่างคงไม่สร้างความเสียดายที่ใกล้ตายค่อยคิดออก

ในหนังสือขายดีชื่อ The Top Five Regrets of the Dying เขียนโดย Bronnie Ware พยาบาลผู้มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่กำลังจะเสียชีวิตและรอวันตาย ซึ่งเธอจะอยู่กับผู้ป่วยเหล่านี้ในช่วงสามถึงสิบสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนเสียชีวิต ในช่วงเวลาดังกล่าว เธอได้มีโอกาสพูดคุยและรับฟังความในใจของผู้ป่วยเหล่านี้ เมื่อถามถึงสิ่งที่เสียใจหรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่อยากจะย้อนอดีตไปเปลี่ยนแปลง… เธอพบว่ามีอยู่ห้าประเด็นหลักๆ คือ

  • I wish I’d had the courage to live a life true to myself, not the life others expected of me. ฉันน่าจะใช้ชีวิตตามความต้องการของตัวเองมากกว่าทำตามความต้องการของคนอื่น… ซึ่งตรงนี้เป็นกับดักความสัมพันธ์ ที่คนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตผ่านไปวันแล้ววันเล่า โดยไม่ได้ทำตามความคิดหรือความฝันของตัวเองแม้แต่น้อย ประเด็นก็คือ เรามีเรื่องที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำเยอะมาก คนส่วนใหญ่จะได้ทำแต่เรื่องที่ควรทำ หรือแม้แต่เรื่องที่คนที่เรารักและแคร์เห็นว่าเราควรทำและให้เราทำ จนเวลาผ่านไปเรื่องตัวเองอยากทำก็ไม่เหลือโอกาสอีกแล้ว
  • I wish I didn’t work so hard. ฉันไม่น่าทำงานหนักขนาดนั้น… ทัศนะของคนใกล้ตายที่มองว่า ตัวเองผ่านช่วงชีวิตด้วยการกรำหนักมาตลอด เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า นึกแล้วเป็นการใช้เวลาที่ไม่คุ้มค่าที่สุด เพราะการให้เวลากับงานมากกว่าสิ่งอื่นๆ ทำให้ส่วนผสมของตารางชีวิตขาดสีสันที่ตัวเองอยากทำอยากเป็นและอยากมีประสบการณ์นั่นเอง… ความจริงประเด็นนี้เป็นเรื่องทัศนะของการบริหารเวลาล้วนๆ
  • I wish I’d had the courage to express my feelings. ฉันหวังว่าฉันจะได้เปิดเผยความรู้สึกของตัวเองมากกว่านี้… คนส่วนใหญ่จะเก็บความรู้สึกมากกว่าจะเปิดเผยออกไปเพราะเหตุผลหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือความพยายามในการรักษาความสัมพันธ์ ซึ่งการบอกความคิดที่แท้จริงของตัวเองออกไป เจ้าตัวมักจะรู้สึกว่าสิ่งที่พูดออกไปสิ่งที่แสดงออกอย่างเปิดเผยอาจจะกระทบความสัมพันธ์หรือความคิดความเชื่อของคนอื่นโดยเฉพาะคนที่รักและแคร์… ซึ่งหลายอย่างที่ปกปิดเอาไว้เป็นเรื่องฝืน ทน ยอมและขลาดกลัวเป็นส่วนใหญ่
  • I wish I had stayed in touch with my friends. ฉันหวังว่าฉันจะได้ใกล้ชิดกับเพื่อนของฉันมากกว่านี้… ประเด็นนี้ก็เป็นอีกประเด็นนึงของเรื่องความสัมพันธ์ ที่ระบุถึงความเป็นเพื่อนซึ่งเป็นความสัมพันธ์นอกสายเลือด ที่มีความซับซ้อน… ซึ่งถ้ากลับไปดูประเด็นฉันทำงานหนัก ประเด็นความสัมพันธ์กับคนรอบข้างจะเพื่อนหรือครอบครัว ยังหายไปเนื่องจากงานหนักจะเอาเวลาของเราไปหมดหรืออย่างน้อยก็มากกว่าทุกสิ่งอย่างแน่นอน
  • I wish that I had let myself be happier. ฉันหวังให้ตัวเองได้มีความสุขกว่านี้…

ประเด็นเรื่องทัศนะของคนที่เหลือชีวิตอยู่ไม่ถึง 100 วันคิดได้… แท้จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่เราท่านต่างก็คิดได้เพียงแต่เรายังไม่ได้ใกล้ตาย จึงเชื่อว่าเรายังเหลือเวลาพอที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้อยู่… คำถามคือเมื่อไหร่?

