เมื่อใครสักคนทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอต่อเนื่องยาวนาน เครียดตลอด อ่อนเพลียเสมอ อารมณ์ผิดเพี้ยนแต่ไม่รู้ตัว ร่างกายไม่ปกติ สุดท้ายอาจจะนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด… การทำงานหนักจนตายเกิดขึ้นมานานแล้วในญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นรู้จักกันดีในชื่อ 過労死 หรือ Karoshi หรือ Karoshi Syndrome
Karoshi หรือ Karoshi Syndrome เป็นคำที่ใช้อธิบายภาวะร่างกายอ่อนแอจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานานโดยขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ ถึงขั้นทำให้มีอาการปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ มือเท้าชาและเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก… ซึ่งถ้าฝืนต่อไปอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน หรือไม่ก็อาจจะมีอาการซึมเศร้าจากการทำงาน และ นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายก็ได้
ประเด็นก็คือ… การทำงานในยุคดิจิทัลทำให้หลายคนต้องทำงานตลอดเวลาในทุกที่ๆ มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต หลายคนประชุมทั้งออนไลน์และออนไซต์เกินสิบชั่วโมงต่อวันติดต่อกันทั้งเดือนก็มี… หลายคนถูกตามงานแม้ในขณะที่กำลังถ่ายทุกข์ กินข้าว ให้นมลูก และ อยู่ในบริบทที่งานไม่ควรจะตามมาจิกถึง แต่ก็ต้องโต้ตอบกับเพื่อนร่วมงานที่เร่ง และ รีบ และ เยอะแยะถาโถม
หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่างานหนักไม่เคยฆ่าใครกันมาบ้าง แต่หลายคนที่ถูกบีบเอาเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปรับผิดชอบงานจนต้องสละเวลา และ กิจกรรมส่วนตัวถึงขั้นจะหาเวลานอนก็ยังยากนั้น… งานหนักอาจฆ่าคนๆ นั้นได้ง่ายๆ แค่เผลอหลับใน หรือ หน้ามืดตอนกำลังเดินขึ้นบันไดเท่านั้นเอง…
สำหรับท่านที่เข้าข่ายรู้สึกว่าตัวเองทำงานหนักเกินไปจนลืมความสุข และ เสียงหัวเราะไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้!!! โดยทุกวันต้องใช้ชีวิตหมดไปกับการจัดการให้ธุระการงานที่ไหลผ่านความรับผิดจนไม่ได้หยุดหย่อน เหนื่อยล้าแต่ก็ต้องอดทน ทรุดโทรมแต่ก็ต้องเสียสละ กินได้น้อย–หลับได้ยาก ก็ยังคงทำงาน ทำงาน ทำงาน… ก็อย่าลืมทำพินัยกรรมเอาไว้ด้วยก็แล้วกัน เพราะมีโอกาส “ตายคางาน” สูงมากทีเดียว
Karoshi Syndrome ถูกบันทึกว่าพบครั้งแรกที่ญี่ปุ่นในปี 1969 เมื่อพนักงานชายวัย 29 ปี จากแผนกขนส่งของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นแห่งหนึ่งได้เสียเสียชีวิตลงเพราะเส้นเลือดในสมองแตกจากการทำงานเกินเวลา หรือ OT จนไม่ได้พักผ่อน
ข้อมูลจาก International Labour Organization หรือ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ได้ยก 4 กรณีตัวอย่างการทำงานจนเสียชีวิตจากภาวะ Karoshi Syndrome เอาไว้เป็นกรณีศึกษาดังนี้…
- Mr. A ใช้เวลาทำงานในบริษัทแปรรูปขนมขบเคี้ยวรายใหญ่ 110 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเมื่ออายุเพียง 34 ปี การเสียชีวิตของเขาได้ถูกยอมรับจากกระทรวงแรงงานว่ามีความเกี่ยวข้องกับงานที่เขาทำ
- Mr. B เป็นพนักงานรถโดยสารผู้ทำงาน 3,000 ชั่วโมงต่อปี และ ทำงานโดยไม่มีวันหยุดพักผ่อนติดต่อกันตลอด 15 วัน กระทั่งเสียชีวิตเพราะเส้นเลือดในสมองแตกตอนอายุ 37 ปี
- Mr. C ทำงานในโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ในนครโตเกียว 4,320 ชั่วโมงต่อปี และ ยังทำงานกะกลางคืนอย่างต่อเนื่องกระทั่งเสียชีวิตเพราะเส้นเลือดในสมองแตกตอนอายุ 58 ปี
- Ms. D เป็นพยาบาลผู้ทำงานต่อเนื่อง 34 ชั่วโมง 5 ครั้งต่อเดือน ก่อนจะเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวในวัย 22 ปี

ใครที่กำลังทำงานจนจะไม่ไหวแต่บอกไหว และ ใจยังสู้… ประเมินตัวเองให้เป็นธรรมหน่อยก็ดี!
References…