ปัญหาพื้นที่ป่าไม้ลดลงทั่วโลก ถือเป็นวาระเร่งด่วนมานาน และมีประเด็นให้พูดถึงป่าและผลกระทบสารพัดความเห็นและข้อมูล ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องพื้นที่ป่าลดลงอย่างต่อเนื่องจากปรากฏการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ภัยแล้งคุกคามผืนป่าให้ขาดน้ำ จนพรรณไม้และห่วงโซ่ชีวิตป่าถูกทำลายลง… ปัญหาไฟป่าทั้งที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ และอุบัติการณ์จากมนุษย์ไร้สำนึกเพียงไม่กี่คน… ล้วนกดดันต่อความยั่งยืนและขนาดของผืนป่าที่เหลือไม่มากทั่วโลก ให้ลดน้อยลงกว่าเดิมและไม่อยู่ในภาวะจะรักษาสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใดๆ ได้
แต่ข่าวการประกาศความสำเร็จเบื้องต้นในการเพาะเลี้ยงวัสดุคล้ายเนื้อไม้จาก MIT ก็สร้างความหวังหลายอย่างเกี่ยวกับของใช้เครื่องเรือนหรือแม้แต่วัสดุก่อสร้างที่เคยต้องพึ่งพาเนื้อไม้จากธรรมชาติ รวมทั้งการสังเคราะห์ไม้เทียมจากวัสดุและแร่ธาตุอื่นๆ ที่เสาะหาขุดค้นเอาจากธรรมชาติมาประดิษฐ์ใช้สอย… ซึ่งนับวันจะหมดสิ้นร่อยหรอไปจากผืนโลก
มกราคม ปี 2021… Ashley Beckwith นักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตจาก Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ได้รายงานความคืบหน้าการวิจัยค้นคว้าและพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อวัสดุเหมือนไม้ในห้องแล็บ โดยใช้เซลล์เนื้อเยื่อจากใบต้นบานชื่น หรือ Zinnia Leaves
ซึ่งการพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อวัสดุเหมือนไม้ในห้องแล็บ หรือ Lab-grown Wood ถือเป็นความหวังในการพัฒนาวัสดุก่อสร้าง เครื่องเรือนและเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการเนื้อไม้ไม่จำกัดมานานหลายศตวรรษ
Luis Fernando Velásquez-García หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยและเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำ Microsystems Technology Laboratories ที่ MIT กล่าวยืนยันว่า… นี่เป็นครั้งแรกที่กระบวนการได้มาซึ่งวัสดุไม่ได้แตะต้องธรรมชาติเลย ซึ่งเป็นมาหลายทศวรรษด้วยวิธีการแปรรูปที่ไร้ประสิทธิภาพ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสแรกที่จะข้ามขั้นตอนอันไร้ประสิทธิภาพที่ตกทอดมานั้นทั้งหมด
ข้อมูลทั่วไปที่นักวิจัยเปิดเผยกระบวนการเพาะเนื้อไม้ในห้องแล็บมีว่า… พวกเขาสกัดเอา “เซลล์เป็น หรือ Live Cells” จากใบของต้นดอกบานชื่น และเพาะเซลล์ในของเหลวซึ่งเซลล์เป็นเหล่านี้จะนำไปสังเคราะห์และเติบโตได้เอง โดยไม่ต้องมีดินและแสงแดด… การเติบโตของ “เซลล์เป็น” ในกระบวนการนี้จะพัฒนาโครงสร้างที่แข็งเหมือนไม้ขึ้น โดยมีฮอร์โมนพืชอย่าง Auxin และ Cytokinin เป็นส่วนประกอบสำคัญในของเหลวเลี้ยงเชื้อ
การควบคุมส่วนผสมฮอร์โมนพืชในของเหลวเลี้ยงเชื้อ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถควบคุมการผลิต “ลิกนิน หรือ Lignin” ของเซลล์ซึ่งเป็น “โพลีเมอร์อินทรีย์ หรือ Organic Polymer” ที่ให้ความแม่นยำในกระบวนการผลิตเนื้อไม้ได้ตามต้องการ
Ashley Beckwith ระบุเพิ่มเติมว่า… เมื่อใช้ Fluorescence Microscope ตรวจดูกระบวนการสังเคราะห์ Lignin จะเห็นการยืดหดของเซลล์และการกลายเป็น Lignified Tissues ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อแข็งเหมือนเนื้อไม้ที่ไม่มีส่วนประกอบของลิกนินอยู่แล้วอย่างชัดเจน
การประยุกต์งานวิจัยนี้สู่นวัตกรรมถูกอธิบายโดย Luis Fernando Velásquez-García ซึ่งยืนยันว่า… สามารถนำ Live Cells ไปพล๊อตด้วย 3D Printer ให้มีรูปร่างชิ้นงานตามต้องการก่อนเริ่มกระบวนการเพาะเลี้ยงได้เลย… นั่นแปลว่า วัสดุเหมือนไม้ที่ผลิตด้วยเทคนิคนี้ สามารถขึ้นรูปเป็นเครื่องเรือนและเฟอร์นิเจอร์ หรือวัสดุก่อสร้างได้เลยโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการแปรรูปวัสดุใดๆ อีก… ซึ่งมุมมองส่วนตัวของผมคิดว่า การขึ้นรูปด้วย 3D Printer และไม่ต้องแปรรูปใดๆ อีกนี้เองที่จะทำให้การตัดต้นไม้มาแปรรูปกลายเป็นต้นทุนที่ไม่ฉลาดเท่าไหร่ในอนาคต
Professor Dr.David Stern จาก Cornell University ในฐานะ Plant Biologist ระดับผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า… แนวทางการพัฒนาวัสดุเพาะเลี้ยงเนื้อไม้นี้เป็นไปได้ในทางเทคนิค แต่การแข่งขันทางการค้าและความสามารถในการขยาย หรือ Scale ให้แข่งขันทดแทนไม้จากป่าบนดิน… ยังเหลือคำถามและการบ้านอีกยาวไกล
โดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่า… เทคนิคการเพาะเลี้ยงวัสดุทดแทนในแล็บ มีอนาคตอย่างยิ่งในวันที่มนุษย์ส่วนหนึ่งกำลังสร้างอาณาจักรในวงโคจรโลก และดาวอื่นๆ ที่เผ่าพันธ์มนุษย์จากดาวโลก กำลังวิวัฒน์เป็นเผ่าพันธ์ผู้ครอบครองหลายดวงดาว หรือ Multi-planetary Species ไปแล้ว… ส่วนความหวังที่จะเอามาทดแทนเนื้อไม้จากป่าปลูกและป่าไม่เคยได้ปลูก ซึ่งมอดไม้ทั่วโลกยังคงโค่นต้นไม้ไปขายใครบางคนที่ยังต้องการอีกมากอยู่นั้น… ผมเชื่อว่ายังมีประเด็นท้าทายมนุษย์ไปอีกหลายชั่วอายุคนว่า… โลกในยุคต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไร?
แต่อย่างน้อย… คนเสพติดความหวังอย่างผมก็เชื่อว่า เด็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ออกมาแสดงจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมภายใต้แคมเปญ Fridays For Future ก็ยังจะเติบโตอยู่ต่อและส่งต่อทัศนคติ “โลกต้องดีกว่าเดิม” ไปอีกนาน…
#FridaysForFuture ครับ!
References…