ทันทีที่ President Joe Biden หรือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผ่านพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ปี 2021 ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรอให้ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกาได้ลงนามเร่งด่วน เพื่อสะท้อนนโยบายและแนวทางการจัดการสหรัฐอเมริกาในทันทีหลายเรื่อง
ข้อมูลจากเวบข่าว BBC รายงานว่า… Joe Biden ได้ลงนามในมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งคร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วกว่า 4 แสนคน โดยจะยับยั้งกระบวนการถอนตัวของสหรัฐอเมริกาออกจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO และรวมศูนย์การบริหารงานระดับชาติ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างเป็นระบบ
นอกจากนั้น ยังมีการลงนามในคำสั่งให้ประสานงานแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันเชื้อกับชุดตรวจหาเชื้อให้ทั่วถึง เร่งฉีดวัคซีนแก่ประชากร 100 ล้านคน โดยให้ได้รับวัคซีนโดสแรกภายใน 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี… และยังจะมีการรณรงค์ “โครงการสวมหน้ากาก 100 วัน” เชิญชวนให้พลเมืองอเมริกันสวมหน้ากากอนามัยโดยถ้วนหน้า… รวมทั้งออกกฎให้ต้องสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคมในอาคารที่ทำการของรัฐทุกแห่ง
ส่วนมาตรการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ จะมีการผลักดันงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 1,900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และให้หน่วยงานของรัฐผ่อนผันขยายกำหนดเวลาใช้คำสั่งขับไล่ผู้เช่าหรือยึดทรัพย์หลุดจำนองออกไปอีก รวมทั้งพักชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา
ส่วนประเด็นต่อมาที่ประธานาธิบดี Joe Biden ทำทันทีหลังพิธีสาบานตนก็คือ… ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยได้ลงนามในเอกสารที่ส่งถึงสหประชาชาติในวันที่ 20 มกราคม เพื่อกลับเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสอีกครั้ง… รวมทั้งมีคำสั่งให้ทบทวนปรับเปลี่ยนมาตรฐานการปล่อยคาร์บอนของรัฐบาลชุดที่แล้ว และยกเลิกโครงการท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ประเด็นที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 เร่งลงนามส่วนใหญ่ล้วนเป็นประเด็นร้อนและเป็นที่รับรู้กันในระดับนานาชาติว่า อดีตประธานาธิบดี โดมัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งดำเนินนโยบายหลายอย่างที่ขัดต่อแนวทางความตกลงอันดีงาม ทั้งประเด็นทางระบาดวิทยาและประเด็นสิ่งแวดล้อม เหมือนไม่ใส่ใจและไม่เข้าใจความสำคัญของการเจ็บป่วยล้มตายจากโรคระบาด และชีวิตความเป็นอยู่ภายใต้ผลกระทบรุนแรงจากการทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ดูเพียงมิติรายได้ด้านเดียวอย่างมืดบอด
กรณีการกลับสู่การเป็นภาคีความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ในทันทีที่รับตำแหน่งดูจะไม่ใช่เรื่องแปลก… แต่มีคำถามมากมายเกี่ยวกับข้อมูลท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนระดับเดียวกับภาคีความตกลงปารีส ซึ่งแม้แต่คนอเมริกันบางส่วนก็ยังไม่รับรู้ว่ามีประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้อยู่
กรณีพิพาทเรื่อง Keystone XL Pipeline หรือ ท่อส่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่คีย์สโตน ซึ่งเป็นท่อส่งน้ำดิบจากการสกัดทรายน้ำมัน หรือ Tar Sand จากเขต Alberta ประเทศแคนาดา ไปยังโรงกลั่นในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งในหลายมลรัฐ โดยมีโรงกลั่นใน Wood River และ Patoka Illinois รัฐ Illinois เป็นปลายทางแรกในการลงทุนเฟสที่หนึ่ง… วางท่อจาก Steele City, Nebraska ถึง Cushing, Oklahoma เป็นแผนลงทุนในเฟสที่สอง… Cushing, Oklahoma ไป Liberty County, Texas เป็นแผนลงทุนเฟส 3a… Liberty County, Texas ไป Houston, Texas เป็นแผนลงทุนเฟส 3b และ Hardisty, Alberta ผ่าน Baker, Montana ไป Steele City, Nebraska เป็นเฟสสุดท้าย เป็นระยะทางรวมกว่า 3,456 กิโลเมตร
จะเรียกว่าเป็นแนวท่อส่งน้ำมันที่ชอนไชไปทั่วสหรัฐตั้งแต่เหนือจรดใต้ก็ว่าได้… โดยโครงการเฟสแรกได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่กลางปี 2008… ช่วงปลายของการดำรงค์ตำแหน่งสมัยที่สองของประธานาธิบดี George W. Bush Jr. ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีกองทุนจากอุตสาหกรรมน้ำมันหนุนหลังมาตั้งแต่ยุค George H. W. Bush บิดา… และประเด็นท่อน้ำมัน Keystone XL ก็กลายเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อในสังคมอเมริกันมานับแต่นั้น
กระทั่งปี 2015… จุดจบโครงการท่อส่งน้ำมันขนาดยักษ์ Keystone XL Pipeline ที่ถกเถียงกันมายาวนานร่วม 7 ปีก็ยุติลงโดยการตัดสินใจของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและความยินยอมของประธานาธิบดี Barack Obama
โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เหตุผลในการยกเลิกโครงการดังนี้
- โครงการ Keystone XL Pipeline ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกา
- โครงการ Keystone XL Pipeline ไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันในอเมริกาลดลง
- การหันกลับไปใช้แหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันสามารถที่จะแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้แล้ว
แต่เมื่อถึงเวลาของประธานาธิบดีคนที่ 45 ชื่อ Donald Trump ผ่านพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคม ปี 2017… ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็ลงนามให้โครงการ Keystone XL Pipeline เดินหน้าต่อทันทีในเดือนมีนาคมหลังเข้ารับตำแหน่งไม่ถึงหนึ่งร้อยวันด้วยซ้ำ
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… Tar Sand หรือ ทรายน้ำมัน จะเป็นทรายที่ประกอบไปด้วยไฮโดรคาร์บอนและอินทรีย์สารอื่นๆ รวมตัวกันอยู่ในลักษณะของน้ำมันหนัก หรือ Heavy Crude Oil แทรกอยู่ตามช่องว่าง และทำหน้าที่เชื่อมประสานเม็ดทรายเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบเจือปนของอนินทรีย์สารอื่น เช่น วานาเดียม เหล็ก ทองแดง… ส่วนของเหลวหรือน้ำมันหนัก จะประกอบด้วยน้ำมัน 50-60% ยางเหนียว หรือ Gum Content ประมาณ 60-75% และยางมะตอย หรือ Asphalts ประมาณ 15-25% ซึ่งจะทำให้น้ำมันมีสภาพกึ่งของแข็งกับเหลวเหนียวและมีสีดำ ไม่สามารถไหลเคลื่อนที่ไปมาได้ต้องนำไปปรับสภาพด้วยกรรมวิธีทางเคมี เพื่อทำให้กลายเป็นน้ำมันดิบคุณภาพดีที่เรียกว่า Synthetic Crude Oil และใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงเช่นเดียวกับน้ำมันปิโตรเลียม
แหล่งในเขต Alberta ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันจาก Tar Sand ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นพื้นที่ทรายน้ำมันกว่า 75,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีส่วนที่หนาที่สุดลึก 60 เมตร เปิดเหมืองและขุดลอกได้ 1,000,000 ตันต่อวัน สามารถสกัดเป็นน้ำมันดิบ Synthetic Crude Oil ได้ประมาณ 6,500 เมตริกตันต่อวัน
เวบไซต์ NationalGeographic.com ได้รายงานไว้ว่า… ภายในปี 2030 จะมีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมทั่วโลกมากถึง 100 ล้านตันต่อปี… และ 30 ล้านตันต่อปีจะมาจากเขต Alberta ประเทศแคนาดา ยังไม่นับรวมผืนป่าและแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนในพื้นที่เหมืองกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร… ก็ใหญ่เท่ากรุงเทพทุกเขตรวมกับจังหวัดปทุมธานีทุกอำเภอ… และผลกระทบทางภูมิศาสตร์กินบริเวณกว้างกว่า 137,000 ตารางกิโลเมตร… พื้นที่ภาคกลางประเทศไทยจากกรุงเทพถึงกำแพงเพชรมีพื้นที่ 91,798 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าน้อยกว่าพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทรายน้ำมันใน Alberta ประเทศแคนาดา
ถ้านับรวมการก่อสร้างแนวท่อตลอดเส้นทาง 3,456 กิโลเมตรในสหรัฐอเมริกาเข้าไปอีก… ไม่ว่าจะเอาส่วนไหนในร่างกายคิดก็คงตอบได้ว่าโครงการนี้ทำให้สิ่งแวดล้อมย่อยยับเกินบรรยายจริงๆ
การลงนามเร่งด่วนของประธานาธิบดี Joe Biden ผู้เคยยืนเคียงข้างประธานาธิบดี Barack Obama ช่วยกันคว่ำโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2015 จึงสำคัญและเร่งด่วนเทียบเท่าความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ทีเดียว
#FridaysForFuture ครับ!
References…
- https://www.facebook.com/SalForestCo/photos/จุดจบโครงการท่อส่งน้ำมันขนาดยักษ์-keystone-xl-pipelineหลังจากที่ถกเถียงกันมาร่วม/773382272807443/
- https://www.theguardian.com/environment/climate-consensus-97-per-cent/2015/nov/09/by-rejecting-keystone-president-obama-cements-his-climate-legacy
- https://www.bbc.com/thai/international-55735058
- https://en.wikipedia.org/wiki/Keystone_Pipeline
- https://www.voathai.com/a/nebraska-keystone-xl/4127851.html
- https://www.nationalgeographic.com/environment/2019/04/alberta-canadas-tar-sands-is-growing-but-indigenous-people-fight-back/