คำตอบท่านต้องหาเองล่ะครับว่าเมื่อไหร่ แต่ในมุมมองของผมคิดว่า ยังเหลือคำถามก่อนน่าจะถึงคำถามว่าเมื่อไหร่อีกหนึ่งคำถาม คือตัวแปรเรื่องความสุขที่เราจำเป็นจะต้องค้นหาให้เจอว่ามีตัวแปรอะไรบ้าง… 

ตัวแปรในที่นี้ผมหมายถึง ที่มาที่ไปของความสุขหรือความเสียดายที่เราเข้าใจคลาดเคลื่อนและปฏิบัติกับตัวเองในระหว่างที่ยังมีโอกาสและเวลาเหลืออยู่มาก… เทียบกับความต้องการในเวลาที่ไม่เหลือโอกาสและเวลาอีกแล้ว อย่างช่วงเวลาใกล้จะเสียชีวิต

ประเด็นนี้เป็นเรื่องการเข้าใจตัวเองล้วนๆ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีวิธีหรือเครื่องมือให้มองมาที่ตัวเองได้อย่างถูกต้องชัดเจนไม่ถูกครอบงำด้วยเงาหรือภาพจากสิ่งรบกวนที่วนเวียนอยู่ในชีวิต

ผมค้นคว้าหลายทฤษฎีและหลายตำรา แต่ก็สรุปว่า เครื่องมือที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ดีมากชิ้นหนึ่ง ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 1955 โดย Joseph Luft and Harry Ingham ชื่อ  Johari Window ซึ่งเป็นแบบสังเกตพฤติกรรมเชิงสังคม ที่คนเรียนจิตวิทยาจะต้องได้เรียนกันอยู่แล้ว

ผมชอบเครื่องมือ Johari Window เพราะเป็นเครื่องมือที่เข้าใจง่ายมีโครงสร้างการอธิบายแบบเดียวกับเครื่องมือวิเคราะห์ทางกลยุทธ์ชื่อดังอย่าง SWOT ชนิดที่ลอกกันมาทีเดียว

โดยตัวแปรใน Johari Window จะมี 2 แกนคือ ตัวเองและผู้อื่น และมีตัวแปรย่อยเป็นความเข้าใจและไม่เข้าใจอยู่ทั้ง 2 แกน เมื่อสร้างจุดตัดขึ้นจะทำให้เข้าใจพฤติกรรมและสถานะของคนๆ นั้น

Johari Window

หน้าต่างทั้ง 4 บานจะมีความหมายดังนี้ครับ

1. Open หรือเปิดเผย เป็นบริเวณที่มนุษย์รักรู้และเข้าใจว่าแสดงพฤติกรรมอะไรอยู่ และผู้อื่นก็รับรู้ด้วย… Open Area นี้จะมีขนาดกว้างขึ้นเมื่อผู้คนสนิทสนมกันมากขึ้น หรือเปิดใจให้กันมากขึ้น

2. Blind หรือจุดบอด เป็นบริเวณที่พฤติกรรมที่เราแสดงออกโดยไม่รู้ตัว ไม่มีจุดมุ่งหมาย และไม่มีเจตนาที่จะแสดงออกแบบนั้น แต่คนอื่นเห็นและเข้าใจพฤติกรรมของเรา… พฤติกรรมเหวี่ยงน็อตหลุดหรือหัวร้อนจะอยู่ในพื้นที่นี้ หลายครั้งคนส่วนใหญ่เสียใจและเสียหายในชีวิตจากพฤติกรรมไม่เข้าใจตัวเองมากมาย

3. Hidden หรือ ซ่อนพราง เป็นบริเวณที่มีพฤติกรรมซ่อนความคิดและตัวตน ซึ่งจะอยู่ในภาวะที่มนุษย์รู้จักและเข้าใจตัวเองดีแต่คนอื่นไม่รู้จักและไม่เข้าใจเรา… แถมเรายังซ่อนไม่อยากให้คนอื่นมารู้จักมาเข้าใจหรือมาสนใจ ความคิดความรู้สึกของเราด้วย… พฤติกรรมจากความสัมพันธ์ในพื้นที่นี่เองที่ส่วนใหญ่นำไปสู่ความเสียดายจะตายแล้วไม่ได้ทำเป็นส่วนใหญ่

4. Unknown หรือไม่รู้ ถือว่าเป็นพื้นที่มืดมนที่สุดที่มนุษย์ไม่เข้าใจตัวเองและคนอื่นก็ไม่เข้าใจด้วย… ซึ่งพฤติกรรมความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ยืนอยู่บนความไม่รู้จักและไม่เข้าใจระหว่างกันย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งและสร้างความเสียหายบนความสัมพันธ์ได้ค่อนข้างแน่… ลองนึกภาพว่า คนสองคนที่มีจุดบอดไม่เข้าใจตัวเองมาเจอกันและต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเมื่อถึงช่วงเวลาที่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้… เรื่องไม่คาดคิดย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ มนุษย์ส่วนใหญ่ล้วนมีพื้นที่ทั้ง 4 พื้นที่พฤติกรรมเป็นของตัวเอง แถมยังแสดงพฤติกรรมจากพื้นฐานอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของการรู้จักและไม่รู้จักตนเอง… การรู้จักและไม่รู้จักคนอื่นออกมาตลอดเวลา… ซึ่งพฤติกรรมที่เราแสดงออกต่อตนเองและคนอื่นทั้งหมดล้วนเป็นกลไกความสุขความทุกข์ที่เราสร้างขึ้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

โดยส่วนตัว… ผมเป็นคนหนึ่งที่มีพื้นที่มืดบอด ซุกซ่อนและมืดมนเป็นของตัวเองเยอะมาก… ถึงตรงนี้ ผมรู้สึกโชคดีที่มีคนใกล้ชิด ไม่สานสัมพันธ์กับผมด้วยความมืดบอดหรือมืดมน… ทั้งๆ ที่หลายครั้ง หลายคนต้องซุกซ่อนเพื่อหลีกให้ความมืดมนของผมไปเบียดเอาพื้นที่ดีงามไปหมด

…ขอบคุณ!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts