ความรู้และสติปัญญาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม มีเหตุมีผล ผ่านขั้นตอนการคิดและไตร่ตรองประกอบองค์ความรู้และประสบการณ์ จนได้ข้อสรุปหรือแนวทางการตัดสินใจ ย่อมแปลว่า… ข้อสรุปหรือแนวทางใดๆ ที่จะนำใช้เพื่อตัดสินใจที่ว่านี้ ได้ผ่านวิจารณญาณ หรือ Judgment มาแล้ว
ประเด็นก็คือ… รอยต่อระหว่างทักษะความรู้และสติปัญญา จนถึงขั้นการตัดสินใจและนำใช้ข้อสรุปหรือแนวทางการตัดสินใจ หรือที่เรียกว่า “ขั้นตอนการใช้วิจารณญาณ” จนนำไปสู่การลงมือทำอะไรต่อจากนั้นก็ตามแต่ โดยธรรมชาติของขั้นตอนไม่ว่าจะช้าหรือเร็วแค่ไหน รายละเอียดปลีกย่อยภายในของการใช้วิจารณญาณจะเป็น “กระบวนการคิดวิเคราะห์ หรือ กระบวนการคิดด้วยวิจารณญาณ หรือ Critical Thinking” นั่นเอง
วิจารณญาณจึงเป็นแนวทางในการใช้ความรู้และประสบการณ์ โดยใช้การคิดและไตร่ตรองเป็นเครื่องมือเรียบเรียงข้อสรุปหรือแนวทางการตัดสินใจขึ้นใหม่… ซึ่งทักษะความสามารถในการใช้วิจารณญาณด้วยความรู้และประสบการณ์นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Critical Thinking Skill หรือ ทักษะคิดวิเคราะห์ หรือ ทักษะการคิดด้วยวิจารณญาณ อันเป็นทักษะสำคัญและเป็นที่ต้องการอย่างมากในศตวรรษที่ 21
การพัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์ หรือ Critical Thinking Skill จึงต้องการความเข้าใจกลไกของการใช้วิจารณญาณ หรือ Judgment ก่อนนั่นเอง…
ในทางเทคนิค… การใช้วิจารณญาณประกอบการตัดสินใจเล็กๆ ในแต่ละกิจกรรมระดับรายนาที ชั่วโมงหรือวันหนึ่งๆ ของคนเรานั้น เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมส่วนตัวและหลายอย่างถูกพัฒนาจนกลายเป็นนิสัยและบุคลิกภาพของคนๆ นั้นได้ด้วย… การรู้จักและเข้าใจวิจารณญาณของตัวเองให้ครบองค์ประกอบ และใช้องค์ประกอบอย่างเหมาะสมถูกต้อง… นอกจากจะสามารถพัฒนา Critical Thinking Skill ได้โดยตรงแล้ว วิจารณญาณยังสามารถสร้างตัวตนและบุคลิกภาพให้เห็นความรู้และสติปัญญาเด่นชัดขึ้นจนผู้อื่นสัมผัสได้
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… การใช้วิจารณญาณจะเริ่มต้นที่ “การหาคำตอบที่ยังไม่ชัดเจน” ให้ข้อสงสัย หรือ คำถาม หรือ ประเด็นปัญหาก่อนเสมอ… นั่นแปลว่า คำถามหรือประเด็นปัญหาที่กำลังต้องการคำตอบ ยังไม่มีคำตอบที่หาได้จาก “ความรู้หรือประสบการณ์เก่า” ได้อย่างตรงไปตรงมา และทางเดียวที่จะได้คำตอบโดยเร็วที่สุดจึงต้องหาจาก “ข้อมูลความรู้หรือประสบการณ์เก่าจากแหล่งอื่น” มาใช้เป็นคำตอบ… หรือไม่ก็ต้องประดิษฐ์คำตอบขึ้นจากกลไกเชิงนวัตกรรม อันเป็นเทคนิคและศาสตร์อีกแขนงหนึ่งในการแก้ปัญหาด้วย “ข้อสรุป” ที่ถูกทดสอบการนำใช้ครั้งแรก
สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ… อีกด้านหนึ่งของการใช้วิจารณญาณโดยขาดความรู้และประสบการณ์เก่า รวมทั้งขาดข้อมูลที่ถูกต้องจำเพาะต่อประเด็นคำตอบ จะเป็นข้อสรุปหรือแนวทางการตัดสินใจที่ได้มาโดยการสุ่ม… ซึ่งมีชื่อเรียกอีกคำหนึ่งว่า “เดา”
นั่นเอง!!!