Kindergarten Class at Meadowlane

โรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กในวิกฤตโควิด #ReDucation

เด็กปฐมวัย หรือ ช่วงวัยของเด็กก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา เป็นช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการทุกด้าน เจริญขึ้นด้วยอัตราเร่งสูงสุดของชีวิต ทั้งร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ เด็กช่วงวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสำรวจ ชอบทดลองเรียนรู้ สิ่งต่างๆ รอบตัว… พัฒนาการของเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ จะขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อม เด็กต้องเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสมสะสมเป็นรากฐานชีวิต 

ดังนั้น… การพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพจึงต้องออกแบบปฏิสัมพันธ์ที่สร้างเสริมการเจริญเติบโตให้มีคุณภาพสูงสุดในทุกมิติ เพื่อให้สติปัญญาและอารมณ์ ได้สะสมเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม ที่ถูกออกแบบไว้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้… การพาเด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการ ตั้งแต่ระดับเนอสเซอรี่ หรือ Nursery จนถึงโรงเรียนอนุบาล หรือ Kindergarten จึงสำคัญถึงสำคัญที่สุดไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แต่เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่าในปี 2020 ที่รู้จักกันในชื่อ “วิกฤติโควิด-19” ซึ่งกระทบการใกล้ชิด ที่สัตว์สังคมอย่างมนุษย์ต้องคิดใหม่เรื่องปฏิสัมพันธ์และกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดกระทบกิจการและกิจกรรมที่รวบรวมคนมารวมกันทุกกรณี… โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องมาเจอกันในสถานที่ๆ มีชื่อขึ้นต้นว่า “โรง” ทั้งหลาย โดยเฉพาะโรงเรียน

ประเด็นก็คือ… สำหรับเด็กปฐมวัยหรือเด็กเล็กที่ต้องรับการส่งเสริมพัฒนาการ ซึ่งมีมิติมากกว่าที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะจัดหาให้ได้โดยลำพังนั้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องพึ่งพาศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลอย่างไม่มีทางเลือกอื่น ต่างจากเด็กวัยเรียนช่วงชั้นที่โตกว่า ที่ยังพอจะใช้กลไกการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีเข้ามาเสริมแทรก ในช่วงเวลาที่การระบาดยังเข้มข้นและอันตรายอยู่มาก

ในสหรัฐอเมริกา… มีรายงานจากการสำรวจโดย University of Oregon พบครอบครัวชาวอเมริกันถึง 17 ต่อ 1,000 ครอบครัว เลือกชะลอการนำบุตรหลานช่วงชั้นปฐมวัยเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล… ในขณะที่ตัวเลขการลงทะเบียนเข้าเรียนในชั้นอนุบาลจาก Los Angeles Unified School District หรือ ศึกษาธิการเขตลอสแองเจลิส ก็มีตัวเลขลดลงมากถึง 6,000 คน หรือ 14%… Oakland Unified School District ลดลง 9% และ Long Beach Unified School District ลดลง 10%

ความกังวลว่าเด็กๆ ปฐมวัยจะสูญเสียโอกาสทางการศึกษาจากวิกฤตโควิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเริ่มเรียนรู้และพัฒนาทักษะการอ่านและทักษะคณิตศาสตร์ รวมทั้งทักษะสังคมและอารมณ์ของเด็กๆ เมื่อเติบโตขึ้น… จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

Professor Dr.Philip H. Knight Chair นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยจาก University of Oregon ให้ความเห็นว่า… เด็กปฐมวัยที่สูญเสียโอกาสทางการศึกษาจากวิกฤตโควิด จะต้องการความช่วยเหลืออย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าจะมีเด็กจากครอบครัวที่สามารถสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้มาอย่างดีก็ตาม

ประเด็นก็คือ… กลไกการศึกษาระดับปฐมวัยยังคงเดินหน้าตามปฏิทินต่อไป จากปัญหาซ้ำซ้อนหลายอย่างในกลไกการศึกษาอันเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งระบบการศึกษามีส่วนช่วยรองรับโครงสร้างทางสังคม จากการรับเด็กๆ มาดูแลในระหว่างวันและให้การศึกษา เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ได้ใช้เวลากับการประกอบอาชีพในระหว่างวันอย่างเต็มที่… ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลจึงเป็นกลไกสำคัญที่เกื้อกูลต่อชุมชนอย่างลึกซึ้ง และ หยุดรอใครบางคนพร้อมจนสบายใจจะส่งลูกหลานมาเข้าเรียนพร้อมกันย่อมไม่ได้

สภาพของเด็กๆ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ทั้งกลุ่มที่ผู้ปกครองให้ชะลอการเข้าเรียน และ กลุ่มที่ต้องไปโรงเรียนพร้อมความเสี่ยงและการปฏิบัติตัวที่ต่างไปจากสภาพปกติเดิม หรือ Normal ไปเป็นปกติใหม่ หรือ New Normal จึงต้องการ “นโยบายในการดูแลเสริมสร้าง และ ส่งเสริมอย่างยืดยุ่น และ เป็นกรณีพิเศษ” รวมทั้งการเฝ้าติดตามพัฒนาการทุกด้านอย่างเป็ระบบและต่อเนื่อง… ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ ช่วงปฐมวัยในวิกฤตโควิด นอกจากจะคิดใหม่เรื่องเกณฑ์และกลไกทางการศึกษาที่ยืดยุ่น เปิดกว้างและช่วยเหลือถึงที่สุดสำหรับพวกเขาแล้ว ควรริเริ่มงานวิจัยระยะยาว เพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูล และ เฝ้าสังเกต หรือ Monitoring กันให้ถี่ถ้วนและทั่วถึงคู่ไปด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากครับ!

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts